ก้าวที่ย่างเดิน 21 ปีศาลปกครอง สิทธิใกล้ตัวแต่คนไม่รู้ คดี “ละเมิด-เพิกถอน”

ชาญชัย แสวงศักดิ์ ประธานศาลปกครองสูงสุด
ชาญชัย แสวงศักดิ์
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ธนวัฒน์ บุญรวม

30 กันยายน 2565 ศาลปกครองสูงสุดจะมีการส่งไม้ต่อตำแหน่งประธานศาลในท่วงทำนองคนเก่าไปคนใหม่มา “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “ชาญชัย แสวงศักดิ์” ประธานศาลปกครองสูงสุดคนปัจจุบัน ซึ่งมีกำหนดครบวาระดำรงตำแหน่งในปีนี้ เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ล้ำค่าในช่วง 21 ปีที่ผ่านมาของศาลปกครอง

Q : ขอทราบกรณีศึกษาคดีทางปกครองในรอบ 21 ปีที่ผ่านมา

ผมอยากจะยกตัวอย่างคดีปกครองโดยแท้ คือคดีปกครองที่ผู้ฟ้องคดีเอาคำสั่งทางปกครองมาฟ้องต่อศาล แล้วก็ให้มีการเพิกถอนและเยียวยา เป็นคดีที่เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชน และผมเป็นเจ้าของสำนวน เป็นคดีที่ผู้ฟ้องชื่อ คุณถวิล เปลี่ยนศรี เป็นเลขาฯ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ)

เหตุผลที่เอาคดีนี้มาเนื่องจากเป็นคดีที่แสดงให้เห็นว่าศาลปกครองเป็นที่พึ่งของข้าราชการ เป็นคดีที่เจอฝ่ายการเมือง หากศาลปกครองคุ้มครองข้าราชการไม่ได้ ประเทศก็ไปไม่รอด ฝ่ายการเมืองจะใช้อำนาจอะไรข้าราชการต้องทำตาม ในทางปฏิบัติมักจะเป็นเช่นนั้น

ในความเป็นจริงฝ่ายการเมืองเอายังไง ข้าราชการจำนวนหนึ่งนะ ผมไม่กล้าบอกว่าเป็นส่วนใหญ่หรือเปล่า ก็อยู่รอดปลอดภัย ให้ทำอะไรก็ทำ คดีก็เกิดว่ามันไม่ตรงกันระหว่างฝ่ายการเมืองกับฝ่ายปฏิบัติการ

โดยกฎหมาย โดยบริบทข้าราชการมีกฎหมายคือวินัยข้าราชการที่จะต้องทำตามนโยบายรัฐบาลหรือมติคณะรัฐมนตรี เพราะฉะนั้นในข้อกฎหมายฝ่ายการเมืองเขาเหนือกว่า

ทีนี้ก็จะมีแนวคิดของฝ่ายการเมืองที่ผ่านมาว่าเมื่อฉันเป็นนายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรีอะไรก็แล้วแต่ ฉันมีอำนาจเต็มที่ จะใช้อำนาจโยกย้ายแต่งตั้งข้าราชการอย่างไรก็ได้ตามใจชอบ ฝ่ายการเมืองมีความรู้สึกเช่นนั้น

ก็นำมาสู่คดี คุณถวิล เปลี่ยนศรี ที่ผู้ฟ้องคดีดำรงตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งเป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี เทียบเท่าปลัดกระทรวง ท่านก็ทำหน้าที่นี้ในสมัยรัฐบาลท่านอภิสิทธิ์ (เวชชาชีวะ) เป็นนายกรัฐมนตรีซึ่งมีการชุมนุม ท่านก็เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินการกับผู้ชุมนุม

แล้วพอมีการเปลี่ยนขั้วการเมืองที่นายกรัฐมนตรีเป็นท่านยิ่งลักษณ์ (ชินวัตร)

