ปูพรม 2 พันสถานีชาร์จอีวี “OR-เซเว่น-เอ็มจี” ชิงเค้ก บางจากลุย รง.แบตเตอรี่

เปิดแผนบิ๊กธุรกิจตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้า EV ปูพรม 2,000 สถานี หลังรัฐเคาะเร่งผลิตรถ EV ให้ได้ 100% 18 ล้านคัน ในปี 2578 ยักษ์น้ำมัน OR ลุย 300 สถานีใน 2 ปี ค่าย EA ผนึก บิ๊กซี-เซเว่นฯ-ACT ปักหมุด 500 สาขา เดลต้าฯ จับมือเดอะมอลล์-มิตซูฯ ด้านบางจากมองข้ามชอตดึง กฟภ.จับนักเดินทางทั่วประเทศ ชี้ชาร์จเต็ม 50 kW ค่าไฟแค่ 200 กว่าบาท ใช้เวลาไม่เกิน 40 นาที วอลโล่ประกาศปีนี้ เข็นปลั๊ก-อิน ไฮบริด 100%

รัฐบาลได้ตัดสินใจขับเคลื่อนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ในประเทศไทยอย่างจริงจัง ตามมติ คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (24 มี.ค. 2564) โดยมุ่งไปที่การเพิ่มสัดส่วนการผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็น 50% ภายในปี 2573 และขยับขึ้นเป็น 100% ภายในปี 2578 ตามเป้าหมายที่จะให้ประเทศไทยมีรถยนต์ไฟฟ้า 18.41 ล้านคัน

แบ่งเป็น รถยนต์นั่งและรถปิกอัพ 8.62 ล้านคัน, รถจักรยานยนต์ 9.33 ล้านคัน, รถบัสและรถบรรทุกอีก 0.458 ล้านคัน หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2563 ที่มีรถ HEV/PHEV จำนวน 186,272 คัน และรถ BEV จำนวน 5,685 คัน ด้วยการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการทุกค่ายมุ่งไปสู่การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้า EV โดยหนึ่งในกลไกสำคัญจะต้องขับเคลื่อนก็คือ สถานีอัดประจุไฟฟ้า หรือ EV Charging Station ที่เริ่มผุดขึ้นหลายร้อยแห่งในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานี้*

ภายใต้กฎหมายปัจจุบันกำหนดให้เพียง 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นผู้รับอนุญาตในฐานะ “ผู้ขายจำหน่ายไฟฟ้า” แต่ในทางปฏิบัติ ทั้ง 3 การไฟฟ้าได้จับมือกับพันธมิตรต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผู้ค้าน้ำมัน ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้แต่ผู้ประกอบการค้าปลีก ได้หันมาลงทุนพัฒนา “สถานีชาร์จ” ตามพื้นที่การให้บริการ

ยกตัวอย่าง พื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จะอยู่ในการดูแลของ กฟน. แต่ถ้าเป็นต่างจังหวัดจะเป็น กฟภ. โดยการลงทุนหัวชาร์จต่อสถานีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1-2 ล้านบาท มีรูปแบบหัวชาร์จทั้งแบบชาร์จเร็วและชาร์จปกติ เช่น AC, CCS, CHAdeMO ขึ้นอยู่กับแบรนด์รถ EV แต่ละค่าย

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สำรวจข้อมูลพบว่า ปัจจุบันมีคู่พันธมิตรสถานีชาร์จรวมกว่า 7 คู่สัญญา มีการลงทุนในอนาคตในเรื่องสถานีชาร์จเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 2,000 สถานี โดยคู่สัญญาเหล่านี้ ได้แก่ กฟน.กับ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) ร่วมกับค้าปลีกซึ่งมีทั้ง บิ๊กซี ซีพี ออลล์ และ ACT เป้าหมายของ EA ต้องการตั้งสถานีชาร์จให้ครบ 500 สถานี

ส่วน กฟผ.ผนึกกับปั๊มน้ำมันพีที ของค่าย PTG ตั้งเป้าเปิดสถานีชาร์จปีนี้ 13-15 สถานี และเพิ่มเป็น 50 สถานีในอนาคต ขณะที่ กฟภ.ได้ร่วมกับสถานีบริการน้ำมันบางจาก เฉพาะ กฟภ.เองมีเป้าหมายจะพัฒนาสถานีชาร์จเฟสแรก จำนวน 62 สถานี และทยอยให้ครบ 263 สถานี ส่วนบางจากมีเป้าหมายจะให้ครบ 56 สถานีภายในปีนี้ นอกจากนี้ กฟภ.ยังได้ผนึกกับบิ๊กธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์อย่าง DELTA ซึ่งยังได้ร่วมกับเดอะมอลล์ และบริษัทมิซูบิชิ มอร์เตอร์ส ขณะที่ค่าย OR น้องใหม่ในเครือ ปตท. มีเป้าหมายตั้งสถานีชาร์จจำนวน 30 สถานีในปีนี้ และเพิ่มอีก 300 สถานี ในระหว่างปี 2565-2566 ส่วนค่ายรถยนต์อย่าง MG มีเป้าหมายตั้งสถานีชาร์จจำนวน 500 สถานี

