บทเรียนจากคดีแอชตัน อโศก

แอชตัน รฟม.
คอลัมน์ : บทบรรณาธิการ

จากกรณีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด ในการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง โครงการแอชตัน อโศก อาคารชุดพักอาศัยสูง 50 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้นนั้น สร้างความตกอกตกใจ และมีคำถามตามมามากมายจากนักธุรกิจทุกวงการ รวมถึงประชาชนทั่วไป

ตกใจเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างเสร็จนานแล้ว และมีผู้อยู่อาศัยแล้วถึง 4 ปี ในจำนวน 80% ของห้องชุดทั้งหมด โดยได้รับการโอนกรรมสิทธิ์เรียบร้อยจากบริษัท อนันดา เอ็มเอฟ เอเชีย อโศก จำกัด ในฐานะผู้พัฒนาเจ้าของโครงการ

ที่สำคัญ โครงการนี้ได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง และผ่านการอนุมัติ EIA หรือด้านสิ่งแวดล้อมตามที่รัฐกำหนด รวมถึงได้รับใบอนุญาตเปิดใช้อาคารอย่างถูกต้อง

ทันทีที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนใบอนุญาต ผู้อยู่อาศัยในโครงการต่างเครียดและวิตกกังวล เพราะหวั่นใจว่า อาคารต้องถูกทุบทิ้ง แล้วนิติกรรมการซื้อขายห้องชุดอย่างถูกกฎหมายที่ผ่านมาจะโมฆะหรือไม่ อย่างไร

การที่ศาลเพิกถอนใบอนุญาต เนื่องจากทางเข้าออกของโครงการซึ่งเช่าที่มาจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เพื่อนำมาใช้เป็นทางเข้าออกนั้นไม่สามารถกระทำได้ เนื่องจากเป็นการใช้ที่ดินผิดวัตถุประสงค์ของ รฟม.

ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ให้ความเห็นและตอบข้อหารือของ รฟม. โดยย้ำประเด็นว่า การใช้ประโยชน์ในที่ดินที่ได้มาจากการเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์แห่งการเวนคืน ซึ่งเป็นพันธะที่จะต้องใช้ที่ดินนั้นเพื่อประโยชน์สำหรับการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์

เท่ากับว่า รฟม.นำที่ดินดังกล่าวมาทำสัญญาเช่ากับเอกชนทำเป็นทางเข้าออกของโครงการให้ถูกต้องตามกฎหมายจึงผิดวัตถุประสงค์ โดยที่เอกชนได้ทำสัญญาถูกต้องด้วยการก่อสร้างอาคารจอดรถมูลค่า 97 ล้านบาท เป็นประโยชน์ตอบแทน และ รฟม.ก็ใช้ทำเป็นลานจอดรถของรถไฟฟ้าด้วยเช่นกัน

ทั้งหมดส่งผลให้โครงการไม่สามารถใช้ที่ดินดังกล่าวเป็นทางเข้าออกตามกฎหมายได้ ดังนั้นใบอนุญาตใด ๆ จากหน่วยงานรัฐทั้งหลายจึงถูกเพิกถอน เพราะถือว่าเป็นที่ดินตาบอด และไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ แม้ว่าทางกายภาพจะมีทางเข้า-ออกตามที่กฎหมายกำหนดก็ตาม

จากกรณีนี้สร้างผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้วงการอสังหาริมทรัพย์ เพราะถือเป็นกรณีศึกษาและเป็นบทเรียนที่ต้องจดจำ แต่จำเป็นต้องเร่งแก้ไขให้ทุกอย่างทุกฝ่ายได้รับความยุติธรรม ไม่ว่าจะเร็วหรือช้าก็ต้องได้ข้อสรุป เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอย