คดีฟ้องแอชตันอโศก ตุลาการศาลปกครองแนะทางออก ไม่ต้องทุบตึกทิ้ง

ashton asoke
ภาพจาก ananda.co.th

ตุลาการผู้แถลงคดี ศาลปกครองกลาง แนะ กทม.-รฟม. แก้ไขเงื่อนไขตามใบอนุญาตให้ถูกต้อง ปมทางเข้าแอซตัน อโศก เคสสยามสมาคมฟ้อง

วันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานจากศาลปกครองว่า วันนี้ศาลปกครองกลางนัดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก ในคดีหมายเลขดำที่ 450/2560 ระหว่าง สยามสมาคม ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ผู้ฟ้องคดี) กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ถูกฟ้องคดี) และ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ที่ 1 กับพวกรวม 3 คน (ผู้ร้องสอด) คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ (ฟ้องขอให้ระงับการก่อสร้างและรื้อถอนอาคาร)

โดยตุลาการผู้แถลงคดีได้แถลงในคดีนี้ว่า การก่อสร้างในโครงการดังกล่าวได้ทำผิดเงื่อนไขตามกฎกระทรวง แต่ไม่ถึงขนาดให้เพิกถอนใบอนุญาติก่อสร้าง จึงสั่งให้กรุงเทพมหานครและการรถไฟแห่งประเทศไทยไปดำเนินการให้ถูกต้องตามเงื่อนไขภายใน 120 วันนับจากวันที่คดีถึงที่สุด

ตัวแทนจากบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในคดีนี้เป็นคนละกรณีกับคดีที่สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนซึ่งในปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด และหากคำพิพากษาของศาลปกครองกลางพิพากษาตามตุลาการผู้แถลงคดีย่อมส่งผลดีต่อทั้งตัวโครงการและเจ้าของห้องพัก

นายพิสุทธิ์ รักวงษ์ ทนายความจากนิติบุคคลอาคารชุด แอชตัน อโศก ได้เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คำแถลงของตุลาการผู้แถลงคดีนับว่าส่งผลดีต่อเจ้าของห้องทั้ง 668 ห้อง แม้จะมีการตีความให้เงื่อนไขในการขออนุญาตก่อสร้างไม่ครบถ้วน แต่ได้ให้หน่วยงานราชการคือ กรุงเทพมหานครและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยไปแก้ไขให้ถูกต้อง

สำหรับตุลาการผู้แถลงคดี คือตุลาการศาลปกครองที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้จัดทำและเสนอคำแถลงการณ์ต่อองค์คณะ ผู้เป็นตุลาการผู้แถลงคดีต้องไม่ใช่ตุลาการในองค์คณะที่พิจารณาคดีนั้น ๆ

ในการพิจารณาพิพากษาคดีปกครอง อธิบดีศาลปกครองชั้นต้นจะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดีศาลปกครองในศาลปกครองชั้นต้นนั้น ซึ่งจะต้องแต่งตั้งจากศาลปกครองชั้นต้น

ประธานศาลปกครองจะเป็นผู้แต่งตั้งตุลาการผู้แถลงคดีปกครองในศาลปกครองสูงสุด โดยจะแต่งตั้งจากตุลาการศาลปกครองสูงสุด หรือตุลาการศาลปกครองชั้นต้นได้

การมีตุลาการผู้แถลงคดีเพื่อช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และคำวินิจฉัยขององค์คณะอีกทางหนึ่ง เพื่อให้เกิดการถ่วงดุลกันในการวินิจฉัยคดี ระหว่างองค์คณะและตุลาการผู้แถลงคดี จะทำให้องค์คณะต้องใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดี และใช้อำนาจในการตัดสินคดีอย่างรอบคอบมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีที่องค์คณะไม่เห็นด้วยกับแถลงการณ์ ก็จะต้องแสดงเหตุผลที่หนักแน่นและน่าเชื่อถือมากกว่า

แม้ว่าคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีจะไม่ใช่คำพิพากษา เพราะคำตัดสินขององค์คณะเท่านั้นที่จะถือเป็นคำพิพากษา แต่กฎหมายกำหนดให้ศาลปกครองต้องพิมพ์เผยแพร่คำพิพากษาขององค์คณะและคำแถลงการณ์ของตุลาการผู้แถลงคดีต่อสาธารณะด้วย