ไพบูลย์ นิติตะวัน ตัวพ่อแห่งการพลิกเกมรัฐสภา ซามูไรกฎหมาย

เกมแก้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ด้วยการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1 ถูกสมาชิกรัฐสภาโหวตคว่ำในวาระที่ 3 ด้วยการพลิกเกมของ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” ส.ส. พลังประชารัฐ

สมาชิกรัฐสภา ทั้งวุฒิสมาชิก (ส.ว.) สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ 737 คน (ส.ส. ที่ 487 คน และ ส.ว. 250 คน) ลงมติฉีกร่างตั้งต้นการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับที่แก้ยากที่สุดในประวัติศาสตร์

มีผู้ทรงเกียรติให้ความเห็นชอบในการแก้ไขเพียง 208 ต่อ 4 เสียง งดออกเสียง 94 และไม่ประสงค์ลงคะแนน 136 คะแนน

เกมพลิกกลางดึก ที่อาจจะซ้ำรอยกฎหมายสุดซอย ที่เป็นต้นทางแห่งการเกิดวิกฤตการเมือง ในเวลาต่อมา

เมื่อ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ เพลย์เมกเกอร์คนสำคัญในรัฐสภา ลุกขึ้นชูวาระด่วน พร้อมเสนอญัตติเลื่อนวาระการประชุมให้เลื่อนการโหวตแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญวาระ 3 ขึ้นมาพิจารณา 3 แทนญัตติฝ่ายค้าน และ พรรคร่วมรัฐบาล อันประกอบด้วย

  1. ญัตตินายสมชาย แสวงการ ส.ว. และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. ให้ที่ประชุมมีมติว่าไม่ให้มีการพิจารณาลงมติร่างรัฐธรรมนูญวาระที่ 3 เพราะขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564
  2. ขอให้รัฐสภามีมติขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยหน้าที่และอำนาจ ตามรัฐธรรมนูญ 210(2) เป็นญัตติที่เสนอโดยนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาล อาทิ พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติไทยพัฒนา ให้ความเห็นสนับสนุนว่าควรชะลอการลงมติวาระ 3 แล้วไปหาข้อกฎหมายให้ชัดเจน
  3. ญัตติที่ให้เดินหน้าโหวตวาระที่ 3 โดยนายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล สอดคล้องกับญัตติที่เสนอโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย โดยให้รัฐสภาทำหน้าที่รัฐสภาลงมติวาระ 3 ต่อไป

การพลิกเกม ล้มญัตติทั้งปวงของ “ไพบูลย์” ด้วยการเสนอญัตติให้เลื่อนญัตติด่วน ให้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่…) พ.ศ….

เป็นผลให้รัฐสภาเขาสู่การโหวตวาระ 3 ทันที แล้วร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญก็แท้งลงโดยปริยาย เพราะ ส.ว.พร้อมใจไม่ลงมติ ด้วยการขานชื่อ “ไม่ประสงค์ลงคะแนน”

เพราะเกรงว่าผลพวงการลงคะแนนโหวตวาระ 3 จะฝ่าฝืนคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564

ลามถึง ส.ส.เพื่อไทย ส.ส.พลังประชารัฐ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่เสียงแตก คุมเชิงอยู่ในห้องประชุม แต่ไม่ลงคะแนน

ย้อนไปก่อนหน้านี้วีรกรรมของ “ไพบูลย์” ร่วมกับเพื่อน “สมชาย แสวงการ” ขอให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ซึ่งคำวินิจฉัยกลางออกมาภายหลัง ระบุว่า “การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วยวิธีการร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้มีหมวด 15 / 1 (ของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว) ย่อมมีผลเป็นการยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2560 อันเป็นการแก้ไขหลักการสำคัญที่ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญดั้งเดิมต้องการปกป้องคุ้มครองไว้”

ผูกพันทุกองค์กร ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 211 “คําวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ”

“ไพบูลย์” ตอบคำถามว่า ทำไมต้องเป็นคน “เปิดเกม” ล้มญัตติครั้งประวัติศาสตร์ ล่าสุด ว่า

