รังสิมันต์ โรม รัฐประหาร 57 ในความทรงจำ ยุบก้าวไกล ที่ยืนผู้มีอำนาจจะไม่มีเหลือ

รังสิมันต์ โรม
รังสิมันต์ โรม
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

22 พฤษภาคม 2565 ครบรอบ 8 ปีการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาจถูกกลบด้วยการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

แต่ “รังสิมันต์ โรม” ยังจำภาพวันที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในวันนั้น “ทุบโต๊ะ” ยึดอำนาจจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ไม่ลืม

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “รังสิมันต์ โรม” ในวาระครบรอบ 8 ปีรัฐประหาร ที่เป็นจุดกำเนิดของเขาบนเส้นทางการเมือง

อีกมุมหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า การรัฐประหารในครั้งนั้นก็เป็นจุดกำเนิดของพรรคการเมืองที่เขาสังกัด คือ “พรรคก้าวไกล” ที่ต้องการมาปฏิวัติการเมืองไทยทั้งโครงสร้าง

เขาเล่าย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อ 8 ปีที่แล้ว ยังเป็นเพียงนักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฝึกงานที่สำนักกฎหมายวุฒิสภา

เมื่อรู้ข่าวเรื่องการยึดอำนาจ เขาเดินทางกลับมายังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นคณาจารย์พยายามแสดงออกเรื่องการไม่เอารัฐประหาร และวันนั้นได้เปลี่ยนชีวิตของเขาไปตลอดกาล

ตัดตอนรัฐประหาร

ตอนนั้นผมอายุ 21 ปี กำลังจะ 22 ปี กำลังฝึกงานที่สำนักกฎหมายของวุฒิสภา ณ เวลาที่มีการรัฐประหาร จำได้ว่ากำลังนั่งแท็กซี่ มีกลุ่มเครือข่ายคณาจารย์พยายามแสดงออกว่าไม่เห็นด้วยกับการรัฐประหาร ยังจำได้ว่านั่งแท็กซี่กลับมาร่วมกิจกรรมที่ธรรมศาสตร์

เราต้องต่อต้านการรัฐประหาร ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นวัฒนธรรม และจะเกิดขึ้นตลอดเวลา มีความเชื่อว่าจะนำไปสู่การรัฐประหารครั้งสุดท้ายได้ต้องทำให้รัฐประหารนั้นล้มเหลว ถ้าสามารถทำให้คนที่ทำรัฐประหารต้องชดใช้ในสิ่งที่เขาทำ มันจะเป็นตัวอย่างที่ทำให้บรรดานายทหาร คนที่รัฐประหารในยุคหลัง ๆ ไม่กล้าทำ เพราะเขาจะได้เรียนรู้

ดังนั้น ตราบใดที่รัฐประหารนำไปสู่ความสำเร็จ และนำไปสู่ความมั่งคั่งได้ เราจะไม่มีวันออกจากระบอบรัฐประหารได้

จึงได้คุยกับเพื่อน ๆ หลายคนที่ไม่เคยผ่านการเมืองในขณะนั้น มาตัดสินใจชุมนุมต้านการรัฐประหาร แต่ไม่นึกว่าการชุมนุมต้านการรัฐประหารผ่านไปเรื่อย ๆ ที่มีนักศึกษาไปชุมนุม มีชาวบ้านมาร่วมกับเรา มีผู้เล่นการเมือง เช่น คุณจาตุรนต์ ฉายแสง กับหนูหริ่ง สมบัติ บุญงามอนงค์ เป็นตัวขับเคลื่อนการเมืองระดับใหญ่โดยตลอด

แต่พอคนเหล่านี้ถูกจับ กลายเป็นเหลือแต่เรา จากเดิมที่อาจจะอยู่แถวสอง แถวสามในทางการเมือง กลายเป็นแนวหน้าเฉยเลย ทำให้เราเป็นผู้เล่นทางการเมือง ทำให้คนรู้จักเราโดยไม่ตั้งใจ แต่ไม่ใช่ว่าผมมีความคิดเป็นนักการเมืองแบบนี้ตั้งแต่แรก แต่ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ให้ดีที่สุด เรียนจบปี 4 เลิกเป็น activist แล้วจะไปเป็นทนายความ ช่วยเหลือน้อง ๆ