เดลต้าฯผนึกห้างตั้งสถานีชาร์จ

นายแจ็คกี้ จาง ประธานบริหาร บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA กล่าวว่า ตามแผนการลงทุนกลุ่มระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ที่ปัจจุบันคิดเป็นสัดส่วน 25% ของเดลต้าฯนั้น จะมุ่งไปสู่ธุรกิจพลังงานสะอาดอย่างแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า กับสถานีชาร์จ EV ล่าสุดเดลต้าฯได้พัฒนาหัวชาร์จแบบธรรมดา (normal charge) สำหรับรถยนต์ EV สำเร็จเรียบร้อยแล้ว และจะนำไปติดตั้งในห้างสรรพสินค้าหลัก ได้แก่ ห้างเซ็นทรัลเวิลด์ 6 เครื่อง, เดอะมอลล์ บางกะปิ 4 เครื่อง, เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน 3 เครื่อง, เดอะมอลล์ บางแค 3 เครื่อง, สามย่านมิตรทาวน์ 4 เครื่อง, อิมแพ็ค เมืองทองธานี 8 เครื่อง (4 โลเกชั่น) และเตรียมขยายไปยังห้างสยามพารากอน กับไอคอนสยาม เร็ว ๆ นี้

“อัตราการคิดค่าชาร์จไฟนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการ ChargeNow (สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า โครงการนี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2560 เป็นความร่วมมือกันระหว่างบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ประเทศไทย และบริษัท เดอะ ฟิฟท์ อีลีเม้นท์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด) และจะขึ้นอยู่กับการให้บริการของห้างต่าง ๆ ส่วน normal chage จะใช้เวลาชาร์จแต่ละครั้งอยู่ที่รุ่นรถยนต์อย่าง นิสสัน ลีฟ ก็ประมาณ 6-8 ชั่วโมง แต่บางห้างอาจมีร่วมรายการโปรโมชั่น เช่น ดูหนัง ช็อปปิ้ง ก็เอาไปเป็นส่วนลดการจ่ายอัตราค่าชาร์จไฟได้” นายจางกล่าว

อย่างไรก็ตาม DELTA มองว่า ทิศทางตลาดรถ EV ในประเทศไทยปัจจุบันนั้น “ยังช้า” เมื่อเทียบกับยุโรป หรือกับประเทศนอร์เวย์ ที่มีสัดส่วนการใช้รถไฟฟ้า EV สูงถึง 50% นอกจากนี้ บริษัทยังพัฒนาระบบ DC/DC ขึ้นมา ซึ่งจะทำหน้าที่เก็บไฟไว้สะสมในแบตเตอรี่รถยนต์ EV แต่เมื่อใดที่ต้องการสลับดึงไฟจากแบตเข้าไปใช้ในบ้าน หรือกำลังไฟเหลือมาก ขายกลับคืนให้การไฟฟ้าก็สามารถทำได้ “การจะทำให้รถไฟฟ้า EV ในประเทศไทยเดินไปได้นั้น รัฐบาลจะต้องให้สิทธิประโยชน์ที่จูงใจทั้งในส่วนของการลงทุนและสิทธิประโยชน์สำหรับประชาชนก็จะช่วยให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อรถ EV ได้ง่ายขึ้น” นายจางกล่าว

กฟภ.จับมือบางจาก

นายสมพงษ์ ปรีเปรม ผู้ว่าการ กฟภ. กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการผลิตและใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพื่อลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมตามเทรนด์ที่มีการใช้พลังงานสะอาดนั้น กฟภ.ประเมินว่า การใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เช่น หากใช้ไฟฟ้าขนาด 15 แอมป์ เท่ากับเปิดแอร์ 7-8 ชั่วโมง สถานีชาร์จก็จะต้องมีการใช้ไฟไม่ต่ำกว่า 80 แอมป์ หรือเทียบเท่ากับเปิดแอร์ 4-5 ตัว ทำงานพร้อมกัน ดังนั้น หากผู้ใช้จะติดตั้งเครื่องชาร์จไฟที่บ้านก็ต้องแยกมิเตอร์ออกจากมิเตอร์ไฟบ้าน

