BEM เปิด Unseen สายสีส้ม ยืนยันประมูลโปร่งใส เป็นประโยชน์ต่อรัฐ-ประชาชน

พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล BEM
พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล

บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM และบริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) หรือ CK ได้ชี้แจงความคืบหน้าเกี่ยวกับการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ซึ่ง BEM เป็นผู้ชนะการคัดเลือก และปัจจุบันอยู่ระหว่างการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเห็นชอบเพื่อลงนามในสัญญา

เพิ่มประโยชน์รัฐ-ประชาชน

โดย “พงษ์สฤษดิ์ ตันติสุวณิชย์กุล” รองประธานกรรมการบริหาร CK และกรรมการบริหาร BEM เปิดเผยว่า ปัจจุบันการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุน โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มได้ผ่านขั้นตอนการประมูล จน BEM ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ชนะแล้ว ในการก่อสร้างงานโยธา BEM จะมี CK เป็นผู้ดำเนินการให้ทั้งหมด โดย BEM จะเป็นผู้ลงทุนและเดินรถไฟฟ้า

ในส่วนของข้อเสนอด้านการเงิน BEM จะขอสนับสนุนค่างานโยธาจากรัฐจำนวน 91,500 ล้านบาท โดยรัฐบาลจะทยอยจ่ายคืนภายในเวลา 8 ปี และในส่วนการเดินรถจะแบ่งรายได้ให้รัฐจำนวน 10,000 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าปัจจุบันที่รัฐบาลต้องสนับสนุน 78,288 ล้านบาท

นอกจากนี้ ในการให้บริการเดินรถช่วง 10 ปีแรก BEM จะตรึงราคาค่าโดยสารให้ถูกเท่ากับสายสีน้ำเงินที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน คือ ประมาณ ราคาตั้งแต่ 17-44 บาท รวมเป็นเงินที่ BEM ต้องรับภาระประมาณ 13,000 ล้านบาท

หลังจากนั้นจึงปรับตามสัญญา และ BEM จะช่วยรับภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลบำรุงรักษางานโยธาประมาณ 40-50 ล้านบาท/เดือน ให้แก่ รฟม.อีกด้วย

“BEM เชื่อมั่นว่า ข้อเสนอของ BEM ที่ได้เจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกและ รฟม.จนได้ข้อยุติถือว่าเป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างมาก ในด้านการก่อสร้าง BEM เชื่อมั่นว่าจะสามารถเริ่มงานได้ทันที และก่อสร้างได้เสร็จตามแผนงานประมาณ 6 ปี เพราะ BEM มี CK ซึ่งมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญในการดำเนินการก่อสร้างลักษณะนี้เป็นผู้ดำเนินการ และผลงานที่ผ่านมาก็พิสูจน์ว่าสามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จอย่างมีประสิทธิภาพในทุกโครงการ ในด้านการเดินรถ เรามั่นใจเป็นอย่างมากเพราะเราเป็นผู้ให้บริการเดินรถไฟฟ้าใต้ดินรายแรกในประเทศไทยที่มีความพร้อมในทุกด้าน”

สายสีส้ม

รับภาระแรกเข้า-ตรึงค่าโดยสาร

ส่วนในด้านผลประโยชน์ทางการเงิน BEM เชื่อมั่นว่า การที่ BEM ขอสนับสนุนจากรัฐในส่วนของงานก่อสร้าง 91,500 ล้านบาท เป็นราคาค่าก่อสร้างที่มีความเหมาะสม ต่ำกว่าผลการศึกษาของ รฟม.ตั้งแต่ปี 2561 ที่รัฐบาลอนุมัติไว้ หรือเรียกได้ว่าต่ำกว่าราคากลาง ทั้งที่ราคาค่าก่อสร้างในปัจจุบัน (ปี 2566) สูงขึ้นอย่างมากจากการปรับตัวขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิง เหล็ก ค่าแรง และวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ

โดยรวมจะสูงกว่าราคาในปี 2561 ประมาณ 4-5 พันล้านบาท แต่ BEM ก็มั่นใจว่า สามารถดำเนินการได้แล้วเสร็จในวงเงินที่เสนอ ส่วนผลประโยชน์จากการเดินรถ

สำหรับสายสีส้มซึ่งมีผู้โดยสารเริ่มต้นในอีก 6 ปีข้างหน้าที่เปิดบริการ ประมาณ 150,000-200,000 คน/วัน และเป็นรถไฟฟ้าใต้ดินเกือบทั้งสาย

ผลการศึกษาระบุว่า โครงการมีความคุ้มค่าทางการเงินค่อนข้างต่ำ แต่เพื่อลดภาระของรัฐจึงให้เอกชนรับความเสี่ยงทั้งหมดโดยรัฐไม่สนับสนุนทางการเงินใด ๆ แต่ BEM ซึ่งมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาตลอดก็สามารถเสนอผลประโยชน์ให้รัฐได้ถึง 10,000 ล้านบาท และยังลดราคาค่าโดยสารให้ถูกลงเท่ากับสายสีน้ำเงินโดยไม่มีค่าแรกเข้าทับซ้อน คิดเป็นมูลค่าถึง 13,000 ล้านบาทที่รับภาระให้แก่รัฐ

ดังนั้น BEM จึงมั่นใจว่า ข้อเสนอของ BEM เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนอย่างเต็มที่ และหาก BEM เป็นผู้ดำเนินการจะสามารถก่อสร้างได้แล้วเสร็จ เปิดให้บริการแก่ประชาชนได้ตามแผนงานอย่างแน่นอน เหมือนโครงการต่าง ๆ ที่ BEM ทำให้แก่รัฐและประชาชนล้วนแล้วแต่ประสบความสำเร็จ เปิดได้ตามแผนงาน ไม่เคยล่าช้าหรือมีปัญหา

TOR เปิดกว้างและโปร่งใส

“พงษ์สฤษดิ์” กล่าวเสริมว่า สำหรับการที่มีข่าวพาดพิงถึงบริษัทว่า การคัดเลือกเอกชนครั้งนี้ไม่โปร่งใส มีการเอื้อประโยชน์แก่ BEM และข้อเสนอของ BEM ไม่เป็นประโยชน์ต่อรัฐ แพงเกินไปนั้น

ก็อยากขอให้ทุกฝ่ายรับฟังข้อเท็จจริงให้รอบด้าน และพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะธุรกิจรถไฟฟ้าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ในประเทศไทย ทำกันมาแล้วตั้งหลายสาย มันคงเป็นไปไม่ได้ที่อยู่ดี ๆ สายสีส้มจะบิดเบือนไปจากหลักการที่เป็นอยู่ ทำให้เกิดการทุจริตแบบที่ให้ข่าวกัน จริง ๆ โดยสรุปมีแค่ 2 ประเด็น คือ

1.การคัดเลือกเอกชนครั้งนี้มีกติกาที่ทำกันมาแล้วในหลายโครงการ เป็นไปไม่ได้ที่จะมาเอื้อให้ BEM หรือ CK รายเดียว

ทั้งนี้ TOR ของ รฟม.ก็กำหนดไว้ชัดเจน เปิดกว้างว่าผู้ยื่นข้อเสนอต้องมีประสบการณ์เดินรถและก่อสร้าง โดยผู้เดินรถมาจากประเทศใดก็ได้ ส่วนผู้ก่อสร้างต้องมีผลงานก่อสร้างสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินหรือลอยฟ้า อุโมงค์ และรางในประเทศไทย โดยผู้ก่อสร้างอาจเป็นนิติบุคคลรายเดียวหรือกลุ่มนิติบุคคลร่วมกันเพื่อให้มีผลงานครบทั้ง 3 ประเภทก็ได้ ซึ่ง TOR ลักษณะนี้ทำกันมาเป็นปกติ ถูกต้องตามกฎหมายในงานต่าง ๆ ของรัฐ

แน่นอนว่า CK มีผลงานครบทั้ง 3 ประเภท สามารถเป็นผู้ก่อสร้างรายเดียวให้ BEM ได้ แต่ผู้ก่อสร้างรายอื่นก็สามารถร่วมกันเป็นกลุ่มนิติบุคคลร่วมประมูลได้ ไม่งั้นโครงการรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ ของ รฟม.จะมีบริษัทอื่นเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างให้ รฟม.ได้อย่างไร

