อนันดาฯ ปลดล็อกแอชตัน อโศก เฟ้นหาทางเลือก เปิดทางเข้า-ออกใหม่

Ashton Asoke

จับตาความคืบหน้าแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 “อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก” แจ้งความคืบหน้าในการแสวงทางออกของปัญหาให้กับ 668 เจ้าของห้องชุดครั้งที่ 5 ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ แหล่งข่าวเผยทำการบ้านหนักมาก แย้มอาจมีข่าวดี มีการเปิดเจรจากับเจ้าของที่ใกล้เคียงเพื่อทำทางเข้าออกโครงการใหม่ ย้ำเป็น “ทางเลือกที่หลากหลาย” และมีความเป็นไปได้

วันที่ 23 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากศาลปกครองสูงสุดมีคำวินิจฉัยสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างแบบมีผลย้อนหลัง โครงการแอชตัน อโศก สุขุมวิท 21 เมื่อ 27 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา

ทางบริษัทอนันดาฯ ในฐานะเจ้าของโครงการ มีการประชุมกับเจ้าของร่วม หรือเจ้าของห้องชุด 668 ห้อง ไปแล้ว 4 ครั้ง

โดยประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม แจ้งผลคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด, ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม ชี้แจงเรื่อง กทม.ไม่ได้มีคำสั่งระงับการใช้อาคาร โดยบริษัทจะเข้าไปหารือกับ กทม.

ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม ชี้แจงแนวทางแก้ปัญหาและการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น 5 แนวทาง รวมทั้งแนวทางช่วยเหลือเรื่องการการบรรเทาภาระดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย Retention

ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม ชี้แจงความคืบหน้า ในการหารือร่วมกับสำนักการโยธา กทม., บริษัทอยู่ระหว่างหาทางเข้า-ออกใหม่ และประสานกับแบงก์เพื่อจัดหาอัตราดอกเบี้ยพิเศษให้เจ้าของร่วม

ADVERTISMENT

โดยการประชุมครั้งล่าสุด บริษัทแจ้งว่าขอเวลา 14 วัน (วันเวลาราชการ) จากนั้นจะนำความคืบหน้ามาแจ้งแก่เจ้าของห้องชุดอีกครั้ง ซี่งการสื่อสารกับเจ้าของห้องชุดครั้งที่ 5 มีกำหนดในวันที่ 23 สิงหาคมนี้

แหล่งข่าวจากบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความคืบหน้าขณะนี้ มีแนวโน้มปัญหาจะได้รับการคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นเป็นลำดับ

ADVERTISMENT

โดยมีสัญญาณบวกจากการมีออปชันที่หลากหลายทางเลือก และทุกทางเลือกมีความเป็นไปได้ ในการทำทางเข้าออกโครงการใหม่ นอกเหนือจากแนวทาง 5 ข้อ ที่บริษัทเคยแจ้งกับเจ้าของห้องชุดทั้ง 668 ห้อง

ขณะเดียวกัน บริษัทได้ส่งตัวแทนเข้าพบหารือกับผู้ออกใบอนุญาต 2 ราย คือ กรุงเทพมหานคร (กทม.) ซึ่งมีการประชุมเป็นทางการไปแล้ว เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

อีกหน่วยงานคือ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งได้มีการเข้าพบหารือกับผู้บริหาร รฟม. ไปแล้ว เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา

ในด้านระยะเวลาการขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่นั้น แหล่งข่าวกล่าวว่า คาดว่าใช้เวลาภายใน 6 เดือน นับจากการจัดหาทางเข้า-ออกใหม่ได้สำเร็จ

เนื่องจากต้องเริ่มกระบวนการใหม่ตั้งแต่การขออนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA จากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่จาก กทม.

โดยผู้บริหารสูงสุด คือ นายชานนท์ เรืองกฤตยา ในนามตัวแทน บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก ยืนยันเคียงข้างลูกบ้าน Ashton Asoke ไม่ทอดทิ้งแน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ บริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ได้แจ้งความคืบหน้าการดำเนินงานเพื่อแสวงหาทางออกสำหรับเจ้าของร่วม แอชตัน อโศก เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา

สาระสำคัญ 5 ข้อ มีดังนี้

1.ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม

2.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่านสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย ไปยังคณะรัฐมนตรี

3.เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ผ่าน รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) ไปยังคณะรัฐมนตรี

4.ประสานเจ้าของเดิม ให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12+-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้

5.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่ เนื่องจากมีพยานหลักฐานใหม่ ทำให้ข้อเท็จจริงเปลี่ยนแปลงไป

คลิกอ่านรายละเอียดเพิ่มเติม

คลิกเพื่อดูวิดีโอแถลง