12 ซีอีโอฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ ปลุกท่องเที่ยว-โรงแรม กุญแจสำคัญขับเคลื่อน ศก. ดันไทยขึ้นแท่นพรีเมี่ยมเดสติเนชั่น บิ๊กบินไทยเสนอปรับกม.หนุนสายการบินแข่งต่างชาติ ปตท.ขอสร้างความมั่นคง พลังงาน-อาหาร-สุขภาพ ทิสโก้เน้นเติบโตทั่วถึง ธุรกิจภูธรแนะแก้ปัญหาปากท้อง-หนี้ครัวเรือน-การศึกษา
ขณะที่การฟอร์มทีมจัดตั้งรัฐบาลที่มีพรรคก้าวไกลเป็นแกนนำยังดำเนินต่อไป และอีกด้านหนึ่งก็รอการรับรองผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามความเห็นผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจถึงข้อเสนอแนะต่าง ๆ ที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เร่งดำเนินการ ดังนี้
ยานยนต์หนุนจัดตั้งรัฐบาลให้เร็ว
ดร.สุรศักดิ์ สุทองวัน รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า สิ่งสำคัญอันดับแรก ต้องการจัดตั้งรัฐบาลโดยเร็ว และหวังว่ารัฐบาลใหม่จะมาช่วยผลักดันระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนให้ปรับปรุงการทำงานร่วมกันเพื่อความรวดเร็วและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อนำการดิสรัปชั่นไปต่อสู้ในตลาดโลก ทั้งนี้เชื่อว่าภาคการผลิตของประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ ถ้ากำหนดนโยบายได้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก
เช่นเดียวกับ ดร.สัณหวุฒิ ธรรมชวนวิริยะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท มิลเลนเนียม กรุ๊ป คอร์ปอเรชั่น (เอเชีย) จำกัด (มหาชน) ที่แสดงความเห็นว่า หลังจากการเลือกตั้งแบบประชาธิปไตย ก็คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นและค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป เชื่อว่าภาคเอกชนพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แน่นอนว่าทุกคนต้องการความเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นในช่วงเวลาที่เหมาะสม
“ท่องเที่ยว” กุญแจขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (THA) กล่าวว่า ขอให้นายกรัฐมนตรีคนใหม่และรัฐมนตรีคนต่อไปให้ความสำคัญกับภาคการท่องเที่ยว เพราะภาคการท่องเที่ยวเป็นธุรกิจที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะมีโอกาสที่จะขยายผลนำรายได้เข้าประเทศมากมาย การท่องเที่ยวไม่ใช่แค่โรงแรม แต่มีทั้งเอเย่นต์ ชุมชน เกษตรกร ขนส่ง ฯลฯ ดังนั้น multiplier effect หรือผลที่จะเกิดขึ้นต่อเศรษฐกิจอย่างทวีคูณจึงกว้างมาก ทุกคนจะได้ประโยชน์จากตรงนี้
อย่างไรก็ตาม ธุรกิจโรงแรมยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วง คือ การขึ้นค่าแรง ซึ่งสมาคมฯอยากให้ชะลอออกไปก่อน เนื่องจากเพิ่งขึ้นค่าแรงไปเมื่อปีที่ผ่านมา อีกหนึ่งเรื่องที่น่าเป็นห่วงคือ ต้นทุนการดำเนินงานที่สูง โดยเฉพาะต้นทุนพลังงาน เดิมที่ค่าไฟฟ้าคิดเป็น 5-6% ของรายได้ แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาอยู่ที่ 10% รองจากค่าจ้าง
“อยากให้ภาครัฐช่วยเหลือ 2-3 ประเด็นนี้ เพราะตอนนี้เราอยู่ในระยะฟื้นตัว แม้จะเห็นนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาแล้ว แต่ก็มีอีกหลายโรงแรมที่ยังปิดและรอที่จะเปิดแต่ยังไม่มีเงินมาปรับปรุงก็มี” นางมาริสากล่าว
ดันไทยขึ้นแท่นพรีเมี่ยมเดสติเนชั่น
นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ปัจจุบันภาคท่องเที่ยวเผชิญปัญหาและความท้าทายหลายด้าน ด้านแรกคือ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจท่องเที่ยวโดยรวม ทำให้นักท่องเที่ยวที่มาพักในประเทศไทยอยู่นานขึ้นและใช้เงินมากขึ้น
2.ปัญหาแรงงาน โดยโควิดทำให้คนออกไปจากธุรกิจท่องเที่ยวค่อนข้างมาก จะทำอย่างไรให้คนมีทักษะเพียงพอเหมาะสมและดึงแรงงานให้กลับเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้
และ 3.มาตรฐาน ซึ่งต้องสอดรับกับบริบทโลกที่ปรับเปลี่ยนไป เช่น สุขอนามัย รวมถึงการดึงมูลค่าอื่น ๆ เช่น เรื่องเวลเนส มาผสมผสานด้านการท่องเที่ยว ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างมาตรฐานเรื่องความปลอดภัย สะดวก เพื่อทำให้นักท่องเที่ยวไม่ต้องกังวล
“นอกจากนี้ยังอยากจะฝากเรื่อง sustainability เพราะบ้านเรากำลังเจอเรื่องมลภาวะ และตอบรับเรื่อง climate change ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการมีส่วนร่วม เช่น โรงแรม สามารถทำพลังงานโซลาร์แล้วอาจจะเคลมภาษีได้มากขึ้น หรือเสริมทักษะคนในองค์กรก็สามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้มากขึ้น และสุดท้ายคือ การลดเรื่องขั้นตอนที่ยุ่งยากซับซ้อน ปัจจุบันมีโรงแรมหรือที่พักที่ไม่มีใบอนุญาตมากกว่าครึ่ง ทำอย่างไรให้ทุกคนเข้าถึงและมีมาตรฐานอยู่ในใบอนุญาตเดียวกัน อะไรที่ซับซ้อน ไม่จำเป็น ต้องตัดออกไป เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน”
ด้านนายชาย เอี่ยมศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจการบินอยากเห็นคือ การปรับปรุงกฎหมาย ข้อระเบียบต่าง ๆ เพื่อให้สายการบินในประเทศสามารถแข่งขันกับสายการบินต่างชาติได้ ขณะเดียวกันผู้ประกอบการสายการบินควรจะได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และอยากให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ทำงานในลักษณะบูรณาการมากขึ้น ไม่ใช่ปล่อยให้สายการบินเอาตัวรอดเอง
หนุนสร้างความมั่นคง 3 ด้าน
นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงนี้เป็นช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลง (transition period) ในหลาย ๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน, สุขภาพ และอาหาร จึงอยากจะฝากถึงรัฐบาลใหม่เน้นการเสริมสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน อาหาร และสุขภาพ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมาจากการส่งเสริมเรื่องนวัตกรรม และการสร้างอุตสาหกรรมใหม่ ธุรกิจใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นกับประเทศไทย
“ผมเชื่อว่าประเทศไทยยังมีโอกาส และก็มีอนาคตอีกมากถ้าเกิดเราช่วยกัน”
เสนอสร้างการเติบโตอย่างทั่วถึง
นายศักดิ์ชัย พีชะพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ผลักดันเรื่องการเติบโตแบบทั่วถึง ไม่ใช่แค่บางเซ็กเตอร์ หรือบางเซ็กเมนต์ แต่ต้องมองที่ประชาชนทั้งประเทศเป็นหลัก ซึ่งที่ผ่านมาอาจจะให้ความสำคัญกับตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ภาพใหญ่อย่างเดียว เช่น เรื่องการส่งออก อาจจะต้องดูปัจจัยด้วยว่า การส่งออกที่ส่งออกไป local content มากน้อยแค่ไหน แน่นอนการท่องเที่ยวก่อให้เกิด local content มากที่สุด รวมถึงภาคการเกษตร พวกเกษตรแปรรูปต่าง ๆ