ตร.รถไฟฟ้า

ข้อเสนอมีประโยชน์-ทำได้จริง

2.การที่มีการกล่าวอ้างกันว่า มีเอกชนบางรายทำได้ถูก ขอสนับสนุนต่ำกว่า BEM ขอแค่ 9,000 ล้านบาท ทั้งที่ผลการศึกษา (ราคากลางของรัฐ) ประมาณ 85,000 ล้านบาท ก็เป็นประเด็นที่สังคมต้องพิจารณาว่ามันเป็นไปได้และมีความน่าเชื่อถือหรือไม่

ซึ่งธุรกิจรถไฟฟ้าทุกสายที่ทำกัน เอกชนทุกรายพูดกันโดยตลอดว่ารัฐต้องสนับสนุนงานโยธา ไม่งั้นโครงการก็ไปไม่รอด เช่น “สายสีน้ำเงิน” รัฐลงทุนค่าก่อสร้างกว่าแสนล้านบาท “สายสีเขียวส่วนแรก” รัฐให้เอกชนลงทุน สุดท้ายเอกชนขาดทุนต้องเข้าแผนฟื้นฟู จนทำส่วนต่อขยายรัฐจึงต้องมาลงทุนก่อสร้างอีกกว่า 5 หมื่นล้านบาท

“สายสีเหลือง-สีชมพู” รัฐก็ต้องสนับสนุนค่างานโยธาสายละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท และล่าสุดคือ “รถไฟฟ้า 3 สนามบิน” รัฐก็ต้องสนับสนุนค่างานโยธาประมาณ 1.2 แสนล้านบาท

ส่วนผลประโยชน์ที่ได้จากการเดินรถ ทุกสายก็แบ่งให้รัฐน้อยมาก มีสายสีน้ำเงินที่แบ่งให้รัฐมากสุดคือประมาณ 5 หมื่นล้านบาท ทั้งที่ผู้โดยสารต่ำกว่าที่รัฐประมาณการไว้อย่างมาก จนสุดท้าย BEM ต้องขาดทุนมากว่า 15 ปี

แต่แปลกมาก พอสายสีส้ม กลับบอกว่า ขอสนับสนุนแค่ 9 พันล้านบาท ทั้งที่งานโยธามีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท ถ้าเป็นอย่างนั้น ต้องมีคำถามว่า ทำได้อย่างไร หรือหากทำได้ก็แสดงว่าสายอื่นทุกสายที่ทำกันมา รัฐบาลศึกษามาผิดหมดหรือ

และหากจะบอกว่า รัฐต้องสนับสนุนค่าก่อสร้างก่อน และในอนาคตอีก 20 ปีข้างหน้าจะแบ่งเงินให้รัฐเป็นแสนล้าน ทำให้โดยรวมแล้วรัฐสนับสนุนเพียงเล็กน้อย ก็เป็นสิ่งที่สังคมต้องคิดว่าข้อเสนอแบบนี้เหมาะสมและทำได้หรือไม่ ไม่ใช่พูดแต่ว่าถูกกว่า

“BEM เคารพในความเห็นของทุกฝ่าย และไม่ได้กังวลเกี่ยวกับการให้ข่าวพาดพิงเพราะไม่ได้เป็นเรื่องจริง ส่วนหากการพาดพิงถึงบริษัททำให้บริษัทเกิดความเสียหาย บริษัทก็จะพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย”

และ “BEM มั่นใจว่าข้อเสนอของ BEM เป็นประโยชน์ต่อรัฐและประชาชน มีความเหมาะสมและทำได้จริง และเชื่อมั่นว่ารัฐบาลสามารถชี้แจงได้ เพราะ รฟม.ทำโครงการรถไฟฟ้ามาแล้วหลายสาย สายสีส้มก็ไม่ได้แตกต่างจากสายสีอื่น ๆ และรัฐบาลก็คงจะเร่งรัดหาข้อสรุปเพื่อให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มเดินหน้าเปิดให้บริการได้ตามแผน เพราะปัจจุบันล่าช้ามากว่า 3 ปีแล้ว”