ผมเข้าใจว่าพรรคการเมืองไหนก็แล้วแต่ที่เป็นรัฐบาล ก็คงรู้สึกว่าต้องเปลี่ยนตัวผู้บริหาร และโดยธรรมเนียมปฏิบัติตำแหน่ง 2 ตำแหน่งรัฐบาลจะเปลี่ยนตัวเป็นคนที่เขาไว้ใจ คือ 1.เลขาธิการ สมช. เป็นตำแหน่งที่รู้ความลับทางความมั่นคงของชาติ พูดตามภาววิสัยใครมาเป็นรัฐบาลก็จะเปลี่ยนตัวผู้ดำรงตำแหน่งนี้ กับ 2.ตำแหน่ง ผบ.ตร. (ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) ก็เช่นเดียวกัน ใครมาเป็นรัฐบาลก็อยากได้ ผบ.ตร.ที่พูดรู้เรื่อง คุยกันรู้เรื่อง

คดีนี้ตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในสำนวน เมื่อคุณยิ่งลักษณ์เข้ารับตำแหน่งท่านก็มีอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน นายกรัฐมนตรีมีอำนาจสั่งให้ราชการทั่วประเทศมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี โดยมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1.โอนขาดเลย พ้นจากตำแหน่งเดิม 2.โอนช่วย ดำรงตำแหน่งเดิมแล้วขอตัวมาช่วยราชการ

โดยข้าราชการจะโดนแบบที่ 2 ก่อนเพราะสามารถทำได้ทันที หน้าที่เดิมก็ไม่ต้องทำ ซึ่งคุณถวิลโดนกรณีนี้คือโอนมาช่วยราชการ

แล้วพอมีคำสั่งนี้ จะมีการดำเนินการตามกฎหมายเนื่องจากเป็นข้าราชการระดับสูง มีการเสนอคณะรัฐมนตรีให้มีการโอนขาดเป็นขั้นตอนที่ 2 โอนจากเลขาธิการ สมช. ที่เป็นตำแหน่งระดับสูง ไปเป็นตำแหน่งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นตำแหน่งระดับปฏิบัติการ

ทั้งนี้ 2 หน่วยงานราชการที่อยู่ภายใต้นายกรัฐมนตรี ตำแหน่งเดิมเป็นหัวหน้าส่วนราชการ โอนไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ระดับ C11 แต่ตำแหน่งนี้เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของเลขาธิการสำนักนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นตำแหน่งหัวหน้าส่วน แม้ว่าระดับตำแหน่งจะเท่ากัน แต่เป็นการย้ายจากหัวหน้ามาเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา

คุณถวิลเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ก็ยื่นฟ้องบอกให้เยียวยา โดยขอให้เพิกถอนคำสั่งทางปกครองในคำสั่งที่ให้ไปช่วยราชการ

เหตุผลในการฟ้อง คือ การกระทำพิพาทมี 2 เรื่องคือ คำสั่งที่ให้โอนช่วยและมติ ครม. ที่เป็นคำสั่งให้โอนขาด ในบรรยายฟ้องคุณถวิลก็ได้ยกคำสั่งไม่ชอบด้วยกฎหมายออกมา 3 ข้อ 1.เรื่องการโอนย้ายข้ามขั้นตอน 2.เจตนารมณ์ในการโอนย้ายไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ใช้อำนาจผิดวัตถุประสงค์

คุณถวิลบรรยายฟ้องในหนังสืออย่างเป็นทางการว่า ต้องการคุณถวิลมาเป็นที่ปรึกษาในด้านความมั่นคง แต่เหตุผลที่แท้จริงคือต้องการให้ตำแหน่งเลขาฯ สมช.ว่างลง แล้วก็จะโอนย้ายผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (พลตำรวจเอกวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี) ในขณะนั้น ให้มาดำรงตำแหน่งเลขาฯ สมช.แทน เพื่อให้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์) ซึ่งเป็นพี่ชายของภรรยาคุณทักษิณ ซึ่งท่านนี้โดยอาวุโสท่านโดนข้ามมาก่อนแล้ว

