ประวิตร จ่อ ตั้งทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ ดึงกูรูนักเศรษฐศาสตร์ร่วมทัพ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
FILE PHOTO :

สันติ แย้ม ดึงกูรูนักเศรษฐศาสร์ ร่วมทีมเศรษฐกิจพลังประชารัฐ ประชุมนัดแรกเร็ว ๆ นี้

วันที่ 23 เมษายน 2565 นายสันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) เปิดเผยว่า การประชุมกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรค พปชร.เป็นประธานในการประชุมเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2565 ได้พิจารณาแนวทางการตั้งทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเสริมทัพการทำงานของรัฐบาล

เพื่อกำหนดมาตรการระยะสั้นในการช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะในภาวะค่าครองชีพที่สูงจากระดับราคาสินค้าที่เพิ่มขึ้นและอื่นๆ โดยคาดว่าจะมีการหารือนัดแรกในเร็วๆ นี้

“การจัดตั้งทีมเศรษฐกิจที่จะเข้ามาเสริมทัพจะมีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาหาแนวทางช่วยเหลือประชาชนหลังจากนี้ เพื่อให้พี่น้องประชาชนกลับมากินดีอยู่ดีโดยเร็ว คาดว่า พล.อ.ประวิตร จะจัดให้มีการประชุมหารือในเร็ว ๆ นี้เพื่อรับฟังปัญหาและแนวทางในการนำไปตกผลึกเพื่อจัดทำเป็นนโยบายระยะสั้น” นายสันติกล่าว

สันติ พร้อมพัฒน์
สันติ พร้อมพัฒน์ เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ

นายสันติกล่าวด้วยว่า โดยการทำงานจะดึงผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้ด้านเศรษฐกิจในสาขาต่าง ๆ เข้ามาเป็นทีมงาน และทำการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์ ทั้งในและต่างประเทศที่มีผลต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อจะได้กำหนดเป็นแนวทางของพรรคเพื่อจะเข้าแก้ปัญหาในทุกมิติ

ทั้งในเรื่องราคาสินค้า การส่งเสริมการประกอบอาชีพ เสริมความรู้ให้เยาวชนให้ทันนวัตกรรมของโลกเพื่อให้ไทยก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคต

“โลกมีการเปลี่ยนแปลงไปพอสมควรโดยเฉพาะด้านนวัตกรรม การส่งเสริมศักยภาพให้กับเยาวชนที่เป็นลูกหลานให้เขามีความรู้ทั้งด้านคอมพิวเตอร์ ดิจิทัล ก็จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่เราจะต้องมาดูเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้เขามีศักยภาพการแข่งขัน

“การทำงานรัฐบาลจะต้องทุ่มงบประมาณลงไปรวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ที่เริ่มเข้ามาทดแทนแรงงานคน เช่น หุ่นยนต์ และเรื่องดิลิทัลต่าง ๆ เพื่อยกระดับและสร้างศักยภาพด้านการแข่งขันในภาคการผลิตซึ่งในส่วนนี้ก็ต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือในการเข้ามาควบคุม”นายสันติกล่าว

พร้อมกับระบุว่า ขณะนี้การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้รุนแรงมากนักและในที่สุดจะเป็นโรคประจำถิ่นในไม่ช้า เพราะไทยเองมีการฉีดวัคซีนเข็ม 1 และ 2 ไปแล้ว 90% และเข็มกระตุ้น 3-4 ฉีดไปแล้ว 50-60%

ขณะที่ผู้เสียชีวิต ที่เกิดขึ้น128-129 คนส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว และไม่มีการฉีดเข็มกระตุ้น ซึ่งต้องการการรณรงค์ให้มีการฉีดเข็มกระตุ้นโดยเร็วเพื่อ สร้างภูมิคุ้มกันในการเพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดประเทศ เพื่อให้เศรษฐกิจเดินหน้าต่อไป