พิษเศรษฐกิจ-ตั๋วบินแพง ทุบมู้ดคนไทยชะลอเที่ยวต่างประเทศ

เจริญ วังอนานนท์
เจริญ วังอนานนท์

ปี 2562 นอกจากจะเป็นปีที่ประเทศไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติสูงสุดถึง 40 ล้านคนแล้ว ยังเป็นปีที่มีจำนวนคนไทยเดินทางออกไปเที่ยวต่างประเทศสูงสุดด้วยเช่นกัน

ข้อมูลจากสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) หรือสมาคมทัวร์เอาต์บาวนด์ ซึ่งทำตลาดคนไทยไปเที่ยวต่างประเทศ ระบุว่าปี 2562 มีคนไทยออกเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศถึง 11 ล้านคน มีมูลค่าการใช้จ่ายรวมประมาณ 3.3 แสนล้านบาท

สำหรับปี 2565 นี้หลายสำนักวิจัย รวมถึง Global Rescue คาดการณ์ว่าหลังจากทั่วโลกได้รับวัคซีน และเปิดประเทศจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ใหม่ของการเดินทางท่องเที่ยวที่เรียกว่า “เที่ยวล้างแค้น” หรือ revenge travel ซึ่งเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นแบบทะลักทลาย เพื่อชดเชยเวลาและประสบการณ์การเดินทางที่เสียไปในช่วงการระบาดของโควิด

เศรษฐกิจถดถอย-ตั๋วบินแพงทุบเที่ยวนอก

เจริญ วังอนานนท์

“เจริญ วังอนานนท์” นายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ดูแลตลาดนักท่องเที่ยวขาออก (เอาต์บาวนด์) ประเมินว่าแนวโน้มการเดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศของคนไทยสำหรับปี 2565 นี้หากเทียบกับปี 2562 พบว่ายังกลับมาได้ไม่เกิน 30% เนื่องจากปัจจัยลบที่สูงมาก

โดยเฉพาะ 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว 2.ความมั่นคงด้านการทำงานของคนวัยทำงานลดลงและส่วนใหญ่มีรายได้ลดลง และ 3.คนรุ่นใหม่ได้รับผลกระทบจากการลงทุนในธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี ทั้ง 3 ปัจจัยนี้ทำให้คนไทยมีกำลังซื้อลดลงและใช้จ่ายระมัดระวังขึ้น

ขณะที่ต้นทุนการเดินทาง โดยเฉพาะตั๋วเครื่องบินก็ปรับตัวสูงขึ้นเยอะมาก ทำให้กลุ่มคนที่มีกำลังซื้อและพร้อมที่จะไปเที่ยวต่างประเทศมีจำนวนน้อยลง เหลือเพียงกลุ่มระดับบนที่มีสัดส่วนประมาณ 50% เท่านั้น ส่วนกลุ่มระดับกลางลงล่างนั้นหายไปเยอะมากแน่นอน

“เจริญ” บอกด้วยว่า ด้วยปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้จำนวนคนเดินทางจริงไม่ได้มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ส่วนที่ดูเหมือนจะคึกคักนั้นส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะคนที่เดินทางนิยมนำไปเผยแพร่ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้คนทั่วไปคิดว่ามีคนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

“ตอนนี้ภาพรวมของราคาตั๋วโดยสารเครื่องบินยังสูงมาก โดยเฉพาะเส้นทางยุโรปที่ยังอยู่เกือบเท่าตัว เนื่องจากดีมานด์มากกว่าซัพพลาย สายการบินจึงถือโอกาสสร้างกำไรให้ครอบคลุมกับที่ขาดทุนมาก่อนหน้านี้ เพราะถ้าไม่ทำแบบนี้ก็จะเดินต่อลำบาก”

ผู้ประกอบการรุกปรับกลยุทธ์ชูราคาถูกจูงใจ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนำเที่ยวหรือบริษัททัวร์ก็ได้พยายามปรับกลยุทธ์การขายใหม่ เพื่อทำให้ราคาแพ็กเกจทัวร์มีราคาที่ถูกลง ไม่ว่าจะเป็นขายโปรแกรมทัวร์ล่วงหน้าแต่ยังไม่ระบุราคาตั๋วโดยสารเครื่องบิน เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์ราคาในช่วงที่จะเดินทางเป็นอย่างไร

หรือจัดโปรแกรมทัวร์แบบให้มีช่วงเวลาอิสระ หรือ free & easy มากขึ้น ไม่รวมอาหารบางมื้อ เพื่อให้มีราคาที่ถูกลงและจูงใจให้คนไทยตัดสินใจออกเดินทางท่องเที่ยวง่ายขึ้น เป็นต้น ซึ่งประเด็นเหล่านี้ผู้บริโภคต้องพิจารณาเลือกแพ็กเกจและบริการให้สอดรับกับความต้องการของตัวเองให้ดี

“ตอนนี้หลักการทำธุรกิจของทุกคนคือจะขาดทุนต่อไปไม่ได้ ทุกอย่างต้องชัวร์ เพราะเจ็บกันมาเกือบ 3 ปี ดังนั้นแต่ละคนก็จะมีกลยุทธ์การขายที่สอดรับกับกลุ่มลูกค้าของตัวเอง ซึ่งเชื่อว่านับจากนั้นเราจะได้เห็นรูปแบบการขายใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับลูกค้ามากขึ้น”