ท่านก็เป็นรอง ผบ.ตร.ในสมัยรัฐบาลก่อนหน้าที่เป็นคนละขั้ว ท่านก็ไม่ได้ดำรงตำแหน่ง ผบ.ตร. ก็ข้ามมาเป็นท่านวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี พอรัฐบาลคุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรเข้ามาก็อยากจะคืนตำแหน่งให้ท่าน แต่ว่าตำแหน่ง ผบ.ตร. มีท่านวิเชียรนั่งอยู่ ก็ต้องให้เก้าอี้นี้ว่าง ในคำบรรยายฟ้องเขียนแบบนี้ว่าเป็นเรื่องสามเส้า

3.การที่นายกรัฐมนตรีใช้อำนาจในการโอนย้ายโดยไม่ชอบ แล้วคณะรัฐมนตรีก็เห็นชอบก็เป็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบ

ศาลปกครองชั้นต้นพิจารณาแล้ว ไม่ได้หยิบเอาเหตุที่ว่าผิดเจตนารมณ์ขึ้นมาพิจารณา แล้วก็ไม่ได้ไต่สวน ในรายละเอียดที่เขาบรรยายไว้ มีรองนายกรัฐมนตรี (ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง) ซึ่งคุณถวิลส่งหลักฐานมาเลยว่าคุณเฉลิมให้สัมภาษณ์เช้า กลางวัน เย็น ว่าจะต้องย้ายคุณวิเชียร พจน์โพธิ์ศรี เพื่อทำให้ตำแหน่งว่าง

คุณถวิลก็อ้างตรงนี้มาเป็นหลักฐานในศาลชั้นต้น แต่ศาลชั้นต้นไม่ได้หยิบเหตุผลข้อนี้มาพิจารณา และไม่ได้ไต่สวน

ศาลชั้นต้นหยิบเอา 2 เหตุคือ โอนย้ายผิดขั้นตอน และใช้ดุลพินิจไม่ชอบมาพิพากษา ฝั่งนายกรัฐมนตรีก็อุทธรณ์ว่าคำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่ถูกต้อง เพราะขั้นตอนการโยกย้ายถูกต้องแล้ว และการใช้ดุลพินิจก็ชอบด้วยกฎหมายแล้ว

ในคำอุทธรณ์เขียนว่า ศาลปกครองมาก้าวล่วงดุลพินิจของนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งมีความชอบธรรมที่จะแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการเพื่อสนองนโยบายได้ การตัดสินเช่นนี้เป็นการก้าวล่วงอำนาจของนายกรัฐมนตรีในการบริหารงานบุคคล ที่จะจัดคนที่เห็นว่าเหมาะสม

พอคดีนี้มาถึงศาลสูง (ศาลปกครองสูงสุด) เผือกร้อนเลย แถว ๆ นี้ (โซนแจ้งวัฒนะ) ตอนนั้นกำลังจะเป่านกหวีดกันอยู่เลย (ม็อบชัตดาวน์กรุงเทพฯ) ปิดล้อมหมด กดดัน คดีนี้ไม่ว่าผลออกมาอย่างไรจะมีผลกระทบทางการเมืองอย่างแน่นอน

เมื่อเป็นอย่างนี้ ผมเป็นหัวหน้าองค์คณะอยู่พอดี รับเผือกร้อนไว้เป็นเจ้าของคดีเอง ไม่โยนคดีออกจากตัว แล้วผมก็บอกว่าต้องรีบพิจารณาโดยเร็วที่สุด เพราะฝ่ายอุทธรณ์คือฝั่งนายกรัฐมนตรีและแพ้ในศาลชั้นต้น คุณถวิลชนะคดี คุณถวิลแก้คำอุทธรณ์ แก้แค่บอกว่าขอให้ศาลสูงพิจารณาโดยเร็ว ด้วยเหตุที่ว่าท่านกำลังจะเกษียณ