ตัดสินใจเป็นนักการเมืองในห้องขัง

วันที่เราเป็น activist ปีแรก ๆ เราเข้าใจนะว่าคนที่เป็นผู้เล่นการเมืองต่าง ๆ ถูกจับไปหมดแล้ว และระบอบ คสช.เริ่มนิ่ง หลาย ๆ คนออกมาได้ แต่เรากลับพบว่าคนที่เป็นผู้เล่นทางการเมืองกลับไม่ขยับมากพอเมื่อเทียบกับภาคประชาชนเอาตัวเองไปเสี่ยง

วันหนึ่งเราก็คิดว่า ไหน ๆ เราทำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง และถ้ามีเลือกตั้งแล้ว  นักการเมืองต่าง ๆ ก็จะกลับมาเป็น ส.ส. ดังนั้น เรามาเรียกร้องให้คนกลุ่มนี้ น่าจะมีฐานทางการเมือง พูดแล้วช่วยให้ประชาชนมาร่วมชุมนุมกับเราได้

ปรากฏว่าเราชุมนุมวันนั้นจริง ๆ ครบรอบ 4 ปีรัฐประหาร ไม่มีใครมาเลย และเรารู้สึกว่าทำไมโดดเดี่ยวขนาดนี้ ทำไมยังเหลือแค่ผม และแกนนำกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง กับประชาชนอีกไม่กี่ร้อยคน ทั้งที่ภารกิจข้อเรียกร้องของเราถ้าสำเร็จ ประชาชนได้ประโยชน์ แต่คนที่ได้ประโยชน์แน่ ๆ คือนักการเมือง

หลังจากเกิดเหตุการณ์นี้ เราถูกจับ เวลาถูกจับอยู่ในคุก เวลาคิดเยอะ นั่งทบทวนตัวเอง แล้วทำไมเจอแบบนี้ เราเสียใจ และนั่งคิดว่า หรือว่าถ้ามีเลือกตั้งจริง ประเทศจะไม่เปลี่ยนหรือเปล่า สุดท้ายก็แค่กลับไปเป็นหนังม้วนเดิมซ้ำไปซ้ำมา เพราะที่สุดคนที่เข้าการเมืองคือคนกลุ่มเดิม

คิดได้ดังนั้น คิดถึงพรรคอนาคตใหม่ เพราะอาจารย์ปิยบุตร (แสงกนกกุล) เป็นอาจารย์ผม ขณะนั้นเขาเริ่มตั้งพรรคแล้ว และตอนนั้นก็ไม่มีใครคิดว่าได้ 80 พี่นั่ง แต่เราคิดว่าพรรคอนาคตใหม่อาจเป็นคำตอบทางการเมืองระยะยาว เหตุผลเพราะ ผมรู้จักอาจารย์ปิยบุตร และเชื่ออุดมการณ์ของอาจารย์ ขณะนั้นยังไม่รู้จักคุณธนาธร (จึงรุ่งเรืองกิจ) เท่าไหร่ รู้จักแค่ว่าเป็นมหาเศรษฐีที่ร่วมชุมนุมคนเสื้อแดง และให้ความสำคัญกับการเมืองบนท้องถนนมาก

และเราก็เห็นเพื่อน ๆ กิจกรรมทางการเมืองไปเข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ก็คิดว่าหรือพรรคอนาคตใหม่จะเป็นคำตอบจริง ๆ อย่างน้อยก็ไม่มีบาดแผล ไม่เคยคอร์รัปชั่น ไม่เคยบริหารผิดพลาดเพราะไม่เคยบริหาร

แต่พูดถึงอุดมการณ์ทางการเมือง พยายามพูดถึงเศรษฐกิจให้การเมืองคู่กัน จึงไปกับพรรคอนาคตใหม่ดีกว่า ประกอบกับอาจารย์ปิยบุตรก็ชวน จึงเข้าดู

