พลิกปูม BTS ฟ้อง กทม.-KT พัวพัน 6 สัญญา-ภาระหนี้ 3.5 หมื่นล้าน

7 กันยายน 2565 ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาคดีที่บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ยื่นฟ้องกรุงเทพมหานคร (กทม.) กับบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) จากกรณีค้างค่าจ้างตามสัญญาเลขที่ กธ.ส. 006/55

ที่มาที่ไป จุดเริ่มต้นเป็นคดีความอย่างเป็นทางการเริ่มต้นเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 โดยบีทีเอสซียื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ในยุคผู้ว่าราชการ กทม. ชื่อ “พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง” ล่าสุดใช้เวลา 1 ปี 2 เดือนกำลังจะมีคำตัดสินในยุคผู้ว่าราชการ กทม. คนที่ 17 “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์”

6 สัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ของ “BTS-บริษัท บีทีเอสกรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน)” บริษัทแม่ของ BTSC มีสัญญาที่เกี่ยวข้องกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งสิ้น 4 ฉบับ ได้แก่ 1.สัญญาสัมปทานระหว่าง BTSC และ กทม. ฉบับลงวันที่ 9 เมษายน 2535 หรือสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือส่วนไข่แดงเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และเส้นทางสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะเวลาสัมปทานปี 2542-2572

2.สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง เลขที่ กธ.ส. 006/55 ระหว่าง BTSC และ KT ซึ่งแบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะคือ 2.1 ระยะที่ 1 ปี 2555-2572 เดินรถในส่วนต่อขยาย 1 เส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้า และเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง 2.2 ระยะที่ 2 ปี 2572-2585 เดินรถในส่วนต่อขยาย 1 เส้นทางสะพานตากสิน-บางหว้า และเส้นทางอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนไข่แดงเส้นทางหมอชิต-อ่อนนุช และเส้นทางสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน

3.สัญญาซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบการเดินรถ ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เลขที่ กธ.ส. 018/59 ระหว่าง BTSC และ KT 4.สัญญาการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ เลขที่ กธ.ส. 024/59 ระหว่าง BTSC และ KT

ในขณะที่ กทม. และ KT เป็นคู่สัญญาระหว่างกัน 2 สัญญาคือ สัญญาจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 และ 6.บันทึกข้อตกลงการมอบหมายให้บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด เป็นผู้บริหารจัดการการเดินรถและติดตั้งระบบเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการระบบขนส่งมวลชนสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ หรือหนังสือมอบหมายงานเดินรถส่วนต่อขยาย 2

เปิดคำสั่ง ม.44-มติ ครม. 3 ครั้ง

ในระหว่างนั้น เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2562 ได้มีคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ที่ 3/2562 มีสาระสำคัญ 3 ข้อหลัก 1.ให้ยกเว้นการบังคับใช้ พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือกฎหมายร่วมทุน 2.ให้ตั้งคณะกรรมการเจรจาเพื่อเจรจากับเอกชนผู้ได้รับสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3.เสนอร่างสัญญาเพื่อให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้กรุงเทพมหานครได้ลงนามในสัญญาต่อไป

ซึ่งคณะกรรมการเจรจาในขณะนั้น ได้เจรจากับเอกชนคู่สัญญา และมีความเห็นให้ต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากเดิมที่จะหมดอายุลงในปี 2572 โดยต่อเวลาสัมปทานรอบใหม่อีก 30 ปี (2572-2602) ขั้นตอนได้เสนอให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณา และเสนอร่างสัญญาสัมปทานเพื่อขอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติต่อไป

โดยกระทรวงมหาดไทยได้เสนอร่างสัญญาต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวปี 2572-2602 เข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อขอมติเห็นชอบ 3 ครั้งด้วยกัน ได้แก่ ครั้งที่ 1 วันที่ 13 สิงหาคม 2563 ครม. มีมติรับทราบผลการเจรจา และร่างสัญญาและการร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว และให้เวียนหนังสือขอความเห็นกระทรวงการคลัง

ครั้งที่ 2 วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ครม.มีมติรับทราบและให้กระทรวงมหาดไทยพิจารณารายละเอียดโครงการตามความเห็นของกรมการขนส่งทางราง กระทรวงคมนาคม และครั้งที่ 3 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ครม.มีมติรับทราบและให้กระทรวงมหาดไทยจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมตามความเห็นของกระทรวงคมนาคม

