เพราะธุรกิจ-อุตสาหกรรม คือเครื่องยนต์ใหญ่ในการเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย
เมื่อถึงวาระเลือกตั้ง-ผลัดเปลี่ยนโครงสร้างอำนาจ ไม่ใช่แค่นักการเมืองเท่านั้นที่จะปรับแก้สัญญาประชาคมฉบับใหม่ เสนอต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง แต่ย่อมเป็นโอกาสของนักธุรกิจและสื่อมวลชนที่จะร่วมกันกำหนดญัตติสาธารณะ เพื่อส่งต่อถึงการกำหนดนโยบายและแผนงานในรัฐบาลถัดไป
นี่จึงเป็นภารกิจสำคัญของ “ประชาชาติธุรกิจ” และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ในการร่วมกำหนดอนาคตประเทศไทย ในโปรเจ็กต์ Future Thailand
“ชนาพรรณ จึงรุ่งเรืองกิจ” รองประธานอาวุโส กลุ่มบริษัทไทยซัมมิท ผู้ผลิตชิ้นส่วนรายใหญ่ของประเทศ คือนักธุรกิจที่ถูกเลือกให้เสนอโจทย์และปักธงคำตอบสำหรับประเทศไทย
ปั้นเครื่องยนต์เศรษฐกิจ “ตัวแรง-ตัวใหม่”
“ชนาพรรณ” มีข้อเสนอที่ตรงประเด็นทันที สำหรับรัฐบาลใหม่คือ ต้องสร้าง growth engine-เครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่ ตัวแรง เพื่อผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ เพราะประเทศไทยยังไม่มีโปรดักต์อะไรที่ใช้ความสามารถผลิตจากวัตถุดิบที่เกิดในประเทศ ใช้กระบวนการและทรัพยากรในประเทศ และสามารถขายทั้งในประเทศและส่งออก ถ้ามีก็อาจจะอยู่ในระดับที่เล็กมากจนไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศได้
“ตอนนี้ไทยจะไปอยู่ตรงจุดไหนในซัพพลายเชนของโลก และพยายามหาจุดนั้นให้เจอ เพื่อนำมาปรับให้เป็นนโยบาย สร้างเป็น growth engine ตัวใหม่ของประเทศเพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจ”
ไทยซัมมิท-เรียกร้อง BOI อุ้มชิ้นส่วน
ในฐานะที่คลุกวงในอุตสาหกรรมรถยนต์มาตั้งแต่เกิด “ชนาพรรณ” เรียกร้องการหนุนช่วยจากรัฐ ให้ผองเพื่อนเครือข่ายอุตสาหกรรมยานยนต์ “ไทยซัมมิทเป็นรายแรก ๆ ที่เรียกร้องให้รัฐบาลออกนโยบายส่งเสริมทุกภาคส่วนของอุตสาหกรรม
แต่คนที่ยังไม่ได้ก็คือ ซัพพลายเออร์หรือผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การสนับสนุนส่วนใหญ่ที่ผ่าน BOI เน้นไปที่เทคโนโลยี-นวัตกรรมและการลงทุนสูง ๆ ซึ่งยากที่ซัพพลายเออร์คนไทยจะไปถึง ดังนั้นประโยชน์ส่วนใหญ่จึงได้กับนักลงทุนต่างประเทศ ทำให้ทุกวันนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนคนไทยน้อยลง จึงอยากให้มีนโยบายที่สนับสนุนคนไทย”
วาระใหญ่ทุนจีนแย่งแรงงานไทย
อีกเรื่องที่รัฐบาลใหม่ต้องพิจารณาก็คือ “ปัญหาเรื่องคน” อยากให้ทบทวนอย่างเร่งด่วน เพราะอนาคตอันใกล้ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่าง ๆ โดยเฉพาะแบรนด์จีน ที่รัฐบาลไปชักชวนมาลงทุนในประเทศไทยน่าจะเริ่มเดินเครื่องได้ ซึ่งถึงตอนนั้นจะเกิดการแย่งงานกันแน่นอน