“รัฐสภาไปต่อไม่ได้ ดูแล้ว 3 ญัตติที่เสนอให้โหวตติดขัด และจะยืดเยื้อ ญัตติที่ 1.ของนายสมชายและนายเสรี ขัดรัฐธรรมนูญและข้อบังคับ ไม่มีข้อบังคับไม่ให้รัฐสภาพิจารณาในวาระ 3  2.ญัตติของพรรคประชาธิปัตย์ ที่ขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความ โดยเสนอญัตติปากเปล่าไม่ได้ทำเป็นหนังสือขัดข้อบังคับการประชุม แต่ประธานรัฐสภารับญัตติไว้ ซึ่งมีปัญหาถกเถียงยืดเยื้อ 3.เป็นญัตติฝ่ายค้านที่ให้โหวตวาะ 3 ซึ่งไม่มีข้อบังคับให้โหวตวาระ 3”

“เราจึงเสนอตามข้อบังคับข้อ 32 ให้เลื่อนโหวตวาระการพิจารณาวาระเร่งด่วน ไม่มีใครแย้งได้ ต้องโหวตทันที เป็นไปตามขั้นตอน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของรัฐสภา เห็นอยู่แล้วหารือกันมา 9 ชั่วโมงไม่ได้อะไร ส่วนตัวอยากให้ถอนญัตติ เมื่อถอนญัตติไม่ได้ ก็ต้องโหวตให้มันจบ เท่านั้นเอง”

เป็นอีก 1 ครั้งที่ “ไพบูลย์” เดินเกมสำเร็จ ภายหลังส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาเรื่องการโหวตวาระ 3 เปิดช่องให้ ส.ว. พรรคการเมืองฝ่ายค้าน – ฝ่ายรัฐบาล ใช้ช่องดังกล่าวเป็นบันได “ชิ่ง” การโหวต เพราะกลัวถูกเช็กบิล ข้อหาขัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ

ณ วันนี้ “ไพบูลย์” เปรียบตัวเองว่าเป็น “ซามูไรกฎหมาย” และเป็น “อาวุธลับ” ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผู้จัดการรัฐบาล และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ผลงานชิ้นโบว์แดงของเขาตลอดเส้นทางการเมือง ครั้งเป็น ส.ว.ปี 2550 จนถึงปัจจุบัน  มีตั้งแต่สร้างแผ่นดินไหวขนาดย่อม ๆ ไปจนถึงขั้นเปลี่ยนเกมการเมืองจากหน้ามือเป็นหลังมือ

“ไพบูลย์” เคยเป็น “แจ็ค” ผู้ฆ่า “ยักษ์ยิ่งลักษณ์” จากปมโยกย้าย ถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการสภาความมั่นคง (สมช.) โดยมิชอบ ช่วงที่รัฐบาลเพื่อไทยกำลังจนมุมจากข้อหาออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมสุดซอย

“พบประเด็นคุณถวิล เมื่อศาลปกครองสูงสุดตัดสินว่า แต่งตั้งโยกย้ายโดยมิชอบตามกฎหมาย จึงเห็นประเด็นดังกล่าวน่าจะเข้าข่ายการกระทำผิดในรัฐธรรมนูญเรื่องการขัดกันแห่งผลประโยชน์ จึงยกร่างคำฟ้องขึ้นอีก 2 วันถัดมา” ไพบูลย์ กล่าว

และคดีโยกย้ายถวิลก็เป็น “จุดตาย” รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญพิพากษาให้ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” พ้นจากความเป็นรัฐมนตรีทั้งหมด ส่งผลให้รัฐมนตรีที่ให้ความเห็นชอบการโยกย้ายถวิล 10 คน ต้องพ้นตำแหน่ง

“ไพบูลย์” เป็นคนแรกที่เสนอชื่อ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เป็นนายกรัฐมนตรี  ทั้ง  2 รอบ ครั้งแรกตอนที่เกิดสุญญากาศในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยคดีถวิล เปลี่ยนศรี

โดยขณะนั้นเขาเป็น ส.ว.สรรหา ซึ่งต้องการให้ ส.ว. มีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกที่ไม่ได้เป็น ส.ส. โดยอาศัยประเพณีการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 7 โดยระบุเหตุผลว่า