“ถ้าวันนั้นไม่มีภาพแบบที่ผมโดนกระชากลากถู ผมอาจไม่เป็น ส.ส. เต็มที่มากที่สุดผมเป็นทนายความ ไปขึ้นศาล ช่วยเหลือคนที่กำลังต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง คงไม่ก้าวขึ้นมาเป็น ส.ส.แบบนี้”

“และไม่เคยนับว่าตัวเองโดนคดีมาแล้วกี่คดี ผมเลิกนับไปแล้วเพราะมันเยอะมาก น่าจะ 10 กว่าคดี ตอนเป็น activist น่าจะสูงสุดอยู่ที่ 9 คดี ตอนเป็น ส.ส. 3 คดี รวมแล้วน่าจะ 12 คดี”

อนาคตใหม่ เปลี่ยนการเมืองไทย

ผมว่า…การมีพรรคอนาคตใหม่ ถึงพรรคก้าวไกล เปลี่ยนการเมืองอย่างสิ้นเชิง แค่ในสภาการอภิปรายต่าง ๆ เปลี่ยนไปเยอะ อนาคตใหม่เริ่มต้นจากการโฟกัสคนรุ่นใหม่ เชื่อว่าคนกลุ่มนี้ เป็นกลุ่มที่มีพลัง แต่เป็นคนที่ถูกละเลยมาตลอด เราพยายามโฟกัสคนกลุ่มนี้ พยายามดึงคนเหล่านี้เข้ามาสู่ในพรรคให้มากขึ้น

หลังจากคนรุ่นใหม่เข้ามาในพรรคมากขึ้น พยายามปูฐานไปสู่คนรุ่นต่าง ๆ ด้วย ซึ่งเป็นข้อต่อสำคัญที่ทำให้เราสามารถคุยได้กับคนทุกรุ่น ซึ่งคนรุ่นใหม่ new voter ตั้งแต่ 18-35 ปี เริ่มเป็นกำลังหลักที่หารายได้เข้าครอบครัว ทำให้เราสามารถสื่อสารผ่านคนเหล่านี้ไปยังคนกลุ่มอื่น ๆ ในครอบครัวได้

ต้องยอมรับว่าคนรุ่นนี้กลายเป็นคนที่สนใจการเมืองอย่างมาก  เริ่มเห็นการชุมนุมทางการเมืองที่มีคนอายุน้อย ๆ เข้าร่วม ก่อนหน้านี้คนรุ่นเดียวกันวันนั้นแทบไม่สนใจการเมือง แต่พอเจอกันอีกทีเขาก็สนใจการเมือง นี่คือการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เชื่อว่าส่วนหนึ่งมาจากความพยายามที่เราสื่อสารกับพวกเขา เพราะเราเชื่อว่าพวกเขามีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงประเทศนี้ได้

“การเมืองวันนี้เปลี่ยนไปแล้ว การเมืองภาคประชาชนเปลี่ยนไปแล้ว คนรุ่นใหม่เปลี่ยนแปลงทางการเมืองไปแล้ว แม้การเปลี่ยนแปลงมีหลายระดับ หลาย​ level แต่วันนี้ความคิดของประชาชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง แต่มีอย่างเดียวที่ยังไม่เปลี่ยน คือ โครงสร้างทางการเมือง”

อนาคตใหม่ถูกยุบ…แต่คุ้ม

พอบอกว่าถูกหรือผิด มันขึ้นอยู่กับการวัดอะไร ถ้าเราบอกว่า เราเปลี่ยนความคิดของคนได้ ทำให้คนตาสว่างมากขึ้น ทำให้คนเห็นปัญหาของประเทศนี้ และทำให้คนอยากจะเลือกหนทางที่ควรจะเป็นของประเทศนี้จริง ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราถือว่าคุ้ม

แน่นอนเราโดนยุบพรรค มีนักการเมืองคนสำคัญที่ถูกตัดสิทธิทางการเมืองหลายคน เราไม่อยากให้เกิดแบบนั้น แต่ถ้าย้อนเวลากลับไปเราจะทำเหมือนเดิมไหม…เราก็ทำเหมือนเดิม

