พลังประชารัฐ สู้ ชัชชาติฟีเวอร์ ประวิตร เข้าถึง เข้าใจ เปิดไลฟ์สด

นิโรธ สุนทรเลขา
นิโรธ สุนทรเลขา

เอฟเฟ็กต์จากผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) หนักหนากว่าที่คีย์แมนของพรรคพลังประชารัฐหลายคนคาดคิด แม้ยังมีแกนนำ-รัฐมนตรีบางคนประเมินกระแสชัชชาติฟีเวอร์ต่ำ

ประชาชาติธุรกิจ สนทนา นิโรธ สุนทรเลขา ส.ส.นครสวรรค์ ประธานวิปรัฐบาล ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งอย่างไม่เป็นทางการ เป็นโฆษก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในตำแหน่งโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

ไม่เซ็นเซอร์-ไม่มีสคริปต์

โฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค บอกเล่าถึงความคืบหน้าโปรเจ็กต์ใหม่ที่เพิ่งได้รับมาจาก พล.อ.ประวิตร สด ๆ ร้อน ๆ ให้เปิดฟลอร์รับฟังเสียงสื่อ

ขณะนี้อยู่ระหว่างทาบทามสื่อสารมวลชน เพื่อเชิญมาวิพากษ์พรรค เพราะในเมื่อปกติสื่อก็วิพากษ์อยู่ข้างนอกพรรคอยู่แล้ว ก็ให้มาวิพากษ์ในพรรคเลย อยากให้พูดแล้วคนในพรรคได้ยิน ในส่วนของรูปแบบ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของพรรคอยู่ระหว่างดำเนินการพิจารณา เบื้องต้นจะเชิญสื่อมาวิพากษ์ถึงที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ และเชิญผู้บริหารพรรค รัฐมนตรีและ ส.ส.ของพรรค รวมถึงสมาชิกพรรคมานั่งฟัง ให้สื่อวิพากษ์เต็มที่

“ไม่มีเซ็นเซอร์ และจะไลฟ์สด เอาแบบสด ๆ เอาให้จั๋งหนับกันไปเลย ให้ได้ยินกันสักที ไปเขียน (สคริปต์ให้สื่อ) ไม่ได้ เพราะสื่อจะกลายเป็นผู้ถูกวิพากษ์เสียเอง เนื่องจากสื่อมีจรรยาบรรณวิชาชีพ และสื่อที่เชิญมาเป็นถึงระดับอาวุโส โดยจะเชิญสื่อที่มีประสบการณ์ก่อน ในอนาคตก็จะเปิดโอกาสให้สื่อรุ่นถัดรองลงมาได้วิพากษ์พรรค”

face to face

สำหรับรูปแบบเวทีสานสัมพันธ์สื่อจะเป็นแบบ ไดเร็กต์-face to face ไม่ใช่ล้อมวงให้สื่อเก่า-สื่อใหม่ ได้วิพากษ์ และในช่วงแรก “ทีมประชาสัมพันธ์” จะยังไม่เดินสายทาบทาม-เทียบเชิญ “สื่อใหม่” ซึ่งมีอิทธิพลในสมรภูมิโซเชียลมีเดีย แต่เน้นไปที่สื่อหลัก-ค่ายยักษ์ใหญ่

“ระยะเริ่มต้นจะเชิญเฉพาะในวงจำกัดก่อน ซึ่งได้ประสานเชิญกับสื่อบางสำนักไปแล้ว และอาจจะเริ่มต้นจากสื่อทีละสำนัก สองสำนัก เพื่อกระชับประเด็น ไม่ให้ซ้ำซ้อนและสับสน เพียงสองท่านก็คงจะหูชากันหมดแล้ว และจะทดลองในระยะเวลาไม่มากนัก ราว 1-2 วัน เพื่อประเมินว่าจะรับแรงกระแทกกันได้หรือไม่ แต่ไม่รู้ว่าจะออกหัวออกก้อย”

“นิโรธ” ขยายความหมายเพิ่มเติมคำว่า “ไม่รู้จะออกหัวออกก้อย” ว่า เวลาสื่อวิพากษ์ก็ไม่รู้ว่า ผู้บริหารพรรค รัฐมนตรีของพรรคและสมาชิกพรรคจะรับฟังและได้ยินมากน้อยเพียงใด เพราะปกติสื่อวิพากษ์พรรคเป็นปกติอยู่แล้ว จาก inside out คราวนี้ให้ outside in แบบต่อหน้า ไม่มีมวยล้ม

ระหว่างนี้ “นิโรธ” จะรับหน้าที่จัดแจง-เคลียร์คิว วัน เวลาและสถานที่ ซึ่งจะใช้ที่ทำการพรรคพลังประชารัฐ เป็นเวที “รับแรงกระแทก” โดย “พล.อ.ประวิตร” จะมานั่งหัวโต๊ะรับฟังเสียงสื่อวิพากษ์ด้วยตัวเอง