ผมก็นำความเห็นเรียนองค์คณะตุลาการว่า การโอนย้ายไม่ได้ผิดขั้นตอน การโอนย้ายชอบด้วยกฎหมาย ศาลชั้นต้นเข้าใจผิด เหตุแห่งความไม่ชอบด้วยกฎหมาย 2 เหตุที่ศาลชั้นต้นยกขึ้นมา เหตุแรกก็ต้องตกไป เหตุที่ 2 เหลือใช้อำนาจดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ทั้งนี้ อำนาจมีอยู่ 2 แบบคือ “อำนาจผูกพัน” เช่น จดทะเบียนสมรสเป็นอำนาจผูกพัน ถ้ามีคนไปขอจด เจ้าพนักงานหน้าที่ปฏิเสธไม่ได้ จะไปหวังดีบอกว่าผู้ชายไม่ดีไม่ให้จดไม่ได้

แบบที่ 2 “อำนาจดุลพินิจ” คือ อำนาจให้เจ้าหน้าที่เลือกจะสั่งการยังไงก็ได้ ซึ่งรวมถึงอำนาจของผู้บังคับบัญชาในการแต่งตั้งโยกย้าย ซึ่งอำนาจดุลพินิจกฎหมายจัดตั้งศาลปกครองบัญญัติให้ผู้ฟ้องคดีมีสิทธิฟ้องให้โต้แย้งอำนาจดุลพินิจได้ว่า เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย

แต่คำอุทธรณ์ของนายกรัฐมนตรีมาบอกว่าศาลปกครองไม่มีอำนาจ ผมก็เห็นว่าเป็นความจำเป็นที่จะต้องเขียนความเห็นที่เป็นคำพิพากษาต่อไปว่า ศาลปกครองมีอำนาจที่จะตรวจสอบการใช้อำนาจที่เป็นดุลพินิจได้

และผมก็ถือโอกาสวางหลักกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาคดีประเภทเช่นนี้ คดีที่โต้แย้งเรื่องแบบนี้มีมาหลายคดี แต่ว่าคำพิพากษาของศาลปกครองไม่ได้มีการอธิบายว่าการใช้ดุลพินิจโดยชอบด้วยกฎหมายเป็นอย่างไร มีแค่บอกว่าที่ฟ้องมาการใช้อำนาจดุลพินิจที่ไม่ชอบนั้นไม่ชอบ แต่ไม่ได้บอกมาว่าไม่ชอบนั้นเป็นอย่างไร

ผมเลยได้ถือโอกาสวางหลักกฎหมายว่าการใช้อำนาจดุลพินิจที่ชอบเป็นอย่างไร ในคำพิพากษานี้ผมจึงได้อธิบายหลักตามทฤษฎีนะครับ ย่อความเป็นวลีที่จำง่าย ๆ ว่า การใช้ดุลพินิจที่ชอบด้วยกฎหมายต้องมีเหตุผลรองรับและอธิบายได้ หากไม่มีเหตุผลรองรับและอธิบายไม่ได้ คือไม่มีเหตุผลเลย หรือไม่มีคำอธิบายรองรับ ก็เป็นการใช้อำนาจดุลพินิจที่ไม่ชอบ ก็เท่ากับอำเภอใจ

ซึ่งองค์คณะก็เห็นด้วย ผมให้ข้อเท็จจริงอย่างนี้ การพิจารณาคำพิพากษาเหลือเหตุเดียวว่าการใช้ดุลพินิจชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลเห็นว่าถ้าใช้อำนาจดุลพินิจโดยไม่ชอบเพียงพอที่จะเพิกถอนคำสั่งนายกรัฐมนตรี และมติ ครม. ไม่ใช่เหตุผลเพียงหยุมหยิมข้อเดียวที่ต้องวินิจฉัย