ล่าสุด เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2565 กระทรวงมหาดไทยได้มีหนังสือไปยังกรุงเทพมหานคร เพื่อขอทราบแนวทางการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เนื่องจากมีคณะผู้บริหารและสภากรุงเทพมหานครชุดใหม่ นำโดยผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

BTSC ฟ้อง กทม.-KT

ในระหว่างการขอมติเห็นชอบในร่างสัญญาจากคณะรัฐมนตรีนั้น ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 BTSC ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง ขอให้ กทม.กับ KT ชำระหนี้สิน โดย “สุรพงษ์ เลาหะอัญญา” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) กล่าวว่า

ได้นำกรณีที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ค้างค่าจ้างเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ เป็นจำนวนมูลหนี้รวม 1.2 หมื่นล้านบาท (ณ ปี 2564) โดยอยู่ระหว่างรอ กทม. และ บจ.กรุงเทพธนาคม (KT) ทำคำชี้แจงตอบกลับมา โดยการฟ้องร้องครั้งนี้ยังไม่ได้รวมการจ้างก่อสร้างงานระบบที่มีมูลหนี้รวมอีกไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาทแต่อย่างใด

“ธงทอง” เจรจาแมตช์แรก BTSC+KT

ไทม์ไลน์ภายหลังการดำรงตำแหน่งของผู้ว่าฯ กทม. “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” มีการลาออกของคณะกรรมการ (บอร์ด) KT และได้เลือกทีมบอร์ดชุดใหม่ โดยตำแหน่งหัวโต๊ะ “ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ” มือกฎหมายเบอร์ต้นของประเทศ ตอบรับคำเชิญเป็นประธานกรรมการบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด

โดยมีการจัดประชุมหารือระหว่างบอร์ด KT ร่วมกับ BTSC เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565

ภายหลังการหารือแมตช์แรก ศาสตราจารย์พิเศษธงทองเปิดเผยว่า การฟ้องร้องศาลปกครองเป็นคดีความในเรื่องของค่าเดินรถนั้น เพื่อไม่ให้ล่าช้าไปจนถึงคดีความสิ้นสุด ซึ่งจะต้องมีดอกเบี้ยต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นตลอดนั้น ได้มีการพูดคุยและเห็นร่วมกันว่า จะมีการตั้งคณะทำงาน เพื่อมาพูดคุยเรื่องตัวเลขต่าง ๆ ที่อาจยังมีความเห็นต่างกันอยู่

“ชัชชาติ” เลกเชอร์รถไฟฟ้าสายสีเขียว

เนื่องจากการทบทวนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นหนึ่งในนโยบายหาเสียง ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ได้อาศัยเวทีการประชุมผู้บริหาร กทม.ทุกวันจันทร์ ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จุดโฟกัสประเด็นหนี้ของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว หาก กทม.มีหนี้ที่ถูกต้องและโปร่งใสทุกอย่าง กทม.ก็ต้องจ่ายอยู่แล้วตามสัญญา

หลักการใหญ่คือ กทม.เป็นหนี้กรุงเทพธนาคม เพราะ กทม.ทำสัญญาตรงกับกรุงเทพธนาคม ไม่ได้ทำสัญญากับเอกชนภายนอกแต่อย่างใด

โดยฐานข้อมูล ณ เมษายน 2565 กรุงเทพธนาคม ได้เรียกเก็บเงินจาก กทม.จำนวน 4 รายการ วงเงินรวมมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท (ดูกราฟิกประกอบ)

“หนี้สินในส่วนนี้ยังไม่สามารถดำเนินการชำระให้แก่กรุงเทพธนาคมได้ เนื่องจากหนี้สินเป็นหนึ่งในเงื่อนไขการเจรจาของคณะกรรมการเจรจา ที่ดำเนินการตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ที่ 3/2562 เรื่องการดำเนินการโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งขั้นตอนปัจจุบันอยู่ระหว่างรอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี”

กทม.พร้อมใช้สิทธิอุทธรณ์

ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 กันยายน 2565 “ผู้ว่าฯชัชชาติ” ตอบคำถามสื่อมวลชนกรณีศาลปกครองกลางจะมีคำตัดสินในคดีที่ BTSC ยื่นฟ้อง กทม. และ KT ความว่า “หากผลของคำพิพากษาของศาลปกครองเป็นลบกับ กทม. ก็จะต้องอุทธรณ์ และชี้แจงเหตุผลในมุมมองของ กทม.ต่อไป”