“อยู่ระหว่างนัดวันเวลาให้ท่านหัวหน้าพรรคมารับฟังด้วย ท่าน OK จึงให้ไปประสาน ผมก็ถามท่านว่า ท่านรับแรงกระแทกได้นะ ท่านก็ยิ้มและพยักหน้า”

เขาคาดหวังว่า การรับฟังเสียงพิพากษ์จากสื่อในครั้งนี้ พรรคพลังประชารัฐจะสรุปประเด็นข้อวิพากษ์ต่าง ๆ และนำไปปรับปรุงแก้ไข เป็นแนวปฏิบัติของพรรคเพื่อดำเนินการทางการเมืองต่อไป

ให้ พปชร.เป็นสถาบันการเมือง

อย่างไรก็ตาม เสียงวิพากษ์ของสื่อในครั้งนี้จะไม่นำไปสู่การปรับโครงสร้างพรรค-ผู้บริหารพรรค แต่เป็นการปรับทิศการเมืองของพรรคพลังประชารัฐในอนาคต เพื่อนำไปสู่การทำพรรคให้เป็นสถาบันการเมือง ซึ่งสำคัญมากกว่าตัวบุคคล

“ถ้าพูดถึงการปรับโครงสร้างพรรค อาจจะมองไปถึงการปรับตัวบุคคล ไม่ใช่อย่างนั้น อาจจะเป็นการปรับโครงสร้างที่ไม่ได้เกี่ยวกับตัวบุคคล เป็นการปรับโครงสร้างแนวทางการเดินของพรรคจะทำการเมืองต่อไปอย่างไรมากกว่า และโครงสร้างการดำเนินการของพรรคพลังประชารัฐในระยะต่อไป ไม่ได้ใช้การปรับโครงสร้างในด้านตัวบุคคล เพราะตัวบุคคลแต่ละท่านถือว่ามีศักยภาพอยู่แล้ว”

“ท่านหัวหน้าพรรคคาดหวังว่าจะทำพรรคพลังประชารัฐให้เป็นสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่พรรคเฉพาะกิจ โดยเริ่มต้นให้เป็นสถาบันทางการเมืองให้มั่นคงของประเทศไทย”

เบื้องหลังไอเดีย

นิโรธเล่าเบื้องหลังไอเดียเชิญสื่ออาวุโสมาวิพากษ์ว่า เป็นความคิด-แนวคิดของ พล.อ.ประวิตร หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ หลังจากฉุกคิดการตั้งคำถามถึงบทเรียนที่ได้รับจากความพ่ายแพ้ศึกเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ได้มาเพียง 2 ที่นั่ง นำไปสู่จุดเริ่มต้นของการเปิดเวทีในครั้งนี้

“เป็นแนวคิดของท่านหัวหน้าพรรค ท่านปรารภว่า สื่อก็วิพากษ์พรรคอยู่ข้างนอกเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งความจริงเริ่มต้นจากผลการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. และมีสื่อมวลชนสัมภาษณ์ท่านที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งท่านให้สัมภาษณ์ว่า ท่านจะทบทวนการทำงานของพรรคพลังประชารัฐที่ผ่านมา”

“หลังจากนั้น ท่านจึงได้เรียกผมไปพูดคุยและให้ไปดำเนินการตามที่ท่านได้ปรารภ เพราะสื่อจะมองภาพกว้าง มองการเมืองภาพรวมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ จึงมีประสบการณ์และเชี่ยวชาญ เพื่อนำมาแลกเปลี่ยนกับพรรค”

“ผมบอกว่า หัวหน้ารับแรงกระแทกไหวเหรอ ท่านยิ้มและพยักหน้าเป็นคำตอบว่า ไหว ๆ ท่านบอกให้สื่อได้วิพากษ์อย่างเสรีจริง ๆ”

“เราก็ยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ดีอย่างไร แต่ท่านกล้า เพราะท่านทนรับแรงกระแทกมามากมาย และท่านก็มักจะผุดไอเดียหลาย ๆ เรื่องขึ้นมา ท่านเป็นคนสุขุม ใจเย็น ใจดี มีแนวคิดอยู่ตลอด สิ่งที่ผมทำเพราะได้รับมอบหมายจากท่าน” เขาเริ่มฉายแววบทบาทโฆษกส่วนตัว พล.อ.ประวิตร

เขาเลี่ยงที่จะตอบว่า เป็นงานแรก-บทบาทใหม่อย่างไม่เป็นทางการหลังจากรับตำแหน่งโฆษกประจำตัวหัวหน้าพรรค-spokesman จำเป็น ? แบบทีเล่นทีจริงว่า เป็นเพียงการ “พูดเล่นกันในพรรค” ก่อนจะหัวเราะร่วน