เอาแค่โรงงานละ 1,000 คน 5 โรงงานก็ราว ๆ 5,000 คน นี่ยังไม่รวมผู้ผลิตรถยนต์รายเก่าที่มีอยู่ในบ้านเราที่ต้องขยายไลน์การผลิตเพิ่มเติม ปัญหานี้คือเรื่องเร่งด่วน เพราะแรงงานที่ต้องการส่วนใหญ่เป็นประเภทพร้อมใช้ ไม่ใช่เอาไปแล้วต้องไปฝึกทักษะกันอีก
ดังนั้น อุตสาหกรรมที่ใกล้เคียงหรือมีความใกล้ชิดจะถูกดึงตัวไป ให้เงินเดือนสูงขึ้น ตำแหน่งสูงขึ้น ถึงเวลานั้น SMEs ไทยตัวเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่เป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำจะไปหาคนงานจากไหน กลายเป็นปัญหากระทบกันทั้งซัพพลายเชน ทางออกของเรื่องนี้จึงเป็นการบ้านที่รัฐบาลใหม่ต้องไปคิดให้ออก
“ชนาพรรณ” ตั้งคำถามที่ท้าทายว่า “ยังจำเป็นอยู่ไหม สำหรับอุตสาหกรรมที่มาลงทุนบ้านเราที่ถูกเขียนไว้ชัดเจนว่า จะต้องมีการจ้างแรงงานในประเทศ” และอีกคำถามใหญ่คือ “สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI ยังจำเป็นอีกต่อไปหรือไม่ ที่จะกำหนดเงื่อนไขธุรกิจที่ได้ส่งเสริมต้องใช้แรงงานในประเทศ”
ศูนย์กลาง EV-ดีทรอยต์ออฟเอเชียไร้ปัจจัยหนุน
ในขณะที่รัฐบาลประกาศว่าเมืองไทยจะเป็นฮับ EV แต่ความเคลื่อนไหวที่แท้จริงของวงการอุตสาหกรรมยานยนต์ในความเห็น-ความเป็นจริง ของรองประธานกลุ่มบริษัทไทยซัมมิท เห็นด้วยว่าใช่บางส่วน แต่ยังไร้ปัจจัยสนับสนุน “โจทย์ที่ต้องคิด ดูง่าย ๆ ใครมีหุ้นดวงใจ สาขาอุตสาหกรรมยานยนต์บ้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ได้รับการสนับสนุนกันมาทุกรัฐบาล แล้วทำไมไม่มีหุ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ เซ็กเตอร์อุตสาหกรรมยานยนต์มีลิสต์มีไม่กี่ตัว”
8 ปีเปลี่ยนถ่ายบุญเก่า-สะสมบุญใหม่
“ชนาพรรณ” ปรารภว่า หลายคนบอกประเทศไทยยังมีบุญเก่า แต่บุญก็ยังไม่มากพอ ขณะเดียวกันต้องแบ่งบุญไปชดใช้กรรมด้วย “เรามองว่าไม่เกิน 8 ปี หรือเปลี่ยนรถอีก 2 รุ่น สิ่งที่ห่วงว่าอุตสาหกรรม EV อย่าให้ต่างชาติเข้ามาตักตวงทุกอย่าง แล้วขนกลับไปบ้านเขาแบบฟรี ๆ ใช้ทรัพยากรบ้านเรา แล้วก็ส่งไปขายที่อื่น กำไรขนไปไว้ประเทศอื่น ตรงนี้น่าจะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข”
“ถามต่อว่าทำไมบุญถึงใกล้จะหมดตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ารถที่ใช้เครื่องยนต์ครองตลาดอยู่ แต่รุ่นหน้าไม่แน่ คนอาจมองไฮบริดหรือรถ EV มากขึ้น เวลาผ่านไปคนต้องคิดอยากใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นแน่ ต่างชาติก็มาลงทุนพร้อมแล้ว ทุกอย่างเริ่มมั่นใจมากขึ้น เพราะฉะนั้นช่วงเวลาอีก 8 ปี คำถามคือ ต้องสะสมบุญใหม่หรือจะปล่อยให้ถึงเวลาชดใช้กรรม”
ดังนั้น ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และต้องปรับภายในอีก 8 ปีด้วย สิ่งที่ต้องทำ 2 อย่างคือ อย่างแรกช่วง 8 ปีนี้ ต้องรักษาแชมป์เอาไว้ให้ได้ แปลว่าต้องทำให้รถขายดี มีกำไร ทำให้ลูกค้าชอบ จะได้มีงานใหม่ต่อไปเรื่อย ๆ เรื่องที่ 2 คือ หาน่านน้ำใหม่ เตรียมตัวที่จะเจอดิสรัปชั่นใหม่ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ต้องรักษาแชมป์เก่าแล้วก็เตรียมตัวชกบนเวทีใหม่ภายในระยะเวลาและทรัพยากรจำกัด
