รู้จักโรคผมร่วงเป็นหย่อม หลังภรรยา วิล สมิธ ถูกล้อเลียน

รู้จักโรคผมร่วงเป็นหย่อม หลังภรรยา วิล สมิธ ถูกล้อเลียน
REUTERS/Mike Blake

รู้จักโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia) หลัง คริส ร็อก ล้อเลียนทรงผมภรรยา วิล สมิธ แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เผย พบได้หลังหายป่วยโควิด-19

วันที่ 28 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี “วิล สมิธ” เดินเข้าไปตบหน้าของ “คริส ร็อก” กลางเวทีออสการ์ หลังจากที่ร็อกเล่นมุกล้อเลียนภรรยาของเขาคือ “จาดา พิงเก็ตต์ สมิธ” เกี่ยวกับทรงผมของเธอ เนื่องจากเธอป่วยเป็นโรคผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia)

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้รวบรวมข้อมูลและเรื่องราวน่ารู้ของโรคดังกล่าว อ้างอิงจากเว็บไซต์โรงพยาบาลศิริราช

โรคผมร่วงเป็นหย่อม คือ ?

โรคผมร่วงเป็นหย่อม เป็นสาเหตุที่พบบ่อยของอาการผมร่วงเป็นหย่อมอย่างเฉียบพลัน บางครั้งอาจเกิดขึ้นกับเส้นขนในบริเวณอื่นของร่างกายได้ เช่น คิ้ว หนวด โรคนี้เกิดจากการอักเสบภายใต้หนังศีรษะ การอักเสบนี้ไม่ได้ทำลายรูขุมขนอย่างถาวร ดังนั้นหลังโรคสงบลง ผมหรือเส้นขนจะสามารถงอกขึ้นมาใหม่ได้ โรคนี้สามารถแบ่งตามตำแหน่งและความรุนแรง ได้ดังนี้

  • Alopecia areata (AA) : มีผมร่วงเป็นหย่อม ๆ ที่ศีรษะ หรืออาจมีหย่อมขนร่วงที่คิ้ว หนวดขนบริเวณใบหน้าหรือลำตัว
  • Alopecia totalis (AT) : ผมที่ศีรษะร่วงทั้งหมด
  • Alopecia universalis (AU) : ผมที่ศีรษะ และขนที่ตัว เช่น ขนรักแร้ ขนหัวหน่าว ร่วงทั้งหมด

โรคนี้ไม่ทำให้เป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่มีผลกระทบต่อความสวยงามค่อนข้างมาก จึงอาจทำให้มีผลกระทบทางด้านจิตใจได้ โดยเฉพาะใน alopecia universalis ซึ่งมีความรุนแรงของโรคมากที่สุด และมักตอบสนองต่อการรักษาต่าง ๆ น้อยที่สุด

ใครบ้างที่จะเป็นโรคนี้ ?

เกิดได้ทั้งในเพศชาย และเพศหญิงเท่า ๆ กัน อายุเฉลี่ยคือประมาณ 30 ปี แต่อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถเกิดขึ้นที่ช่วงอายุใดก็ได้ อุบัติการณ์ที่เกิด เฉลี่ยคือ 1 ใน 1000 คน หรือ ประมาณ 2%

อาการของโรค

ผู้ป่วยจะมีผมร่วงเป็นหย่อม ลักษณะกลม ขอบเขตชัดเจน อาจเกิดขึ้นได้หลายตำแหน่ง โดยมากมักเกิดภายในระยะเวลาไม่กี่สัปดาห์ ผู้ป่วยส่วนมากจะไม่มีอาการใด ๆ แต่อาจมีอาการคันหรือแสบนำมาก่อนในบริเวณที่จะเกิดโรค โรคนี้มักเกิดที่บริเวณศีรษะ แต่สามารถเกิดที่ตำแหน่งอื่น ๆ ในร่างกายที่มีขนได้ (ขนคิ้ว ขนตา หนวด ขนรักแร้ หรือ ขนหัวหน่าว)