“ที่ผ่านมาบางครั้งจะดูแค่จีดีพีภาพใหญ่อย่างเดียว ถ้ามานั่งดูในรายละเอียดแล้ว คนส่วนใหญ่ในประเทศเป็นอย่างไร จะได้ประโยชน์อย่างไร ผมคิดว่าจะได้ใจประชาชนมากสุด ที่สำคัญคือ อยากให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ ทำงานได้ครบวาระ การอยู่ครบ 4 ปี นักลงทุนก็จะมีความมั่นใจ” ซีอีโอทิสโก้กล่าว
สร้างความมั่นใจนักลงทุน
นางสาวจรีพร จารุกรสกุล ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ WHA Group กล่าวถึงการบ้านที่อยากฝากถึงรัฐบาลใหม่ให้ช่วยดูแลว่า ตอนนี้อยากจะเห็นภาพนโยบายเศรษฐกิจว่ารัฐบาลมองภาพอย่างไร โดยเฉพาะการดึงการลงทุนจากต่างชาติ เพราะเป็นจุดที่สำคัญมากในการที่ประเทศไทยจะเป็นเบอร์ 1 หรือกลับมายืนบนเวทีของโลก
ซึ่งขณะนี้นักลงทุนต่างชาติที่จะมาลงทุนในเมืองไทยหลาย ๆ ที่ ก็รอดูนโยบายอยู่ว่า รัฐบาลใหม่จะกระตุ้นหรือสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติแค่ไหน รวมถึงภาคการท่องเที่ยว และการแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมีจุดเด่นอยู่แล้ว เราอยากเห็นว่าจะมีความแตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง
ด้านนายธนพล ศิริธนชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ (ประเทศไทย) กล่าวว่า สิ่งที่อยากจะฝากในมุมมองเอกชน คือ เรื่องของความมั่นใจในการออกมาตรการต่าง ๆ ที่จะต้องมองให้ครบทุกมุม ที่สำคัญต้องมีความรวดเร็ว เพราะว่าในแงของภาคธุรกิจเอกชน เวลาก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่น ไม่ว่าจะเป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ดี การอนุมัติเรื่องของใบอนุญาตต่าง ๆ วันนี้หลายเรื่องเองก็ยังเป็นอุปสรรค ถ้ารัฐบาลใหม่สามารถผลักดันอุปสรรคในภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผมเองอยู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ
“สำหรับผมภาพรวมธุรกิจในแง่ของอสังหาริมทรัพย์ ประการแรกเนื่องจากเราทำเรื่องของอุตสาหกรรมและการขนส่งด้วย ผมคิดว่าเราก็เป็นฐานการผลิต เรื่อง warehouse ต่าง ๆ ในแง่ของต่างชาติก็เข้ามาในการลงทุน เพราะสิ่งที่เขาอยากได้ความเชื่อมั่น คือ เสถียรภาพ ที่สนับสนุนของ warehouse ในส่วนของอาคารสำนักงานก็เป็นจุดหนึ่งที่เราจะให้เป็นแรงจูงใจในการจัดตั้งสำนักงาน บริษัทใหญ่ บริษัทข้ามชาติ การผลักดัน แรงจูงใจ ภาษีต่าง ๆ ขั้นตอนในการขออนุมัติต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นประโยชน์ในการให้ประเทศไทยและกรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลางในธุรกิจ
ส่วนปัญหาในอสังหาฯเป็นเรื่องของการกู้ยืม ในแง่ของ post finance ก็กลับไปเรื่องของรากฐานหนี้สินครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้น ถ้าสามารถปรับ หรืออนุมัติสินเชื่อเพื่อประโยชน์กับกลุ่มคนโดยเฉพาะ คงจะเป็นเซ็กเมนต์ในการที่เราสามารถที่จะให้อัตราดอกเบี้ยหรือมีการประเมิณที่จะอนุมัติสินเชื่อให้เร็วขึ้นและเหมาะสม อันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของตัวภาพอสังหาฯ จะช่วยกระตุ้นการซื้อขายให้มากขึ้น”
หนุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