เมื่อวางหลักไว้แล้วว่าการโอนย้ายข้าราชการระดังสูง กฎหมายระเบียบข้าราชการพลเรือน บอกว่า ครม.ต้องมีเหตุผล ตามที่ กพ. (กรรมการข้าราชการพลเรือน) กำหนด ปรากฏว่า กพ.ไม่เคยกำหนดเกณฑ์เลย เพราะว่า กพ.สังกัดอยู่ใต้นายกรัฐมนตรี ดังนั้น กพ.ไม่เคยออกเกณฑ์การโอนย้ายข้าราชการระดับ 10 ระดับ 11 ว่าต้องมีเหตุผลอะไร เพราะกฎหมายบอกว่าการโอนย้ายต้องมีเหตุผลตามที่ กพ.กำหนด ผมก็อ้างข้อกฎหมายนี้

แล้วตามข้อเท็จจริง ตามที่ท่านนายกฯยิ่งลักษณ์โอนย้ายคุณถวิลมาช่วยราชการก็ไม่มีการให้เหตุผล หรือการย้ายที่ผ่านคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีเหตุผล แต่ในขั้นตอนที่ได้มีการร้องทุกข์ก่อนมาฟ้องศาลปกครอง เป็นการร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม เมื่อมีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองให้เพิกถอนคำสั่งต้องมีการอุทธรณ์ร้องทุกข์ก่อน ซึ่งคุณถวิลก็ได้ทำ

พอนายกรัฐมนตรีโดนร้องทุกข์ จึงให้เหตุผลว่าคุณถวิลเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคง นายกฯมีนโยบายเรื่องความมั่นคง ต้องการให้มีที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญมาช่วยเหลือ มีการอธิบายด้วยว่าตำแหน่งเลขาธิการเป็นคนทำงาน แต่ตำแหน่งที่ปรึกษาเหมือนกับเป็นเสนาธิการ นี่คือเหตุผลที่ให้ทีหลัง ซึ่งศาลปกครองก็อนุโลม แม้ในชั้นการโอนย้ายไม่มีเหตุผลอะไรเลยก็ตาม

ศาลก็รับฟังและเข้าไปตรวจสอบ พบว่าโอนย้ายคุณถวิลแล้วไม่มีการมอบหมายงานให้ทำ และในทางกฎหมายมันกลับด้านกัน ตำแหน่งเลขาฯ สมช. เป็นตำแหน่งที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี และไม่ใช่ตำแหน่งปฏิบัติการด้วย แต่มีหน้าที่เสนอแนะนโยบาย

ส่วนตำแหน่งที่ปรึกษานายกฯ อยู่ภายใต้กำกับดูแลของสำนักเลขาฯนายกฯ จะไปเสนอนายกฯ โดยข้ามเลขาฯนายกฯไม่ได้ เมื่อตรวจสอบแล้วเหตุผลในทางกฎหมายหรือข้อเท็จจริงก็ฟังไม่ขึ้น เหตุผลไม่เป็นจริง จึงฟังได้ว่าไม่มีเหตุผลรองรับที่อธิบายได้ ที่จะเพิกถอนคำสั่งโอนย้ายข้าราชการที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนาม

ทำไมผมหยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นกรณีตัวอย่าง เพื่อให้เห็นว่าศาลปกครองเป็นที่พึ่งสำหรับประชาชนตัวเล็กตัวน้อย แล้วก็ข้าราชการ ซึ่งในระบบข้าราชการไทยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของฝ่ายการเมือง เมื่อไม่ได้รับความเป็นธรรมจากฝ่ายการเมืองแล้วมาฟ้องศาลปกครอง ถ้าศาลปกครองคุ้มครองเขาไว้ไม่ได้…จบเลยนะครับ

อย่างกรณีนี้เป็นกรณีศาลปกครองคุ้มครองข้าราชการ ดังนั้นข้าราชการต้องกล้าหาญที่จะลุกขึ้นมาต่อสู้