อย่างไรก็ตาม กฟภ.ได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานมาแล้ว 2 ปี โดยร่วมกับ บมจ.บางจากฯศึกษาและพัฒนาการตั้งสถานีชาร์จไฟ 3 เฟส โดยเฟสทดลอง (pilot project) เริ่ม 11 แห่ง ที่พระนครศรีอยุธยา, ชลบุรี, นครปฐม และหัวหิน ส่วนเฟส 2 จะตั้งสถานี PEA VOLTA ให้ครบ 62 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็น ร่วมกับบางจากจำนวน 56 สถานี ที่สำนักงาน กฟภ. 6 สถานี คาดว่าจะใช้งบประมาณลงทุน 220 ล้านบาท ครอบคลุมพื้นที่ภาคเหนือ-กลาง-อีสาน และภาคใต้ โดยจะขยายสถานีสุดท้ายจาก อ.หัวหิน ไปถึง จ.สงขลา ภายในเดือนกันยายน-ตุลาคมนี้ จากนั้นจะทยอยเพิ่มจำนวนให้ครบ 263 สถานี ใน 75 จังหวัด ในปี 2566

“การลงทุนเบื้องต้นเฉลี่ยสถานีละ 1-2 ล้านบาท ซึ่งเราลงทุนติดตั้งหัวชาร์จใน 1 ปั๊ม มี 2 ตู้ 5 หัวชาร์จ เป็น AC, CCS, CHAdeMO รองรับรถทุกประเภท สามารถชาร์จได้พร้อมกัน 3 คัน ซึ่งผลตอบแทนจากการลงทุนไม่มีมากนัก ตอนนี้เฉลี่ยมีรถเข้าชาร์จวันละ 2-3 คัน แต่ทางปั๊มบางจากได้ช่วยสนับสนุนค่าเช่าฟรี 3 ปี ซึ่งเราก็อยากจะขยายฟรีค่าเช่าไปจนถึงปีที่ 5 เพื่อกระตุ้นตลาดรถ EV มากขึ้น” นายสมพงษ์กล่าว

ทั้งนี้ อัตราค่าใช้จ่ายถือว่า “คุ้มค่ามากสำหรับผู้ใช้” เพราะการชาร์จรถ 50 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kW) ถ้าชาร์จช่วงออฟพีกตั้งแต่ 22.00-09.00 น. ค่าไฟหน่วยละ 4.15 บาทต่อหน่วยชาร์จ 1 รอบ แค่ 120 บาท ใช้เวลา 40 นาทีวิ่งต่อได้ แต่หากชาร์จในช่วงพีกเวลาหลัง 09.00-21.00 น. ค่าใช้ไฟ 7.15 บาทต่อหน่วย หรือ 210 บาท

อย่างไรก็ตาม PEA มีแผนพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA เฟสแรกให้ได้ 62 แห่งบนเส้นทางสายหลัก โดยในวันนี้ได้ร่วมกับบางจาก เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า PEA VOLTA 15 แห่ง จากเดิมที่เปิด 17 แห่ง รวมเป็น 32 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคที่สนใจรถยนต์ EV ว่าสามารถเดินทางโดยใช้รถ EV ได้ทั่วประเทศ ทั้งภาคเหนือ กลาง อีสาน และภาคใต้ นอกจากนี้ กฟภ.ยังได้พัฒนาแอปพลิเคชั่นบริการผ่าน PEA VOLTA Application บนสมาร์ทโฟนและแท็บเลต เพื่อให้ผู้ใช้สามารถค้นหาตำแหน่งสถานีและนำทางไปยังสถานีได้อย่างแม่นยำและไม่มีสะดุด ทั้งยังสามารถตรวจสอบสถานะสถานีอัดประจุไฟฟ้า พร้อมทั้งผู้ใช้ยังชำระค่าบริการ อัดประจุไฟฟ้า ผ่านระบบการเติมเงินได้อย่างมั่นใจ ปลอดภัย และรวดเร็ว เพราะเป็นหัวจ่ายแบบชาร์จเร็ว

บางจากทำ รง.แบตเตอรี่

ด้าน นายชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บางจาก คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า บางจากจะร่วมติดตั้งจุดบริการ EV Charging Station กับ กฟภ. ในสถานีบริการน้ำมันบางจาก จะเปิดให้บริการ 56 สาขาภายในไตรมาส 2 ปีนี้ บนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตรโดยประมาณ ครอบคลุมทั่วประเทศรองรับรถไฟฟ้า EV หลากหลายรุ่น และหลากหลายแบรนด์