“บุคคลที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง มีความเหมาะสมควบคุมสถานการณ์ได้ มี พล.อ.ประยุทธ์ คนเดียว”

หลังรัฐประหาร เขาอยู่ในแม่น้ำ 5 สาย เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุด “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ”  เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ “ไพบูลย์” ก็ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรี กลางสภาอีกครั้ง

เมื่่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้ง 2562  “ไพบูลย์” เป็นคนล้มแผนแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อยของ “ทักษิณ ชินวัตร” ยื่นยุบพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) จนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวทางการเมือง

เขายื่นเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) วินิจฉัย ภายหลังที่ ทษช. เปิดตัวแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ได้ไม่ถึง 2 ชั่วโมง

ที่สุดแล้ว กกต.ได้ส่งเรื่อง “ยุบ ทษช.” ให้ศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็เห็นสอดคล้องกับ กกต.ปิดฉากเกมแตกแบงก์พันเป็นแบงก์ร้อย ส่งผลให้ “เพื่อไทย” ได้ ส.ส.เขตมากที่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นรัฐบาล

“ไพบูลย์” ขอยกเลิกกิจการพรรคประชาชนปฏิรูป ที่ตัวเองสร้างมาช่วงเลือกตั้ง ย้ายมาอยู่พรรคพลังประชารัฐ โดยใช้ช่องว่างระบบปาร์ตี้ลิสต์ จัดสรรปันส่วนผสม มาเป็น ส.ส.บัญชีรายชื่อพลังประชารัฐ “โดยไม่มีลำดับ” แบบที่รัฐสภาต้องอนุมัติการย้ายพรรค ไม่มีช่องให้ปฏิเสธ

“ไพบูลย์” ได้เลื่อนขั้นยศการเมือง เป็นรองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ฝ่ายกฎหมาย

1 มิถุนายน 2563 เขาคือ ตัวเปิดเกม-เปิดชื่อใบลาออก 18 กรรมการบริหาร (กก.บห.) พรรคพลังประชารัฐ นำไปสู่การรื้อ-ล้างแผงอำนาจนำภายในพรรค ที่มี 4 กุมาร ที่มีสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เป็นหัวจักร

ในเกมแก้รัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” เคยเป็น “แคนดิเดต” เป็นประธานคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์แนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 สภาผู้แทนราษฎร แต่รัศมีแรงไม่เท่า “พีระพันธ์ สาลีรัฐวิภาค” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ซึ่งถูกส่งตรงจากทำเนียบรัฐบาล มานั่งเป็นประธาน ส่วน “ไพบูลย์” ได้เป็นรองประธาน

“ไพบูลย์” เป็นผู้เสนอญัตติแทรก โดยอาศัยข้อบังคับการประชุมสภา ข้อที่ 121 วรรคสาม ให้ตั้งคณะกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาก่อนรับหลักการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตามข้อเสนอของ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ประธานวิปรัฐบาล เมื่อ 23-24 กันยายน 2563

บรรทัดสุดท้ายของเกมรัฐธรรมนูญ “ไพบูลย์” ยังคงเป็นผู้ขอให้รัฐสภายื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจของรัฐสภามีหน้าที่และอำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับได้หรือไม่

ในโค้งอันตรายของเกมการเมืองในรัฐสภา “ไพบูลย์” ก็ยังคงโดดเด่น เป็นผู้เสนอญัตติให้เลื่อนญัตติด่วนให้เข้าสู่วาระการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพิ่มเติมแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่…) พ.ศ…. ขึ้นมาโหวตวาระ 3 ผ่าเกมชนิดเหนือความคาดหมายของสมาชิกรัฐสภา

ชั่วพริบตา “ไพบูลย์” ทำให้ร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับประวัติศาสตร์ มีอันเป็นไป ด้วยฝีมือระดับที่แกนนำรัฐบาลเรียกว่า “ซามูไรไพบูลย์”

“ไพบูลย์” ปิดฉากละครแก้รัฐธรรมนูญ Chapter แรก ลงอย่างอึกทึกครึกโครม