รถยนต์อีโคคาร์ราคาแพงขึ้น 3 หมื่น เหตุโครงสร้างภาษีใหม่

ภาพจาก Pixabay

จับตายกเครื่องโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ สะเทือนราคา “อีโคคาร์” ต้นทุนอาจแพงขึ้น 30,000 บาทต่อคัน

วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565 แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาลเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นอกจากมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติหลักการไปเมื่อวันที่ 15 ก.พ.ที่ผ่านมานั้น  กระทรวงการคลังยังเสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ทั้งหมด ซึ่งจะมีผลกระทบต่ออัตราภาษีรถยนต์สันดาป เป้าหมายเพื่อลดการปล่อย CO2 รวมทั้งมีแผนเลิกส่งเสริมอีโคคาร์ โดยมีเวลาให้ผู้ประกอบปรับตัว และจะนำเสนอเข้า ครม.เร็วๆนี้

แหล่งข่าวระดับบริหาร ค่ายรถยนต์รายใหญ่ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงโครงสร้างภาษีใหม่ของรัฐบาล ว่า เป็นนโยบายที่ดีในแง่ของการสนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นโดยมีการนำค่าการปล่อยไอเสียมาเป็นตัวกำหนด ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมความพร้อมในเชิงของการพัฒนาสินค้ามาอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะรถยนต์อีโคคาร์ ที่จะต้องมีการปรับเพิ่มภาษีจากปัจจุบันหากไม่สามาถไปพัฒนาไปสู่ยานยนต์ที่ใช้มอเตอร์มาช่วยในการขับเคลื่อน ก็จะมีการปรับเพิ่มภาษีอีก 6-8%  หรือหากคิดเป็นมูลค่าประมาณ 30,000 บาท ที่ทำให้ราคาอีโคคาร์ต้องปรับขึ้น

“โดยส่วนตัวมองว่าลูกค้าที่จำเป็นต้องใช้รถในชีวิตประจำวันก็ยังต้องใช้อยู่  แต่ภาระราคาที่เพิ่มขึ้นจากภาษีใหม่ นั้น จะตกเป็นของผู้บริโภค เพราะจากนี้ไปภาพของการทำแคมเปญโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอาจจะต้องถูกลดทอนลงไป เนื่องจากภาษีที่เพิ่มขึ้น” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

“หากเปรียบเทียบกับรถยนต์อีวีที่ได้รับแพ็กเกจ น่าเป็นการช่วยสนับสนุนคนมีเงินหรือไม่ เพราะรัฐช่วยสนับสนุน ถึง 150,000  บาท  ซึ่งถามว่า แล้วลูกค้าคนทั่วไปจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง การเอาเงินของคนทั้งประเทศมาสนับสนุนตรงนี้ นักลงทุนที่เข้ามาเขามาเพื่อได้ประโยชน์จากบ้านเราแล้วเขาก็ไปต่างจากเรื่องราคาน้ำมันแพงที่กว่ากองทุนน้ำมันฯจะอนุมัติสนับสนุนต้องใช้เวลา”

แหล่งข่าวยังให้ความเห็นด้วยว่า ในฐานะของผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถอีโคคาร์ อย่างไรก็ต้องเดินหน้าผลิตรถไปจนกว่าจะคุ้มทุน หรือมีการพัฒนาสินค้าใหม่ ๆ ออกมาทดแทน ซึ่งโครงสร้างภาษีใหม่นี้ทำให้ราคารถแพงขึ้นประมาณ 30,000 บาท ก็ยังพอรับได้แต่ต้องปรับกลยุทธ์ด้านราคา โปรโมชั่นให้สมดุลในอนาคต

ทั้งนี้ มติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เรื่องแนวทางการดำเนินงานส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ตามผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการผลิต การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ ให้เป็นไปตามเป้าหมายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษ (Zero Emission Vehicle : ZEV) ของยานยนต์ทุกประเภท

ระบุว่า เป็นการกำหนดทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนทั้งในส่วนของมาตรการทางภาษี และไม่ใช่ภาษี โดยเป็นมาตรการระยะสั้น ระหว่างปี 2565-2568 โดยในช่วง 2 ปีแรก (ปี 2565-2566) มาตรการสนับสนุนจะให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศอย่างกว้างขวางโดยเร็ว

ครอบคลุมทั้งการนำเข้ารถยนต์/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าสำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) และกรณีรถยนต์/รถยนต์กระบะ/รถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตในประเทศ (CKD) ผ่านการยกเว้นหรือลดอากรนำเข้า ลดอัตราภาษีสรรพสามิต และ/หรือให้เงินอุดหนุนตามเงื่อนไขที่กำหนด ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มอุปสงค์ยานยนต์ไฟฟ้าในภาพรวม สร้างแรงจูงใจและดึงดูดการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของผู้ประกอบการในไทย

มาตรการดังกล่าว ทำให้ราคารถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น (อีวีญี่ปุ่น) ราคาต่ำกว่ารถยนต์สันดาป เนื่องจากแพ็กเกจภาษีและเงินอุดหนุนการใช้รถอีวี สร้างแรงจูงใจในการใช้รถอีวีเพิ่มขึ้นอย่างมาก ผู้ซื้อรถจะได้ทั้งเงินอุดหนุน 1.5 แสนบาท สำหรับรถที่ราคาขายปลีกไม่เกิน 2 ล้านบาท ส่วนผู้ประกอบการต้นทุนก็ต่ำลง ทั้งอากรขาเข้าที่บางค่ายเป็นศูนย์ โดยเฉพาะค่ายญี่ปุ่นที่ลงมาเท่ากับค่ายจีน และยังได้ลดภาษีสรรพสามิตอีก 6% (เดิม 8% เหลือเพียง 2%)