ข้อกฎหมายในคดีนี้ที่ทุกคนมองข้ามไปคือ อำนาจดุลพินิจจะชอบไม่ชอบต้องมีเหตุผลที่อธิบายรองรับ ในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดยอมรับว่าท่าน (นายกรัฐมนตรี) มีอำนาจในการแต่งตั้งโยกย้าย บริหารข้าราชการได้ถ้าท่านมีเหตุผลรองรับ ศาลไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้

สมมุตินะ ถ้าให้เหตุผลว่าคุณถวิล เปลี่ยนศรี กระด้างกระเดื่อง ไม่ทำตามนโยบาย ไม่สนองนโยบาย ใครมาเป็นนายกรัฐมนตรีจะขับเคลื่อนได้อย่างไร แต่ไม่มีการให้เหตุผลเช่นนี้เลย

Q : กรณีศึกษาคดีประชาชน

ถ้าเป็นคดีอื่นที่ชาวบ้านสามารถมาหาศาลปกครองเพื่อให้ช่วยคุ้มครองได้ ก็จะมีคดีประเภทที่ผู้ฟ้องคดีฟ้องว่าตนถูกหน่วยงานละเมิด ถ้าท่านทราบด้วยข้อกฎหมาย “ละเมิด” คือจงใจหรือประมาทเลินเล่อโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหาย ผู้เสียหายฟ้องเรียกค่าเสียหายเรียกว่าคดีละเมิด เช่นขับรถชนคน ฟ้องคดีอาญาก็ติดคุกไปไม่ได้อะไรเลย ถ้าฟ้องเป็นคดีละเมิดก็ได้ค่าเสียหาย

คดีละเมิดที่ทั้งอยู่และไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ถ้าไม่อยู่ในอำนาจศาลปกครอง ตามหลักกฎหมายคืออยู่ในอำนาจของศาลแพ่ง

ฉะนั้น คดีที่อยู่ในอำนาจศาลปกครองกรณีหน่วยงานละเมิดคือ 1.จะต้องเกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจทางปกครอง 2.ละเมิดอันเกิดจากการออกกฎ 3.ละเมิดจากการออกคำสั่ง 4.ละเมิดจากการละเลยไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามสมควร 5.ละเมิดจากการปฏิบัติหน้าที่อย่างล่าช้าเกินสมควร

เวลาราษฎรใช้ถนนหลวงดูแลโดยกรมทางหลวง ซึ่ง พ.ร.บ.ทางหลวงบัญญัติให้เป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง ที่จะบำรุงรักษาถนนและไหล่ทางให้อยู่ในสภาพใช้งานได้ดี ดังนั้นถ้าหากว่าถนนชำรุดบกพร่อง หรือมีการซ่อมแซมก่อสร้าง ขุดหลุม โดยไม่มีป้ายแจ้งเตือน มอเตอร์ไซค์ขับไปตกหลุมบาดเจ็บสาหัส หรือต้นไม้ล้มทับรถยนต์ มีผู้เสียหาย

กรณีอย่างนี้ผู้เสียหายถ้ามีความรู้ทางด้านกฎหมายมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลปกครอง ว่ากรมทางหลวงละเมิดจากการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ เพราะมีหน้าที่ต้องบำรุงรักษา ซึ่งเกิดอยู่ในชีวิตประจำวันของเรา ถ้ามีความรู้กฎหมาย สามารถฟ้องกรมทางหลวงได้ หรือถนนใน กทม. ก็ฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.)

การฟ้องคดีกรมทางหลวงฟ้องว่าคุณทำละเมิด ไม่ใช่การทำละเมิดในทางบวก แต่เป็นการละเมิดโดยละเลยจากการปฏิบัติหน้าที่ เป็นคดีที่สามารถฟ้องในชีวิตประจำวัน หากรู้กฎหมาย

หรือเรื่องบาทวิถี เดินตกท่อ พวกฝาท่อเปิดไว้ไม่ปิดแล้วตกลงไป เรื่องฝาท่อก็เป็นอำนาจของเจ้าพนักงานท้องถิ่นในเขตเทศบาลก็คือ นายกเทศมนตรี ในเขต กทม.ก็คือ ผู้ว่าราชการ กทม.

