กทม. ลุยสร้างถนน-สะพาน 5 พันล้าน เชื่อม “วิภาวดี-พหลโยธิน”

เร่งสร้าง - กทม.กำลังสปีดโครงการค้างท่อให้สร้างเสร็จตามแผน เช่น อุโมงค์ทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์

กทม. ลุยสร้างถนน-สะพาน 5 พันล้าน เชื่อม “วิภาวดี-พหลฯ” รับสายสีเขียวหมอชิต-คูคต

กทม.เร่งปิดจ็อบเซ็นสัญญาโปรเจ็กต์ใหม่กว่า 5 พันล้าน ตอกเข็มปีนี้ หลังติดหล่มปมประมูลมาร่วมปี ได้ฤกษ์เซ็นแล้ว 3 โครงการกว่า 1 พันล้าน ขยายถนนแสมดำ-พระราม 2-คลองสนามชัย เลียบคลองบางเขน เทิดราชัน-เชิดวุฒากาศ รอลุ้นโครงข่ายใหม่เชื่อมวิภาวดี-พหลโยธิน ส่วนทางยกระดับอ่อนนุช-ลาดกระบังรอผลสอบคณะกรรมการอุทธรณ์ ขณะที่ขยายรามคำแหง 24 ชะลอยาว ติดเรื่องขอใช้พื้นที่การกีฬาแห่งประเทศไทย เลื่อนเปิดอุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ไป ธ.ค. 64

นายไทวุฒิ ขันแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภายในเดือน ต.ค. 2563 จะทยอยเซ็นสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมา เพื่อเดินหน้าก่อสร้างโครงการถนนสายใหม่ แต่เนื่องจากติดปัญหาเรื่องการประมูล จึงทำให้ยกเลิกและเปิดประมูลใหม่ ทำให้โครงการมีความล่าช้ามาร่วมปี

สิ้นปีนี้ตอกเข็ม 3 โครงการ

“จะเริ่มให้ผู้รับเหมาก่อสร้างในปี 2563 จะใช้เวลาก่อสร้าง 2-3 ปี จากเดิมจะทยอยเสร็จในปี 2564-2565 จะต้องเลื่อนไปเป็นปี 2566-2567 เมื่อทุกโครงการแล้วเสร็จจะช่วยบรรเทาการจราจร และเปิดพื้นที่การพัฒนาใหม่ในโซนด้านเหนือ ตะวันตก และตะวันออกของกรุงเทพฯ”

แหล่งข่าวจาก กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการใหม่มี 6 โครงการ วงเงินรวม 5,053 ล้านบาท ที่เซ็นสัญญาและให้ผู้รับเหมาเข้าพื้นที่ก่อสร้างแล้ว ได้แก่ โครงการก่อสร้างถนนเลียบคลองบางเขน ด้านหลังมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จากปัจจุบันเป็นถนนชั่วคราว 2 ช่องจราจร สร้างเป็นถนนคอนกรีตเสริมเหล็กขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมพนังกั้นน้ำริมคลอง ระยะทาง 2 กม. มีบริษัท เอสเทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 515 ล้านบาท รวมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

โครงการขยายถนนแสมดำ จากพระราม 2-คลองสนามชัย ขนาด 2-4 ช่องจราจร ระยะทางประมาณ 3.8 กม. มีบริษัท พระราม 2 การโยธา จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 332 ล้านบาท รวมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค และโครงการก่อสร้างถนนเทิดราชันเชื่อมถนนเชิดวุฒากาศ เป็นขนาด 4 ช่องจราจร พร้อมเขื่อนริมคลองตลอดแนว ระยะทาง 1 กม. มีบริษัท เอสเทค ซีวิล แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด เป็นผู้ก่อสร้าง วงเงิน 286 ล้านบาท รวมก่อสร้างระบบสาธารณูปโภค

