#NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง หลังมีเอกสารว่อนอ้างไทยจ่อเข้าร่วม

NoCPTPP กลับมาอีกครั้ง

ปรากฏการณ์ต่อต้าน CPTPP กลับมาอีกแล้วในโลกออนไลน์ หลังมีการอ้างว่า การประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีวาระลับเกี่ยวกับ CPTPP 

วันที่ 5 พฤษภาคม 2564 กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) เผยแพร่ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กอ้างว่าในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีวาระลับเกี่ยวกับ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership) หรือ ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก ซึ่งผ่านความเห็นชอบแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สามารถเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนงได้เลย ไม่มีการแถลงเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบมติคณะรัฐมนตรี ในวันนี้ ยังไม่พบว่ามีวาระดังกล่าวผ่านการพิจารณา

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า หลังมีการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าว ขณะนี้ในทวิตเตอร์มีผู้ใช้งานจำนวนมากทวีตข้อความพร้อมติด #NoCPTPP กว่า 1.32 ล้านครั้ง เมื่อช่วง 21.15 น.ที่ผ่านมา

ผู้ใช้ทวิตเตอร์เหล่านี้พยายามอธิบายให้โลกออนไลน์ทราบว่า CPTPP คืออะไร และพยายามชี้ให้เห็นถึงข้อเสียหากไทยเข้าร่วม นอกจากนี้ยังมีการรวบรวมรายชื่อให้ครบ 50,000 รายชื่อ อ้างว่าเรื่องนี้จะถูกเสนอเข้ารัฐสภา ส่วนจะผ่านหรือปัดตกขึ้นอยู่กับมติประชุม

โดยมีการเผยแพร่ QR Code สำหรับผู้ที่สนใจเข้าร่วมลงชื่อ ซึ่งเมื่อใช้สมาร์ทโฟนเข้าผ่าน QR Code แล้ว จะนำไปสู่การลงชื่อของกลุ่ม Greenpeace ซึ่ง ณ เวลา 21.47 น. มีผู้ร่วมลงชื่อแล้ว 70,965 รายชื่อ

อีกช่องทางหนึ่งที่ชาวทวิตเตอร์แห่เข้าไปลงชื่อคือเว็บไซต์ Change.org ซึ่งผู้สร้างแคมเปญระบุว่าเป็นแคมเปญรณรงค์ร้องเรียนรัฐบาลไทย ข้อความดังนี้

“ไม่ว่าคุณจะเป็นคนปลูก คนกิน หรือคนขาย เราควรมีสิทธิในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และอาหารที่หลากหลาย ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของคนหลายล้าน ไม่ควรจะตกอยู่ในมือของไม่กี่บริษัท ภายใต้การเอื้อประโยชน์ของ UPOV 199” รัตนศิริ กิตติก้องนภางค์ (Greenpeace)

ทั้งนี้ เว็บไซต์ Change.ore รายงานข้อมูลว่า ในเวลา 36 นาที มีผู้ร่วมลงชื่อในแคมเปญนี้แล้ว 50,000 รายชื่อ

คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ผู้ก่อตั้งพรรคไทยสร้างไทย ร่วมแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า CPTPP เป็นเรื่องใหญ่ กระทบกับคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะ #คนตัวเล็ก ทั้งเรื่องสิทธิบัตรยา สินค้าเกษตร และความมั่นคงทางอาหารของไทย ต่อไปยาจะแพงขึ้น เกษตรกรจะทำเมล็ดพันธุ์เองไม่ได้ ต้องซื้อจากนายทุนเท่านั้น ขอรบ.ทำเพื่อประโยชน์ของประชาชน #คนตัวเล็ก มากกว่านายทุนสักครั้งได้ไหม #NoCPTPP

ต่อมา นางสาวไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความยืนยันว่า ไม่มีการประชุมลับและไม่มีการลงมติเรื่อง CPTPP พร้อมชี้แจงว่าเรื่องที่เข้ามาคือ ขอขยายระยะเวลาศึกษาเพิ่มอีก 50 วัน เพื่อความรอบคอบ

ล่าสุด วันที่ 6 พฤษภาคม 2564 น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กรณีเพจ FTA Watch หรือ กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน ออกมาโพสต์ว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคมที่ผ่านมา เห็นชอบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีสามารถเซ็นหนังสือแสดงเจตจำนง (letter of intent) เข้าร่วมเจรจาข้อตกลง CPTPP จนมีการวิพากษ์วิจารณ์ในสื่อโซเชียลฯ ว่า ที่ประชุมครม. วานนี้ (5 พ.ค.) ไม่ได้มีการเห็นชอบให้ไทยไปขอเจรจาเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP แต่อย่างใด

มีเพียงการอนุมัติให้ขยายระยะเวลาเพิ่มเติมอีก 50 วัน เพื่อให้คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) หารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ให้ครอบคลุม ครบถ้วน และรอบคอบมากที่สุด ในการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีที่มอบหมายให้ กนศ. จัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามแผนการดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของ กรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเรื่อง CPTPP

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 30 มีนาคม ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับเรื่อง CPTPP ด้านการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ซึ่งที่ประชุมรับทราบข้อเสนอที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ CPTPP ของสภาผู้แทนราษฎร ขอให้รัฐบาลเร่งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) และที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาแผนการดำเนินการของส่วนราชการเพื่อจัดตั้งกองทุนเอฟทีเอดังกล่าว

สำหรับคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ เป็น 1 ใน 8 คณะ ได้แก่

  1. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านเกษตรและพันธุ์พืช มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน
  2. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้านการแพทย์และสาธารณสุข มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธาน
  3. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การค้าสินค้า การค้าบริการ และการลงทุน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์เป็นประธาน
  4. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับรัฐ และเอกชนกับรัฐ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธาน
  5. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน
  6. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐและรัฐวิสาหกิจ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน
  7. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน แรงงาน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน
  8. คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการดำเนินการมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง CPTPP ด้าน การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน

ทั้ง 8 คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนฯ จะเร่งจัดทำกรอบการทำงานเพื่อติดตามการจัดทำแผนงาน การดำเนินการเพื่อปรับตัวของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตามข้อสังเกตของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับความพร้อมหรือความไม่พร้อมและเงื่อนไขในการขอเจรจาเข้าร่วมความตกลง CPTPP ของไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไปภายในกลางเดือนเมษายน 2564