กทม.รับไม่มีเงินจ่ายหนี้ BTS 3 หมื่นล้าน คาดผู้โดยสารสายสีเขียววูบ 30%

กทม.ยอมรับสภาพไม่มีเงินจ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถ BTS กว่า 3 หมื่นล้าน จ่อขอรัฐบาลอุดหนุนงบประมาณหมื่นล้าน จ่ายหนี้เก่า หนี้ใหม่ หลังหนี้ถูกรวมไว้กับสัมปทานใหม่สายสีเขียวทั้งโครงการ  เผยช่วงแรกผู้โดยสารหายแน่ 30% ขอ 6 เดือนประเมินผลตอบรับพฤติกรรมคนใช้บริการนั่งสั้น-นั่งยาว เล็งคลอดโปรโมชั่นตั๋วเที่ยว ตั๋วเดือน ลดภาระค่าเดินทาง คนกรุงโอดเก็บสูงสุดตลอดสาย 104 บาทแพงมหาโหด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 ก.พ.2564 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ได้ลงนามในประกาศกรุงเทพมหานคร เลื่อนเก็บค่าโดยสารโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวอัตราไม่เกิน 104 บาทตลอดสาย จะเก็บวันที่ 16 ก.พ.2564 ออกประกาศเมื่อวันที่ 15 ม.ค.2564 ให้เลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากได้รับนโยบายจากรัฐบาลให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าโดยสารต่ำประกาศ

โดยให้คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนและภาระของ กทม. ให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยร่วมหารือแนวทางในการดำเนินการกับสภาก็ทำมอเพื่อลดผลกระทบ ซึ่งเป็นการตัดสินใจของผู้ว่าฯกทม.แบบกะทันหัน และออกประกาศในช่วงดึกของวันดังกล่าว เนื่องจากในวันเดียวกันนั้น ยังได้รับการยืนยันจากผู้บริหาร กทม.ยังเก็บค่าโดยสารใหม่ตามกำหนดเดิม

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ได้รับหนังสือจาก บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) ส่งมายัง กทม.และ บจ.กรุงเทพธนาคม (เคที) ขอให้ชำระค่าจ้างเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวกว่า 30,000 ล้านบาท ภายใน 60 วัน นับจากได้รับหนังสือเมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564 หรือภายในเดือน เม.ย.นี้

ไม่มีเงินจ่ายหนี้-จ่อของบฯรัฐ

แยกเป็นการชำระหนี้ในการเดินรถและซ่อมบำรุงโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงหมอชิต-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ซึ่งค้างชําระมาเป็นเวลา 3 ปี 9 เดือนนับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2560 คิดเป็นเงินประมาณ 9,602 ล้านบาท

และหนี้ค่าซื้อระบบการเดินรถ ไฟฟ้าและเครื่องกล จะถึงกําหนดชําระในเดือน มี.ค. 2564 คิดเป็นเงินประมาณ 20,768 ล้านบาท หากไม่มีการชำระบริษัทแจ้งว่ามีความจําเป็นที่จะต้องพิจารณาการใช้สิทธิตามกฎหมายและตามสัญญากับกรุงเทพธนาคม และ กทม.ต่อไป

“ยอมรับ กทม.ไม่มีเงินที่จะจ่ายหนี้ ทางผู้บริหารอยู่ระหว่างพิจารณาจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จะต้องขอจัดสรรงบประมาณจากรัฐบาลมาชำระหนี้หรือไม่ เพราะ กทม.ไม่ได้ตั้งงบประมาณประจำปีสำหรับจ่ายหนี้ หากขอรัฐอุดหนุนต้องขอปีละ 10,000 ล้านบาท จ่ายหนี้เก่า 5,000 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท และส่วนต่างค่าโดยสารส่วนต่อขยายที่ขาดทุนด้วย”

หนี้ถูกรวมอยู่สัมปทานใหม่

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า เนื่องจากนำค่าจ้างเดินรถและการลงทุนระบบต่าง ๆ ไว้ในเงินลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาทที่บีทีเอสจะรับภาระให้ กทม.ไปแล้วในสัญญาสัมปทานใหม่ กำลังรอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ

“ตามสัมปทานใหม่จะเก็บค่าโดยสารสายสีเขียวทั้งโครงการตามระยะทาง เก็บค่าแรกเข้าครั้งเดียวเริ่มต้น 15-65 บาท ซึ่ง ครม.ยังไม่อนุมัติ กทม.ต้องเก็บค่าโดยสาร 15-104 บาทชั่วคราววันที่ 16 ก.พ.นี้”

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า โดยโครงสร้างราคาในช่วงสัมปทานของบีทีเอสยังเก็บคงเดิม 16-44 บาท กทม.จะเก็บส่วนต่อขยาย 15-45 บาท สูงสุดตลอดสายไม่เกิน 104 บาท แต่หากผู้โดยสารมีตั๋วเที่ยวของบีทีเอสจะทำให้ถูกลงนั่งส่วนต่อขยายและช่วงสัมปทาน เสียค่าแรกเข้า 15 บาท ส่วนต่อขยาย 30 บาท สัมปทาน 29 บาท รวม 74 บาท

กทม.รอประเมินผู้โดยสาร 6 เดือน

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ส่วนการทำกิจกรรมการตลาดในส่วนของส่วนต่อขยายที่อยู่ในความดูแลของ กทม. ขอดูพฤติกรรมและผลกระทบของผู้โดยสารหลังจากเก็บค่าโดยสารใหม่ใน 6 เดือนก่อน ทั้งนี้ การออกโปรโมชั่นพวกตั๋วเที่ยวและตั๋วเดือนนั้น ปัจจุบันจะมีเฉพาะส่วนเส้นทางหลักหมอชิต-อ่อนนุช และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสินเท่านั้นที่มีราคาโปรโมชั่น ซึ่งออกโดยบีทีเอสผู้รับสัมปทาน

“ไม่ใช่ กทม.ไม่ยอมทำอะไรเลย รอแต่สัญญาสัมปทานสายสีเขียวผ่าน ครม.อย่างเดียว แต่เราต้องดูนิดหนึ่งสัก 6 เดือนว่า หลังประกาศราคาใหม่ออกไปการเดินทางของประชาชนเป็นอย่างไร เรื่องตั๋วเที่ยวตั๋วเดือนค่อยดูอีกที ซึ่งการทำตั๋วเที่ยวรูปแบบต่าง ๆ คงให้บีทีเอสเป็นผู้ทำระบบให้ ส่วนกรอบราคา กทม.จะเป็นผู้กำหนดเอง” แหล่งข่าวกล่าวและว่า

ส่วนต่อขยายคนขึ้นแตะแสน

สำหรับปริมาณผู้โดยสารข้อมูลเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 พบว่า ส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีผู้โดยสารรวม 160,000-170,000 เที่ยวคน/วัน ส่วนด้านใต้ช่วงแบริ่ง-เคหะสมุทรปราการ มีผู้โดยสาร 80,000-90,000 เที่ยวคน/วัน

“การเก็บค่าโดยสารใหม่ช่วงแรก คาดว่าผู้โดยสารจะหายไปประมาณ 30% หลังจากนั้น 5-6 เดือนน่าจะกลับมาเป็นปกติ เราจะใช้เวลาตรงนี้ประเมินผู้โดยสารและวางแผนในการออกโปรโมชั่นต่อไป”

ผู้สื่อข่าวถามว่า หากสัมปทานสายสีเขียวยังไม่ผ่าน ครม.ตามที่คาดไว้ จะทำอย่างไรกับการชำระหนี้ให้กับบีทีเอส แหล่งข่าวตอบว่าก็คงต้องนำรายได้ค่าโดยสารที่เก็บในอัตราใหม่มาชำระไปก่อน โดยจะค่อย ๆ ทยอยจ่ายไป จะต้องหารือร่วมกันต่อไป และอีกด้านหนึ่งอาจจะพิจารณาเปิดประมูล PPP ใหม่

คนใช้สะท้อนเก็บ 65/104 บาทก็แพง

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ลงพื้นที่สถานีบีทีเอสหมอชิต สอบถามประชาชนผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสถึงกรณีที่ กทม.จะเก็บค่าโดยสารใหม่ 15-104 บาทในวันที่ 16 ก.พ. 2564

“พี่อโนทัย” พนักงานออฟฟิศกล่าวว่า ปกตินั่งรถไฟฟ้า BTS แทบทุกวัน โดยเดินทางจากที่พักย่านอุดมสุขไปทำงานแถวตึกชินวัตร 3 โดยลงที่สถานีห้าแยกลาดพร้าว ส่วนตัวมองว่าค่าโดยสารอัตราใหม่มีราคาแพงไป ส่วนราคาสูงสุด 65 บาทเป็นราคาที่ไม่แพงมากจนเกินไป ก็พอรับได้

“ยังไม่ได้วางแผนว่าเมื่อค่าโดยสารสูงขึ้นจะปรับเปลี่ยนการเดินทางอย่างไร เพราะก็ยอมรับว่ารถไฟฟ้าบีทีเอสมีความสะดวกสบายและทำเวลาได้ค่อนข้างดี”

ขณะที่ “พี่ณัฐพร” พนักงานออฟฟิศกล่าวว่า ใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสเดินทางไปจากบ้านพักที่อารีย์มาลงที่สถานีหมอชิต เพื่อไปทำงานที่ออฟฟิศแถวธนาคารทหารไทย สำนักงานใหญ่ ตรงจตุจักร

จำเป็นต้องนั่งเพราะสะดวก

“ค่าโดยสารสูงสุด 104 บาทแพงไป และราคา 65 บาทที่เป็นราคาเมื่อต่อสัญญาสัมปทานสานสีเขียวได้ ก็ยังแพงอยู่ดี ควรจะลดลงมาเหลือสัก 55-60 บาทน่าจะเหมาะสม ส่วนการวางแผนเปลี่ยนเส้นทางหรือการเดินทาง คงไม่เปลี่ยนเพราะตัวเองเดินทางระยะสั้นเพียง 3 สถานี ไม่ได้รับผลกระทบจากการปรับราคาใหม่มากนัก”

ด้าน “คุณลุงบุญช่วย” อายุ 65 ปีระบุว่า จะใช้บริการรถไฟฟ้าบีทีเอสไปแถววัดพระศรีมหาธาตุฯเยี่ยมหลานมีความเห็นว่า ไม่ควรขึ้นราคาแพงขนาดนั้น เพราะตอนนี้ประชาชนแบกภาระต่าง ๆ เยอะมาก ค่าครองชีพก็สูง คนตกงานก็เยอะจากภาวะโควิด ราคาสูงสุด 65 บาทก็ไม่โอเค ยังแพงอยู่ดี

ปิดท้ายที่ “น้องปรภา” นักศึกษากล่าวว่า ส่วนมากจะใช้รถไฟฟ้าบีทีเอสเป็นประจำจากบ้านย่านพระโขนงไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ หากค่ารถขึ้นสูงสุดถึง 104 บาทก็ถือว่าแพงเกินไป


เนื่องจากปัจจุบันสภาพเศรษฐกิจไม่ได้ดี ส่วนถ้าต่อสัมปทานแล้วค่ารถสูงสุดจะลงมาเหลือ 65 บาทก็แพงอยู่ดี แต่รับได้มากกว่า 104 บาท ส่วนตัวยังไม่คิดแผนปรับการเดินทาง เพราะตั้งแต่บีทีเอสผ่านหน้ามหาวิทยาลัยเมื่อปีที่แล้ว ยอมรับว่าเดินทางสะดวกขึ้นมาก