เพราะถึงที่สุด benefit ที่เกิดขึ้น ปลุกพลังที่ก่อนหน้านี้เขาหลับใหลให้ตื่นขึ้นมา ผมว่ามันคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม แน่นอน เราอาจโดนยุบพรรคอีก ถูกดำเนินคดีก็ได้ แต่ทุกครั้งที่เขาทำแบบนั้น ในสภาวะที่สังคมไทยตื่นตัวทางการเมืองแบบนี้

“อย่าคิดว่าราคาที่ต้องจ่ายมีแค่เรานะ ราคาที่ต้องจ่ายอาจเป็นผู้มีอำนาจก็ได้ และยิ่งทำแบบนี้บ่อยเท่าไหร่ ราคาผู้ที่มีอำนาจต้องจ่ายก็จะแพงขึ้นเท่านั้น และเมื่อถึงวันหนึ่งประเทศนี้ก็จะยิ่งกลับไปอยู่ในจุดที่ผู้มีอำนาจไม่สามารถคอนโทรลมากยิ่งขึ้น ซึ่งวันนั้นคนที่ตัดสินอนาคตของประเทศนี้เป็นอย่างไร อาจจะเป็นคนรุ่นใหม่ก็ได้ เราไม่รู้จะเกิดอะไรขึ้น”

ถ้าพรรคก้าวไกลถูกยุบพรรคอีก ประชาชนอาจจะบอกว่าขอประชาชนยุบพวกคุณบ้าง ผมพูดจริง ๆ นะ ไม่ต้องรอถึงยุบพรรคก้าวไกลอีกรอบหรอก เอาแค่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับหน้า ถ้าประชาชนได้ดีไซน์รัฐธรรมนูญกันเองจริง ๆ จะมีศาลรัฐธรรมนูญหรือเปล่า มี ส.ว.ไหม

ก่อนหน้านี้มีพรรคพลังประชาชน พรรคไทยรักไทย เขาก็มีแฟนคลับของเขา คุณทำลายความหวังประชาชน จนประชาชนทนไม่ได้แล้ว ดังนั้น ถ้าประชาชนได้มีอำนาจอย่างแท้จริง ผมคิดว่าผู้มีอำนาจอาจมีที่อยู่ที่ยืนได้น้อยลง และอย่างแย่ที่สุดต้องใช้เวลานาน

“สิ่งที่ไม่ควรลืมผู้มีอำนาจส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ขอให้รู้ว่าที่ยืนความคิดแบบนี้ในสังคมจะน้อยลงในสังคม และถึงวันหนึ่งจะไม่สามารถหยุดยั้งความเปลี่ยนแปลงที่ประชาชนเรียกหาได้อีกต่อไป”

อีกไม่นานเห็นแสงสว่าง

พรรคอนาคตใหม่ นิยามว่าเป็นการเดินทาง จนถึงพรรคก้าวไกล การเดินทางยังเพิ่งเริ่มต้น หรือไปถึงจุดไหนกันแน่ “รังสิมันต์ โรม” (นิ่งคิด) ก่อนตอบว่า…

ผมคิดว่ายังคงพูดยากนะ ว่าเราไปถึงจุดไหน แต่เราไม่ได้อยู่ถึงจุดเริ่มต้นแล้วแหละ เราเดินทางกันมาไกลพอสมควร เพียงแต่เราไม่รู้ชัด ๆ ว่ามันต้องเดินไกลแค่ไหน แต่เราถอยหลังกลับไปไม่ได้แล้ว เราไม่ได้อยู่ที่จุดเริ่มต้นแล้ว และเรามาไกลเกินกว่าจะถอยหลังกลับไป และในบางความรู้สึก เราเริ่มเห็นแสงสว่างของจุดหมายที่เราอยากจะเห็น

เวลาบอกว่าแสงสว่างคืออะไร เราอยากจะเห็นประเทศนี้เป็นของประชาชน ที่มาซ้อนผ่านการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่เป็นธรรม ไม่อยากเห็นทุนผูกขาด เราอยากเห็นระบบราชการที่เป็นของประชาชนจริง ๆ รับใช้ประชาชน ไม่ใช่ระบบราชการที่แข็งตัว ไม่ตอบสนองความต้องการของประชาชน

