แอชตัน อโศก 668 เจ้าของห้องชุดไทย-เทศ ลุ้นคำตัดสินศาลปกครอง

แอชตัน อโศก

ใช้เวลา 13 เดือนเศษ คดีคอนโดมิเนียม “แอชตัน อโศก สุขุมวิท 21” เดินมาถึงจุดเข้าใกล้ไคลแมกซ์เต็มที

นาทีนี้ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้แต่รอลุ้นว่า องค์คณะตุลาการศาลปกครองที่เป็นเจ้าของสำนวนคดี จะนัดฟังคำพิพากษาตัดสินชี้ขาดช้าหรือเร็ว

คำถามสำคัญจากเจ้าของห้องชุดที่โอนกรรมสิทธิ์ไปแล้ว 668 ห้อง จากจำนวนทั้งโครงการ 783 ห้อง คงเป็นเรื่อง “…คดีจะจบภายในปี 2565 หรือไม่” เพราะทุกวันนี้เจ้าของห้องชุดแอชตัน อโศก ถูกแช่แข็งสินเชื่อจนทำให้ได้รับความเดือดร้อนทางการเงิน ยังไม่นับรวมสภาวะจิตใจที่มีโรคเครียดสุมอก

ที่สำคัญ ในจำนวน 668 ห้อง มีไม่ต่ำกว่า 140 ห้องที่เจ้าของห้องชุดเป็นชาวต่างชาติจาก 20 ประเทศทั่วโลก ความเชื่อมั่นที่มีต่อราชการไทยไม่ได้จำกัดวงแค่เจ้าของห้องชุดคนไทย แต่กระจายไปไกลระดับอินเตอร์ในขณะนี้

20 ก.ย. 65 เสนอยกฟ้อง

จุดเริ่มต้นนับไทม์ไลน์ 13 เดือนเศษมาจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร และให้มีผลย้อนหลัง

ล่าสุด ศาลปกครองสูงสุดซึ่งเป็นด่านสุดท้ายของคดีทางปกครอง ได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรกเมื่อวันที่ 20 กันยายน 2565 โดยตุลาการผู้แถลงมีความเห็น “เสนอให้ยกฟ้อง”

โดย “ศรีสุวรรณ จรรยา” นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ผู้ฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง เปิดเผยว่า ศาลปกครองสูงสุดได้นัดพิจารณาคดีครั้งแรก หลังจากที่คู่กรณีได้ยื่นอุทธรณ์สู้คดี

ทั้งนี้ สาระสำคัญ คดีแอชตัน อโศก เป็นคดีหมายเลขดำ ส.53/2559 คดีหมายเลขแดง ส.19/2564 เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างที่ออกให้แก่บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จํากัด บริษัทลูกของบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) โดยให้มีผลย้อนหลัง

ต่อมา วันที่ 20 กันยายน 2565 ตุลาการผู้แถลงคดีสรุปประเด็นสำคัญเกี่ยวกับทางเข้า-ออกอาคารที่เป็นประเด็นหลักในคดีนี้ว่า การที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) อนุญาตให้ผู้ประกอบการอาคารแอชตัน อโศก ใช้ที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนเพื่อเข้า-ออกอาคารดังกล่าวได้นั้น ไม่ขัดต่อวัตถุประสงค์ของการดำเนินกิจการเพื่อการขนส่งสาธารณะของ รฟม.

อีกทั้งเอกชนได้ชำระเป็นค่าเช่าให้กับ รฟม.แล้วกว่า 97.6 ล้านบาทแล้วนั้น การใช้อำนาจดังกล่าวเห็นว่าเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว จึงมีความเห็นต่อองค์คณะผู้พิพากษาศาลปกครองสูงสุดในคดีนี้ว่า “ควรยกฟ้อง”

ส่วนกรณีที่เจ้าของที่ดินเดิมได้เคยจดทะเบียนแบ่งแยกที่ดินแล้วทำการตัดที่ดินบางส่วนเพื่อทำเป็นถนนสาธารณะ พร้อมกับจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายที่ดินแล้วนั้น แต่เมื่อมาทำการสำรวจรังวัดใหม่กลับไม่ปรากฏถนนสาธารณะดังกล่าว จนทำให้ผู้ประกอบการนำไปสร้างคอนโดฯได้นั้น ตุลาการผู้แถลงคดีได้ทำความเห็นเสนอต่อองค์คณะไว้แล้ว

สำหรับขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด “ศรีสุวรรณ” ระบุว่า หลังจากวันนี้ องค์คณะในศาลปกครองสูงสุดจะทำคำวินิจฉัยและคำพิพากษา ซึ่ง “จะสอดคล้อง” หรือ “ตรงกันข้าม” กับความเห็นของตุลาการผู้แถลงคดีก็ได้ จากนั้นจะส่งไปให้ศาลปกครองกลางเพื่อนัดคู่กรณีมาฟังคำพิพากษาต่อไป

“สมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด เพราะคดีในลักษณะนี้จะใช้เป็นบรรทัดฐานของสังคมในอนาคต” คำกล่าวของศรีสุวรรณ

กราฟฟิก ออนไลน์

ระบบถ่วงดุลศาล 2 ชั้น

เรื่องเดียวกันนี้ “ชาญชัย แสวงศักดิ์” ประธานศาลปกครองสูงสุด ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงขั้นตอนการพิจารณาคดีของศาลปกครองว่า ศาลปกครองมี 2 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น 15 จังหวัด (อยู่ในกรุงเทพฯ เรียกว่าศาลปกครองกลาง) มีองค์คณะตุลาการ 3 คน กับศาลปกครองสูงสุดมี 11 องค์คณะตุลาการ จำนวนองค์คณะละ 5 คน

วิธีพิจารณาคดีในชั้นศาลปกครองสูงสุดจะมีการนัดพิจารณาคดี 2 ครั้ง

ครั้งแรกเป็นขั้นตอนก่อนที่องค์คณะมีมติคำพิพากษา จะมีตุลาการ 1 คนที่ไม่อยู่ในองค์คณะตุลาการผู้ตัดสิน เรียกว่า “ตุลาการผู้แถลงคดี” ให้ความเห็นในวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

ครั้งที่ 2 เป็นนัดพิจารณาคดีตัดสินชี้ขาด โดยองค์คณะตุลาการเจ้าของสำนวนคดี 5 คน

“ตุลาการผู้แถลงคดีไม่ได้มีอำนาจ เขาได้แค่แสดงความเห็น พอแถลงต่อคู่กรณีและสาธารณชนก็จะถ่วงดุลทั้งองค์คณะ ในบางคดีถ้าตุลาการผู้แถลงคดีให้เหตุผลหนักแน่น ตุลาการในองค์คณะถ้าจะตัดสินเป็นอย่างอื่น ท่านต้องอธิบายในคำพิพากษา เพื่อแสดงให้เห็นว่าเหตุผลท่านเหนือกว่า ซึ่งกฎหมายไม่ใช่วิทยาศาสตร์ การพิจารณาคดีเป็นดุลพินิจ ก็เห็นต่างกันได้ ด้วยเหตุนี้ถึงมี 2 ชั้นศาล”

ลุ้นคดีจบในปี 2565

ส่วนการนัดฟังคำตัดสินชี้ขาดขององค์คณะตุลาการ 5 คนจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วนั้น

ก่อนหน้านี้ในโอกาสแถลงข่าววันครบรอบก่อตั้งศาลปกครอง เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2565 ประธานศาลปกครองสูงสุด “ชาญชัย แสวงศักดิ์” กับรองประธานศาลปกครองสูงสุด “สุชาติ มงคลเลิศลพ” ตอบคำถามของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ในเรื่องนี้

โดยศาลปกครองสูงสุดรับทราบถึงความสนใจว่า คดีแอชตัน อโศก เป็นคดีที่ประชาชนให้ความสนใจสูง จึงได้บริหารจัดการและใช้ความพยายามที่จะให้มีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดภายในปี 2565 นี้

สำหรับไทม์ไลน์โครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 มีจุดเริ่มต้นจัดซื้อที่ดินในปี 2557 มีการขออนุญาตก่อสร้าง, ก่อสร้างแล้วเสร็จ และส่งมอบโอนกรรมสิทธิ์ห้องชุดตั้งแต่ปี 2561 (ดูกราฟิกประกอบ)

ในด้านการฟ้องร้องคดีต่อศาลปกครอง มีไทม์ไลน์สำคัญ 5 จุดด้วยกัน คือ 1.วันที่ 2 มิถุนายน 2559 ฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลาง 2.วันที่ 12 ตุลาคม 2560 ผู้ฟ้องคดียื่นคำขอให้ศาลบรรเทาทุกข์ชั่วคราว (สั่งหยุดก่อสร้าง)

3.วันที่ 30 เมษายน 2561 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งให้ยกคำขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราว 4.วันที่ 30 กรกฎาคม 2564 ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ถอนใบอนุญาตก่อสร้างและให้มีผลย้อนหลัง

ล่าสุด 5.วันที่ 20 กันยายน 2565 ตุลาการผู้แถลงคดีในการพิจารณาคดีนัดแรก เสนอ “ควรยกฟ้อง”

ไทม์ไลน์ที่เหลือต้อง “รอ” การนัดพิจารณาคดีตัดสินชี้ขาดของศาลปกครองสูงสุด เป็นขั้นตอนสุดท้าย