“เรามองว่าดีมานด์การใช้หลักน่าจะมาจากคนที่ขับรถทางไกลเกิน 300 กม. หรือขับมาต่างจังหวัดมากกว่า ส่วนคนที่ใช้ในกรุงเทพฯ ปริมณฑล น่าจะติดตั้งเครื่องชาร์จที่บ้านได้ เพราะวิ่งไม่เกิน 300 กม.อยู่แล้ว ตอนนี้ที่คนยังไม่กล้าซื้อรถ EV เพราะคนที่จะออกมาต่างจังหวัดกลัวไม่มีจุดชาร์จ ดังนั้นจึงเลือกรถ EV มาใช้เป็นรถคันที่สอง แทนการเป็นรถคันแรก แต่ความร่วมมือกับ PEA จะช่วยสร้างความอุ่นใจให้ผู้ใช้รถ EV ว่า ทุก 100 กม.จะมีจุดชาร์จ ซึ่งเราคำนวณว่าคนขับรถสัก 100 กม.ก็น่าจะเมื่อย และอยากแวะเข้าห้องน้ำ หรือจิบกาแฟก่อน ดังนั้น การติดตั้ง EV charging station เป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย greenovative destination สำหรับนักเดินทาง” นายชัยวัฒน์กล่าว

นอกจากนี้ บางจากยังมีแผนขยายการลงทุนโรงงานผลิตแบตเตอรี่รถยนต์ EV ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขณะนี้กำลังรอให้มีการประกาศมาตรฐานแบตเตอรี่ที่จะใช้ก่อน เชื่อว่าหากรัฐบาลกำหนดออกมาชัดเจนจะส่งเสริมให้เกิดการลงทุนมากขึ้น ประกอบกับปัจจุบันมีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ EV ที่หลากหลายมากทั้งยุโรป-ญี่ปุ่น ซึ่งผลิตกันคนละแบบ หากมีมาตรฐานก็จะสร้างความมั่นใจได้

OR ลุย 300 สาขาแถมจุดซ่อม

นางสาวจิรพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR กล่าวว่า เตรียมพร้อมในการลงทุนสถานีชาร์จ EV แม้กฎหมายจะให้ได้แค่การไฟฟ้า 3 การไฟฟ้าขายไฟได้เท่านั้น แต่ธุรกิจนี้เป็น 1 ในแผนการลงทุนของ OR เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตในอนาคต โดยขณะนี้ OR ลงทุนสถานีชาร์จในกรุงเทพฯและปริมณฑลจำนวน 30 สาขา และจะเพิ่มเป็น 100 สาขาในสิ้นปีนี้ ส่วนปี 2565-2566 จะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จอีก 300 แห่ง โดยจะใช้ตัวเมืองกรุงเทพฯ ปริมณฑล เป็นหลัก ด้านงบประมาณต่อสถานีอยู่ที่ 1.5-2.0 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังได้ปรับให้ร้าน FiT Auto เป็น ecosystem ให้บริการซ่อมเบารถไฟฟ้า และจัดทำแอปพลิเคชั่น EV Station เพื่อหาสถานี โดยจะบอกได้ว่าอีกกี่นาทีถึงสถานีบริการ EV และเป็นคิวที่เท่าไร

“ถามว่า รถไฟฟ้า EV มา เรากังวลไหม ก็เป็นความกังวล แต่เราได้เตรียมความพร้อมไว้แล้ว คือ สถานีชาร์จในกรุงเทพฯและปริมณฑล ขณะนี้มี 30 สาขา แม้ว่ากฎหมายจะยังไม่ได้ให้คนอื่นขายไฟได้ แต่ให้เฉพาะ 3 การไฟฟ้าก็ตาม สถานีชาร์จของ OR จะรองรับทั้งนอร์มอลชาร์จและควิกชาร์จ ปัจจุบันรถ EV มีควิกชาร์จและราคาเริ่มถูกลง ประมาณคันละล้านกว่า OR ก็เลยลงควิกชาร์จเป็นหลัก และการติดตั้งไม่ต้องรื้อเลย์เอาต์ สังเกตด้านซ้ายเวลาเข้าสถานีบริการน้ำมันของเราจะเห็นว่า เป็นพื้นที่โล่งที่ยังต่อยอดทางธุรกิจได้ ปัจจุบัน OR ยังไม่มีรายได้จากสถานีชาร์จ เพียงแต่ขอมีบัตรบลูการ์ด ไปเก็บข้อมูล ซึ่งก็ตรงกับที่เราคาดการณ์ว่า คนเข้าปั๊มแล้วจะใช้เวลาอยู่ในปั๊ม 20-25 นาที เติมน้ำมันแค่ 4 นาที เวลาที่เหลือก็จะเป็นการไปจับจ่ายใช้สอยที่เป็น nonoil พอมีรถไฟฟ้า EV ใช้ควิกชาร์จจะใช้เวลา 20 กว่านาที ก็ลงไปจับจ่ายใช้สอยในสถานีบริการได้เช่นกัน” นางสาวจิรพรกล่าว