อยากเห็นการกระจายอำนาจท้องถิ่นที่แข็งแรง กองทัพทำหน้าที่อย่างที่ควรจะเป็น ไม่ใช่คิดแต่เรื่องการรัฐประหาร นายพลไปนั่งบอร์ดธุรกิจต่าง ๆ เต็มไปหมด เราอยากเห็นกฎหมายที่เป็นกฎหมายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากกว่าทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน อยากเห็นทุกองค์กรยึดโยงกับประชาชน

“เริ่มเห็นความเป็นไปได้ แน่นอนเรายอมรับว่ามีอุปสรรคเยอะ ถนนไม่ราบเรียบ ยังต้องใช้เวลาในการเดินทาง แต่เราเริ่มเห็นว่ากำลังจะไปถึงจุดนั้นได้ เพราะเป็นเพื่อนร่วมทางที่คิดแบบเดียวกัน ถ้าเปรียบเทียบเหมือนเราขับรถอยู่คันเดียว แต่ตอนนี้มีรถตามหลังเต็มไปหมด บางคันเป็นรถนำขบวนให้เราแล้ว ผมเชื่อว่า เส้นชัยคงอีกไม่ไกล”

การเมืองในฝันของ “รังสิมันต์ โรม”

ผมรู้นะเวลาเราพูดถึงการเมืองก็จะมีปัญหาตลอดเวลา ต่อให้ประเทศที่เจริญแล้ว แต่มันหยุดเดินไม่ได้ ต้องพัฒนากันต่อไป แต่การคาดหวังผมต่ำที่สุด แค่อยากเห็นเราสามารถคุยปัญหาของประเทศนี้โดยไม่ต้องกลัวได้ไหม

เรามีปัญหาเศรษฐกิจ เยาวชนหลายคนไม่อยากเกณฑ์ทหาร มีปัญหาเรื่องการตั้งคำถามในสถาบันต่าง ๆ ของสังคมที่คิดว่าคุ้มค่าหรือเปล่า

ประชาชนมีสิทธิรู้และตั้งคำถามได้โดยไม่หวาดกลัว และถ้าเราสามารถแสดงความคิดเห็นกันได้โดยไม่หวาดกลัว แลกเปลี่ยนกันได้ จะทำให้ประชาชนกับรัฐใกล้กันมากขึ้น สิ่งที่ประชาชนพูด ประชาชนรู้สึก ผ่านทวิตเตอร์ แล้วรัฐตอบสนองต่อเขาทันที ไม่มีใครอยากจะไปในการชุมนุมทางการเมือง และจะนำไปสู่การแก้ปัญหาในสิ่งที่ประชาชนประสบจริง ๆ

มันจะยังใช้เวลา เราอาจไม่ได้เป็นประเทศพัฒนาแล้วในการมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างเต็มที่ แต่เราจะค่อย ๆ พัฒนาไปเรื่อย ๆ วันหนึ่งเราอาจมีรัฐบาลที่ไม่มีประสิทธิภาพ เขาไม่เข้าใจว่าโลกไปทางไหน แต่ถ้าประชาชนบอกว่าเขาไม่เอารัฐบาลนี้ รัฐบาลนี้ก็กลับ แล้วเราก็จะมีคนที่มีความสามารถเข้าไปอยู่ในรัฐบาล หลังจากนั้นก็นำไปสู่การพัฒนา นี่คือสิ่งที่อยากเห็น

“ไม่อยากเห็นประชาชนตั้งคำถามแล้วถูกจับ อยู่ในประเทศนี้อย่างหวาดกลัว และรัฐบาลมีหน้าที่ตอบสนองของเขาเอง”

นักการเมือง Old School เหลือน้อย

ถาม “รังสิมันต์ โรม” ว่า มองไปที่พรรคการเมืองในสภา เห็นความหวังที่การเมืองจะเป็นแบบในฝันได้หรือไม่ เขาตอบว่า