อาจพบผมหักเป็นตอสั้น ๆ ติดหนังศีรษะได้ในบริเวณขอบของรอยโรคที่กำลังจะขยาย เนื่องจากเส้นผมที่สร้างขึ้นใหม่เปราะและผิดปกติ โรคนี้อาจเกิดแบบเฉียบพลันหรือค่อยเป็นค่อยไปก็ได้ ผู้ป่วยบางคนอาจมีความผิดปกติของเล็บร่วมด้วย โดยอาการที่เล็บอาจเกิดนำมาก่อน เกิดพร้อมกัน หรือเกิดภายหลังจากภาวะผมร่วงได้ ความผิดปกติของเล็บที่พบได้บ่อยที่สุด คือ การพบหลุมเล็ก ๆ บนผิวของแผ่นเล็บ

สาเหตุของโรค

โรคนี้ยังไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด ทราบเพียงแต่มีภูมิคุ้มกันในร่างกายที่ทำงานผิดปกติมาทำลายรูขุมขน อย่างไรก็ตาม หากโรคสงบลงแล้วรูขุมขนยังสามารถกลับมาสร้างเส้นขนได้ใหม่ตามปกติ โรคที่อาจพบร่วมร่วมกับโรคผมร่วงหย่อมได้ คือ ต่อมไทรอยด์อักเสบ ด่างขาว หรือกลุ่มโรคภูมิแพ้

ร้อยละ 20 ของผู้ป่วยผมร่วงหย่อม จะมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ด้วย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจึงเชื่อว่าปัจจัยทางพันธุกรรม อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคนี้ได้ ญาติสายตรงที่มีบุคคลในบ้านเป็นโรคนี้อาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้มากขึ้นเล็กน้อย

วิธีการวินิจฉัย

แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคผมร่วงหย่อมได้ โดยการตรวจลักษณะของผมร่วง ผู้ป่วยบางรายที่มีลักษณะของรอยโรคไม่ชัดเจน หรือ สงสัยภาวะอื่นร่วมด้วย แพทย์จะขอตัดชิ้นเนื้อบริเวณรอยโรค เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา ซึ่งจะช่วยยืนยันการวินิจฉัยโรคได้

ภาพจากเว็บไซต์โรงพยาบาลศิริราช

พบได้หลังหายป่วยโควิด

วันที่ 20 กันยายน 2564 โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย รายงานว่า อาการผมร่วงเป็นหย่อม พบได้ในผู้ที่หายป่วยจากโรคโควิด-19 เนื่องจากเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดการอักเสบและเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบการทำงานภายในร่างกาย อีกส่วนหนึ่งอาจเกิดจากความเครียดหรือความวิตกกังวลของผู้ป่วยจนกระตุ้นให้เกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อม

นอกจากนี้อาจพบได้ในผู้ที่ได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด- 19 บางราย ซึ่งยังไม่สามารถทราบสาเหตุที่แน่ชัดในปัจจุบันยังคงต้องศึกษาและติดตามต่อไป

  1. ผมร่วงเป็นหย่อม เป็นวงมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3-5 เซนติเมตร
  2. เกิดขึ้นตามหลังอาการป่วยจากการติดเชื้อโรคโควิด-19 ประมาณ 1-2 เดือน
  3. พบรอยโรคได้ทั้งเป็นหย่อมเดี่ยว หรือหลายหย่อม
  4. ผู้ป่วยบางรายที่มีอาการรุนแรงมาก อาจพบผมร่วงเป็นหย่อมกระจายอยู่ทั่วศีรษ : หรือมีเส้นขนที่ร่วงตามร่างกายร่วมด้วย เช่น ขนคิ้ว ขนตา ขนจมูก

คำแนะนำจากแพทย์

ผู้ป่วยที่หายจากโรคโควิด-19 และเกิดอาการผมร่วงเป็นหย่อมควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและรับการรักษาโดยการให้ยาสเตียรอยด์ชนิดทา หรือฉีดเฉพาะที่ หรือยารับประทานในกลุ่มปรับระดับภูมิคุ้มกัน จะช่วยบรรเทาอาการผมร่วงให้ทุเลาลงและผมกลับมางอกขึ้นใหม่เป็นปกติ