นายสิทธิกร ดิเรกสุนทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) กล่าวว่า ในภาวะที่เศรษฐกิจประเทศเปิด การท่องเที่ยวและกำลังซื้อผู้บริโภคกำลังกลับมา กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของ บสย.ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญ จึงอยากให้รัฐบาลชุดใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศช่วยสนับสนุน SMEs ที่ขาดหลักประกันให้เข้าถึงสินเชื่อผ่านกลไกค้ำประกันของ บสย. ซึ่ง บสย.พร้อมที่จะตอบรับนโยบาย ทั้งในแง่ของการค้ำประกัน SMEs อาทิ พ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่ขาดหลักประกัน เพื่อช่วยให้เข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงินได้ง่ายขึ้น และการเป็นศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน แนะนำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงสินเชื่อด้วย
แก้ปัญหาปากท้อง-หนี้ครัวเรือน
นายจักรรัตน์ เรืองรัตนากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท รัตนากร แอสเซท จำกัด ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และโรงแรมในจังหวัดชลบุรี ภูเก็ต สมุย ระบุว่า อยากฝากรัฐบาลใหม่ดูแลเรื่องเศรษฐกิจปัญหาปากท้องประชาชน หนี้ครัวเรือน การท่องเที่ยว และนโยบายภาษี
ส่วนที่สำคัญมากคือนโยบายการศึกษา ประเทศไทยมีงบประมาณให้กระทรวงศึกษาธิการเป็นจำนวนมาก แต่ประสิทธิภาพการใช้งบประมาณไม่เต็มที่ อยากให้ดูต้นแบบประเทศที่พัฒนาแล้ว อีกประเด็นคือการพัฒนาด้านภาษา ต้องผลักดันให้คนไทยพูดได้มากกว่า 2 ภาษา คือ ไทย จีน อังกฤษ และฝึกให้มีทักษะความเป็นผู้นำ ทั้งเข้าใจในเรื่องการเงินและเทคโนโลยี เพราะคนคือกำลังสำคัญของประเทศ
ดึงเทคโนโลยีช่วยบริหารจัดการ
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้ง TARAD.com กล่าวในเรื่องเดียวกันนี้ว่า การบริหารประเทศทุกวันนี้จะต้องใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเทคโนโลยีไม่ได้อยู่ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เพียงอย่างเดียว แต่เทคโนโลยีจะต้องอยู่กับทุกโครงการ ฉะนั้นจึงควรพยายามดึงเทคโนโลยีเข้ามาเป็นโครงสร้างพื้นฐานของการบริหารจัดการทุกอย่าง ซึ่งเชื่อว่าการจัดการประเทศจะสามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี
ก่อนหน้านี้ได้เสนอแนะไปยังรัฐบาลใหม่ด้วยว่า ไม่ว่ารัฐบาลใหม่จะเป็นใคร ควรขยายการบริการด้วยเทคโนโลยีให้กว้างขวาง โดยส่งเสริมดิจิทัลใน 4 ด้าน คือ 1.การเพิ่มประสิทธิภาพให้ผู้ประกอบการ เช่น เพิ่มการส่งออกทางดิจิทัลมากขึ้น ไม่ว่าเป็นการให้สิทธิบีโอไอสร้างแรงจูงใจให้ธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลมากขึ้น หรือการสนับสนุนสตาร์ตอัพให้สร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในประเทศ
2.การดูแลประชาชน โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น กรณี Traffy Fondue ที่ต้องขยายไปใช้ระดับประเทศไม่ใช่แค่ในกรุงเทพฯ
3.รัฐบาลดิจิทัล ปัจจุบันมีหน่วยงานอย่าง DGA หรือสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัลทำอยู่แล้ว แต่อยากให้ขยายออกไปให้ไกลขึ้น และยังมีนวัตกรรมดี ๆ ที่เป็นประโยชน์อีกมากที่พัฒนาขึ้นมาจากห้องวิจัยของหน่วยงานรัฐ เช่นเดียวกับกรณี Traffy Fondue ทั้งในแล็บของ สวทช. หรือเนคเทค จึงน่าจะนำมาปรับใช้ ไม่ต้องวิจัย และพัฒนาขึ้นใหม่
และ 4.ลดการขาดดุลด้านดิจิทัล และควบคุมต่างชาติให้ทำธุรกิจในไทยอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นการควบคุมสินค้าจีน ลดการขาดดุลดิจิทัล