“ผมคิดว่านักการเมืองแบบนั้นเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ บางส่วนปรับตัว พรรคการเมืองที่เข้ามาก่อนเราก็เริ่มเห็นบางอย่างที่เขาเริ่มปรับตัวแล้ว แล้วนักการเมืองที่เป็นแบบ old school จำนวนมากสอบตก และแทนที่ด้วยนักการเมืองรุ่นใหม่ ที่เขาเฟรช มีความคิดใหม่ ๆ ที่ประชาชนรู้สึก เข้าไปในสภาได้มากขึ้น”

อย่างต่ำๆ ในสภามี 500 คน old school วันหนึ่งมีพรรคอนาคตใหม่เข้าไปแทนที่ 80 เสียง ก็เหลือ 420 คน สุดท้ายบางส่วนอาจจะถูกกลืน แต่ก็ยัง hold กันได้อีก 50 และในวันข้างหน้าเราอาจจะได้ 100 อัพ พวก old school ทั้งหลายก็จะหายไป

“และมีบางพรรคที่เขาเริ่มปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ก็จะเข้ามาอีก สุดท้ายนักการเมืองรุ่นเก่า ๆ ที่ไม่เข้าใจว่าโลกไปทางไหนก็จะเหลือน้อยลงเรื่อย ๆ แต่แน่นอนอาจผ่านไป 10 ปี ยังมีพื้นที่ให้กับ old school แต่มันจะไม่มากเหมือนเดิม”

ตั๋วช้าง ค้ามนุษย์ ป่ารอยต่อ ราคาที่ต้องจ่าย

ชีวิตผมก็ไม่มีทางเหมือนเดิม เราคงไม่สามารถอยู่อย่างสนิทใจได้อย่างปลอดภัยหรอก มีคนเคยคุกคามภรรยาผมที่คอนโดมิเนียม การเดินทางไปไหนมาไหนต้องระมัดระวังตัว ยอมรับว่ามีความกังวลเรื่องความปลอดภัยอยู่เหมือนกัน บางกรณีก็กลายเป็นคดี ผมก็ไม่รู้ว่ากระบวนการยุติธรรมของเราจะเอาอย่างไรกับผม

เขาจะปล่อยให้ผมทำหน้าที่แบบนี้ได้นานแค่ไหน อะไรก็เกิดขึ้นได้กับตัวผมเหมือนกัน มันเป็นราคาที่ต้องจ่าย ความมั่นคงของชีวิตของผมมันไม่มี…

ทำไมเรื่องเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายต้องให้รังสิมันต์ โรม อภิปราย เขาตอบว่า…

“นั่นนะสิ…เอ่อ…ทำไมเป็นผมเหรอ ผมคิดว่าสิ่งที่ผมเคยทำมาก่อนหน้านี้ มีพื้นฐานเป็น activist คนจำนวนมากรู้สึกว่าผมไม่กลัวรัฐบาลนี้อยู่แล้ว อาจรู้สึกว่าผมโดนคดีก็ไม่กลัว ข้าราชการน้ำดีจำนวนมากคงอยากคุยกับผมกระมัง จึงทำให้ผมมีข้อมูลจำนวนมากในการอภิปราย”

พอเราทำป่ารอยต่อเสร็จ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมานอกจากเรื่องโดนคดี คุณยิ่งได้รับความไว้ใจจากประชาชนมากขึ้น กล้าอภิปรายป่ารอยต่อ กล้าชนกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (รองนายกรัฐมนตรี) ไม่กลัวอำนาจมืด คนที่เฝ้ามองอยู่ก็จะรู้สึกว่า ถ้าเขามีข้อมูลอะไรก็อยากจะเอาข้อมูลนี้มาให้ผม

“ประกอบกับเวลาที่เราต้องเผชิญหน้ากับรัฐบาลในการทำหน้าที่ทั่ว ๆ ไป ผมก็ไม่เคยมีประวัติไปเกี้ยะเซียะหรือยอมใคร ก็ซัดอย่างตรงไปตรงมาทุกเรื่อง เราก็ยิ่งได้รับความไว้วางใจมากขึ้น คนก็เอาข้อมูลมาให้ผมมากขึ้น นี่คือเครดิตที่ผมพยายามสร้างขึ้น จึงได้รับความไว้วางใจให้อภิปรายในเรื่องแหลมคมมากขึ้น”

“การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ความเสี่ยงไม่ใช่ต่อเรา แต่ความเสี่ยงสำคัญคือต่อแหล่งข่าวของเรา การอภิปรายแต่ละครั้งมันไม่ใช่แค่ชีวิตเราเท่านั้น แต่ต่อคนอื่นด้วย  ถ้าเราทำไม่ดี ทำอะไรพลาด บางทีด้วยอำนาจมืดของประเทศนี้อาจถูกใช้เพื่อทำลายชีวิตคนอื่นและครอบครัวของคนอื่น จึงต้องมีคนไว้วางใจจากพรรคช่วยกันดู ช่วยกันมอง ไม่ให้มันเกิดขึ้นต่อชีวิตเรา ชีวิตคนอื่น”

ความฝันที่อยากเป็นอาจารย์ -รมต.ยุติธรรม

จริง ๆ ผมยังคิดเรื่องการสอนในมหาวิทยาลัย แต่ถามว่าเริ่มคิดไหมเรื่องการเป็นรัฐมนตรี…ก็เริ่มคิดถ้าภารกิจเรายังไม่จบ บางทีเราอาจต้องไปทำแทน แต่ยังมีความรู้สึกว่ายังอยากทำงานในมหาวิทยาลัยมากกว่า ส่วนการเป็นรัฐมนตรี…ไม่รู้ คงต้องดูกันต่อไป ผมอายุ 30 ยังเป็นอะไรไม่ได้ ไม่ต้องไปวิ่งอะไรกับใครเลย เพราะอายุไม่ถึง…

แต่กระทรวงยุติธรรมก็น่าสนใจ ผมคิดว่าต่ำ ๆ เลยนะ อยากทำให้เรือนจำกลายเป็นที่ที่ถูกใช้เพื่อดูแลผู้คนให้กลับมาพร้อมอยู่ในสังคมจริง ๆ ต้องยอมรับได้แล้วว่าการทำให้เรือนจำมีสภาพไม่ต่างจากนรกคนที่เข้าไปอยู่ในนั้นเขาไม่สามารถปรับปรุงตัวเองให้เหมาะที่จะกลับเข้าสู่สังคมได้ เราควรจะปรับปรุงให้มีมาตรฐาน ให้คนรู้สึกว่าเขาเป็นคนที่พร้อมที่จะอยู่ในสังคม

โอเค…อาจจะไม่ทั้งหมด แต่ผมเชื่อว่านักโทษส่วนใหญ่ที่ก่อความผิด มีหลายปัจจัยมาเกี่ยวข้อง ปัจจัยเศรษฐกิจ สังคม ลองนึกถึงเด็กบางคนเกิดมาในครอบครัวที่ค้ายาเสพติด ถูกใช้เป็นเด็กเดินยา โตขึ้นเขาจะเป็นคนที่สังคมคาดหวังเหรอ…เป็นไปไม่ได้ เพราะเขาอยู่ในพื้นฐานแบบนั้น เมื่อถูกจับแล้วเจอสภาพเรือนจำไม่ต่างจากนรก ก็จะอยู่ในวังวนแบบนี้ต่อไป จึงคิดว่าอยากเห็นเรือนจำสามารถปรับปรุงเหมือนในหลายประเทศ

แม้กระทั่งกองทุนที่ช่วยเหลือเรื่องการประกันตัว จะทำอย่างไรให้เกิดการเข้าถึงตรงนี้ได้มากขึ้น พอศาลวาง แทบไม่เห็นการประกันตัวโดยไม่วางหลักทรัพย์ ศาลคิดจากจำนวนอัตราโทษ สุดท้ายคนหนึ่งได้ประกันตัว กับอีกคนไม่ได้ประกันตัว เพราะคนหนึ่งมีเงิน คนหนึ่งไม่มีเงิน แบบนี้ไม่ควรจะเกิด จึงอยากเห็นกระทรวงเข้ามาดูแลในการต่อสู้คดีอย่างเป็นธรรม