เชื่อมวิภาฯ-พหลฯรอเซ็นสัญญา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า สำหรับโครงการที่ได้ผู้รับเหมาแล้ว ยังรอเซ็นสัญญา มีโครงการก่อสร้างถนนต่อเชื่อมถนนวิภาวดีรังสิตกับถนนพหลโยธิน 50 ถนนตัดใหม่ 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.8 กม. ค่าก่อสร้าง 1,800 ล้านบาท จะรองรับรถไฟฟ้าสายสีเขียวหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต แบ่งประมูล 2 สัญญา สัญญาละ 900 ล้านบาท

สัญญาที่ 1 จากถนนวิภาวดีฯ-สะพานข้ามคลองลาดพร้าว สร้าง 720 วัน เป็นงานสร้างถนน 5-6 ช่องจราจร ระยะทาง 920 เมตร สะพานยกระดับ 1 ช่องจราจร ขนาด 3 ช่องจราจร สะพานเลียบคลองลาดพร้าว 3 ช่องจราจร ระยะทาง 630 เมตร

และสัญญาที่ 2 จากสะพานข้ามคลองลาดพร้าว-ถนนเทพรักษ์ สร้าง 720 วัน เป็นทางยกระดับ 4 ช่องจราจร ยาว 1 กม. สะพานข้ามคลองลาดพร้าว 2 แห่ง และถนน 1.2 กม.

ขยายรามฯ 24 ยังไม่คืบ

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างทางยกระดับ ขนาด 4 ช่องจราจร ถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ช่วงตลาดลาดกระบัง-แยกเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ระยะทาง 2.2 กม. ค่าก่อสร้าง 1,670 ล้านบาท มีบริษัท ธาราวัญ จำกัด จอยต์เวนเจอร์กับบริษัท นภาก่อสร้าง จำกัด เป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด แต่ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการอุทธรณ์ของกรมบัญชีกลาง

ขณะที่โครงการขยายถนนรามคำแหง 24 พร้อมทางสะพานลอยยกระดับจากแยกถาวรธวัช-หน้ามหาวิทยาลัยเอแบค เป็น 4-6 ช่องจราจร ระยะทาง 2.2 กม. ค่าก่อสร้าง 450 ล้านบาท จะชะลอโครงการออกไปก่อน เนื่องจากการกีฬาแห่งประเทศไทย (กทท.) ยังไม่อนุญาตให้ กทม.ใช้พื้นที่ก่อสร้าง จะขยับแผนงานโครงการขอจัดสรรงบประมาณในปี 2564 มาก่อสร้างต่อไป

อุโมงค์รัชดา-ราชพฤกษ์ล่าช้า

แหล่งข่าวยังกล่าวถึงความคืบหน้าการก่อสร้างอุโมงค์ทางลอดรัชดา-ราชพฤกษ์ ขนาด 4 ช่องจราจร ระยะทางรวม 1.5 กม. มีความยาวทางลอด 500 เมตร มีบริษัท เนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ก่อสร้าง ด้วยวงเงิน 924.94 ล้านบาท ตามแผนจะเสร็จในเดือน มี.ค. 2564 แต่หลังจากเริ่มงานก่อสร้างตั้งแต่เดือน ก.ย. 2561 พบว่ามีปัญหาเรื่องการรื้อย้ายท่อน้ำประปาที่ขวางแนวเส้นทางโครงการ ซึ่งทางการประปานครหลวง (กปน.) เพิ่งเซ็นสัญญากับผู้รับเหมาเพื่อรื้อย้ายเมื่อเดือน ก.ค. 2563 ที่ผ่านมา จะทำให้การก่อสร้างล่าช้าออกไปเป็นสร้างเสร็จภายในเดือน ธ.ค. 2564 ขณะนี้มีความคืบหน้าแล้วประมาณ 35% ช้าจากแผนอยู่ประมาณ 40-50%


เมื่อแล้วเสร็จเปิดใช้ จะช่วยแก้ไขปัญหาจุดตัดทางแยก บรรเทาปัญหาการจราจรตามแนววงแหวนรัชดาภิเษก และโครงข่ายถนนใกล้เคียง เช่น ถนนราชพฤกษ์ ถนนเพชรเกษม และถนนพระราม 3