“เราปรับตัวมาก่อนหน้านี้อยู่แล้ว เพียงแต่ว่าอุตสาหกรรมฝุ่นยังตลบอยู่ เมื่อก่อนผลิตรถ 1 คัน เรารู้ว่าต้องใช้พาร์ตอะไร เอาชิปที่ไหน ประกอบเป็นชิ้นใหญ่แล้วไปไว้ตรงไหน ในวงการจะรู้กัน แต่พอเป็นยุค EV ถูกดิสรัปต์หมด เรียกว่าโดนกันทั้งโลก โรงงานอาจจะต้องย้ายตามแหล่งวัตถุดิบ ไทยซัมมิทเตรียมพร้อมไว้แล้ว แต่อย่าถามว่าเราคือผู้ชนะหรือเปล่ายังตอบไม่ได้ เพราะฝุ่นมันยังไม่สงบ”
กลัวนโยบายที่เห็นไม่ใช่-ที่ใช่ไม่เห็น
ในสถานภาพทางสายเลือดที่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวการเมือง “บ้านจึงรุ่งเรืองกิจ” เธอบอกว่าจากประวัติศาสตร์ ถือว่าเป็นโชคดี ที่ผ่านมารัฐบาลทุกพรรคทุกสี สนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ ดังนั้น สิ่งที่รัฐบาลแถลงเป็นนโยบายแล้วไม่ค่อยน่ากลัว ที่น่ากลัวคือ นโยบายที่ไม่ได้แถลง
กับอีกอย่างหนึ่งคือ แถลงแล้วไม่ได้ทำ นโยบายที่ไม่ได้เห็นในพรรคการเมืองไหนเลย และถือเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก นั่นคือ นโยบายการต่างประเทศ อย่าลืมว่ารายได้ที่เข้าประเทศมาจากต่างประเทศ และนโยบายต่างประเทศจะมาเชื่อมโยงกับธุรกิจ
“ทุกคนพูดเหมือนกันหมดจะลด PM 2.5 มาใช้ EV ไทยซัมมิท เคยพูดตั้งแต่เวทีแรกว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้สะอาดเพราะแค่ไม่มีควันพิษจากท่อไอเสีย แต่รถยนต์ไฟฟ้าจะสะอาดก็ต่อเมื่อพลังงานที่ใส่เข้าไปสะอาด ดังนั้น
ถ้าจะบอกว่าลด PM 2.5 แล้วใช้ EV ก็ต้องตามไปดูว่าพลังงานที่ใช้ในการผลิต EV เป็นพลังงานที่มาจากถ่านหิน ฟอสซิล ถ้าใช่เราก็แค่ย้าย PM 2.5 จาก กทม. หรือเชียงใหม่ไปยังจุดที่ผลิตน้ำมันถ่านหินเท่านั้น แต่ PM 2.5 ทั้งประเทศก็ยังอยู่ไม่ได้หายไป”
ดังนั้นต้องบูรณาการทั้ง 3 เรื่องไว้ในนโยบายเดียวกันแยกกันไม่ได้ คือ การแก้ปัญหาควันพิษ PM 2.5, รถ EV และนโยบายพลังงาน แยกกันไม่ได้เพราะสิ่งที่จะเกิดผลกระทบต่ออุตสาหกรรม
“ถามว่าตัวเองตอนนี้อยากฝากอะไรกับรัฐบาลใหม่ สิ่งที่อยากได้จริง ๆ คงเป็นเรื่องความต่อเนื่อง พูดและทำ ประชาชนกับนักธุรกิจต้องการเห็นสิ่งนี้ อย่าลืมว่าเราเลือกคุณจากนโยบายที่หาเสียง ถ้าไม่ทำตามนั้นก็เป็นเรื่องผิดหวังอย่างแรง และคุณกำลังกลืนน้ำลายตัวเอง”
- บิ๊กธุรกิจชี้โจทย์รัฐบาลใหม่ ปฏิรูปเกษตร-SME-รีสกิลแรงงาน
- กระทิง-เรืองโรจน์ พูนผล : รัฐบาลใหม่ต้องสร้างความหวังให้ประชาชน
- สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ TDRI : ประเทศจะดี เริ่มที่ประชาธิปไตยและนโยบายสาธารณะ
- เลือกตั้ง 66 : บรรยง ชี้ผู้นำใหม่ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ-ฉากทัศน์รัฐบาล 2 ขั้ว
- ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร MFEC : รัฐต้องช่วย SME โต แล้วประเทศไทยจะโต