Q : กรณีลิฟต์คนพิการในสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส

กฎหมายคนพิการบัญญัติให้อาคารต่าง ๆ ต้องอำนวยความสะดวกให้คนพิการ เพราะเขาเดินไม่ได้ต้องนั่งรถเข็น แล้วบีทีเอสไม่มีลิฟต์ ศาลปกครองก็ตัดสินว่าเป็นสิทธิตามกฎหมายที่ต้องมี ถ้าไม่ทำก็ต้องชำระค่าเสียหาย

Q : คดีบีทีเอสที่ฟ้องค่าจ้างเดินรถจาก กทม.

ผมก็บริโภคข่าวสารเหมือนชาวบ้าน ตามความเข้าใจของผม เรื่องนี้ กทม.ไปมอบให้บริษัทกรุงเทพธนาคม (KT) ดำเนินการเรื่องบีทีเอส ซึ่ง KT มี กทม.เป็นเจ้าของ 99.98% ก็ไปจ้างบีทีเอสเดินรถ เมื่อเดินรถแล้วจะต้องชำระเงินในส่วนต่อขยาย แต่ก็ไม่ชำระ คดีก็ตรงไปตรงมา เมื่อคุณเป็นหนี้เขา คุณก็ต้องชำระ ถ้าคุณไม่ชำระเขาก็ต้องเอาคดีมาฟ้อง ข้อกฎหมายไม่ซับซ้อน

Q : คดีบีทีเอสฟ้อง กทม. เป็นสัญญาทางปกครอง ?

เขาฟ้องว่าผิดสัญญาคือ มีสัญญาทางแพ่งกับสัญญาทางปกครอง สัญญาทางปกครองใครเป็นคู่สัญญาก็ได้ ลักษณะต้องเข้า 1 ใน 4 ดังต่อไปนี้ 1.สัญญาสัมปทาน สัญญาจ้างเดินรถเป็นสัญญาประเภทนี้ 2.สัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะ จ้างบุคลากรภาครัฐเป็นแสน ๆ คนเป็นสัญญาแบบนี้ จ้างพนักงานมหา’ลัย จ้างบุคลากรภาครัฐ

3.สัญญาประเภทจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคคือ สิ่งที่เป็นถาวรวัตถุ เช่น ถนน อาคารโรงพยาบาล 4.สัญญาที่ให้แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ เช่น เหมืองแร่ ทำไม้

Q : ขอคำแนะนำภาคประชาชนและภาคผู้ประกอบการในการทำคดีทางปกครอง

ก็รู้สิทธิของตน รู้ว่าเรื่องอะไรฟ้องได้ไม่ได้ แล้วก็รู้วิธีพิจารณาคดีปกครอง ผมก็ให้ความมั่นใจได้ว่าศาลปกครองพร้อมให้ความยุติธรรม

Q : เรื่องระยะเวลาการพิจารณาคดี

ตั้งแต่ผมเข้ามารับตำแหน่งก็พยายามเร่งเรื่องระยะเวลาให้มันเร็วขึ้น แต่ผลที่ออกมายังไม่ได้ดั่งหวัง เรื่องภายในทำไปได้เยอะแล้ว แต่จำนวนคดียังไม่มากเท่าที่หวัง ท่านประธานคนต่อไป
(วรพจน์ วิศรุตพิชญ์) ท่านจะดำรงตำแหน่ง 2 ปี ท่านน่าจะทำได้อย่างต่อเนื่องกว่า

Q : เขตอำนาจศาลปกครองต้องปรับปรุงเพิ่มเติมอย่างไร เพื่อให้มีพัฒนาการต่อไปในอนาคต


ขณะนี้กฎหมาย (จัดตั้งศาลปกครอง) ก็ยังไปได้ดีอยู่ แต่อยู่ที่กระบวนการภายในมากกว่า