PTG ชิมลาง 200 ล้าน

ก่อนหน้านี้ นายพิทักษ์ รัชกิจประการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ก็ได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดตัวสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT โดยใช้ระบบการชาร์จไฟแบบ DC fast charge ที่สามารถจ่ายไฟได้ 120 kW ภายในเวลา 15-30 นาที และยังมีการชาร์จแบบ AC normal charge ที่สามารถชาร์จและรองรับรถยนต์ EV ได้ทุกค่าย โดยในปีนี้ PTG มีเป้าหมายจะขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้า EleX by EGAT ให้ได้ 13-15 สถานี แต่อนาคตหากการใช้รถ EV เติบโต ความต้องการใช้เพิ่มขึ้น PTG ก็พร้อมขยายจำนวนสถานีชาร์จเพื่อรองรับ โดยเป้าหมายแรก 50 สถานี หรือ 100-150 กม. จะต้องมีสถานีให้บริการ คาดจะใช้เงินลงทุนประมาณ 200 ล้านบาท

ค่ายวอลโว่มาแรง

แหล่งข่าวจากค่ายรถยนต์วอลโว่กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายค่ายที่ลงทุนพัฒนารถยนต์ปลั๊ก-อิน ไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% ในส่วนของ ค่ายวอลโว่ ปีนี้มีการประกาศไลน์การผลิตเป็นรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด 100% คือไม่มีการผลิตเครื่องยนต์สันดาป โดยวอลโว่จะใช้ฐานการประกอบรถปลั๊ก-อิน ไฮบริด ที่มาเลเซีย เป็นฮับเพื่อส่งออกมาขายที่ประเทศไทย-สิงคโปร์-ฟิลิปปินส์ และตลาดอื่น ๆ และที่สำคัญ ปีนี้วอลโว่มีการเปิดจองรถไฟฟ้า 100% ในงานมอเตอร์โชว์ โดยรถยนต์ EV 100% รุ่น XC 90 จะประกอบจากฐานผลิตที่จีน ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสูง แล้วส่งมอบให้ลูกค้าได้ในเดือนสิงหาคม

สำหรับประเภทรถที่ได้เริ่มทำตลาดแล้วอย่างปลั๊ก-อิน ไฮบริด จะใช้แบตเตอรี่ขนาด 11.6 kW ซึ่งจะใช้เวลาชาร์จจากหัว AC นาน 2.30 ชม. ส่วนถ้าเป็นรถยนต์ไฟฟ้า EV 100% ที่ใช้ขนาดแบตเตอรี่ 11.4 kW ใช้หัว DC ชาร์จนาน 12 ชั่วโมง แต่หากชาร์จจากหัว AC จะใช้เวลาประมาณ 40 นาที โดยรถยนต์ล่าสุดรุ่น XC 90 ใช้แบตเตอรี่สูงกว่าคือ ประมาณ 78 kW ทั้งนี้ แบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าทุกรุ่นยังใช้แร่ลิเทียมอยู่ โดยปัจจุบันค่ายวอลโว่มีการรับประกันแบตเตอรี่ 8 ปี หรือระยะ 150,000 กม. แต่จากข้อมูลการทดลองอายุการใช้งานพบว่า แบตเตอรี่สามารถใช้ได้ถึง 10 ปี หรือประมาณ 9,000 รอบชาร์จ ส่วนการซ่อมนั้นผู้ใช้สามารถเปลี่ยนทั้งก้อน ซึ่งมีราคาประมาณ 300,000-400,000 บาท หรือเปลี่ยนเฉพาะเซลล์ที่เสียได้ เช่น ปกติมี 6 เซลล์ เซลล์ตัวไหนเสียก็เปลี่ยนตัวนั้น

สำหรับการติดตั้งวอลล์ชาร์จที่บ้าน ราคาหัวชาร์จ AC จะอยู่ที่ราว ๆ 50,000-60,000 บาท แต่การใช้เวลาชาร์จเร็วหรือนานก็ขึ้นอยู่กับแบตเตอรี่รถยนต์แต่ละรุ่นด้วย