ญี่ปุ่น

“ญี่ปุ่น-เกาหลี-ไต้หวัน” ท็อป 3 ฟื้นตัวเร็วที่สุด

สำหรับแนวโน้มการฟื้นตัวนั้น “เจริญ” วิเคราะห์ว่า ตลาดที่น่าจะฟื้นตัวเร็วที่สุดในปีหน้าคือ ญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นประเทศที่มีมาตรฐานการจัดการท่องเที่ยวค่อนข้างดี และเป็นเดสติเนชั่นที่คนไทยนิยมมากที่สุด ตามด้วย เกาหลี ไต้หวัน และฮ่องกง

สอดรับกับ “ธนพล ชีวรัตนพร” เจ้าของบริษัท แตงโมทัวร์ จำกัด และบริษัท ควอลิตี้ เอ็กซ์เพรส จำกัด และในฐานะอุปนายกสมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) ที่เสริมว่า ส่วนตัวประเมินว่าในปี 2566 ตลาดญี่ปุ่นน่าจะเป็นตลาดที่ยังมาแรง และเป็นตลาดเดียวที่จะกลับมาได้ใกล้เคียงกับปี 2562 คือมีจำนวนคนไทยไปเที่ยวญี่ปุ่นราว 1.3 ล้านคน

“หลังจากที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลับไปได้เร็วที่สุด ทุกประเทศมุ่งหน้าสู่ญี่ปุ่น โดยในส่วนของตลาดคนไทยคาดว่าปีนี้จะมีจำนวนราว 5 แสนคน”

ส่วนตลาดอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นเกาหลี ไต้หวัน คาดว่าน่าจะฟื้นตัวได้ราว 50% ขณะที่ตลาดฮ่องกงคาดว่าจะฟื้นตัวได้ประมาณ 60% เนื่องจากคนไทยรู้จักและคุ้นเคยกับฮ่องกงเป็นอย่างดี

ขณะที่เส้นทางท่องเที่ยวในโซนยุโรปนั้นแม้จะเปิดประเทศก่อนภูมิภาคเอเชียแต่หลายประเทศยังมีปัญหาเรื่องความสะดวกในการเดินทาง รวมถึงกระบวนการขั้นตอนการขอวีซ่าที่ใช้เวลาค่อนข้างนาน ไม่สามารถทำตลาดในส่วนของกรุ๊ปทัวร์ได้มากนัก

ดังนั้นภาพรวมของปี 2566 นี้หากสถานการณ์โดยรวมไม่มีปัจจัยลบใหม่เข้ามาเพิ่มเติมตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศน่าจะกลับมาได้ประมาณ 50% เมื่อเทียบกับปี 2562 หรือมีจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศประมาณ 5-6 ล้านคน

ปี’66 ท้าทายทั้งเอาต์บาวนด์-อินบาวนด์

“ธนพล” บอกด้วยว่า สิ่งที่ท้าทายมากที่สุดสำหรับปี 2565 คือ ขนาดตลาดคนไทยเที่ยวต่างประเทศที่มีขนาดเล็กลง คนที่เที่ยวปีละหลายครั้งก็อาจจะเหลือแค่ปีละ 1-2 ครั้ง หรือบางส่วนที่เคยไปเที่ยวระยะไกลจะปรับแผนเที่ยวระยะใกล้ หรืออาจลดความถี่ลง เป็นต้น

ขณะที่ตลาดที่ไปนาน ๆ เช่น เกาหลี ไต้หวัน ฮ่องกง ยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว โดยเฉพาะความพร้อมในการรองรับการเดินทางของนักท่องเที่ยวที่กลับมาอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ที่พัก อาหาร ฯลฯ

“ผมมองว่าปี 2566 นี้จะเป็นปีที่ดีและท้าทายอย่างมากของประเทศไทยทั้งในส่วนของตลาดเอาต์บาวนด์และอินบาวนด์ เนื่องจากตลาดนักท่องเที่ยวคนไทยเป็นเป้าหมายหลักของหลายประเทศ โดยเฉพาะญี่ปุ่นที่ตั้งเป้าดึงกลุ่มคนไทยไว้สูงมาก ขณะที่ตลาดอินบาวนด์ก็น่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะสัญญาณที่ดีของการผ่อนคลายมาตรการโควิดของจีน”

ปรากฏการณ์ “เที่ยวล้างแค้น” แค่ระยะสั้น

แหล่งข่าวในวงการท่องเที่ยวรายหนึ่งกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากกรณีที่หลายสำนักวิจัย รวมถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า หลังการแพร่ระบาดของโควิดจะทำให้เกิดการเดินทางท่องเที่ยวแบบทะลัก หรือเที่ยวแบบล้างแค้นนั้นพบว่าขึ้นกับนักท่องเที่ยวในกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูง และน่าจะเป็นแนวโน้มระยะสั้น หรือแค่ภายในปี 2565 นี้เท่านั้น

เนื่องจากคนส่วนใหญ่ตั้งใจเก็บเงินสำรองไว้สำหรับการท่องเที่ยวโดยเฉพาะในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เมื่อคนเหล่านี้ได้ออกเดินทางท่องเที่ยวและคลายความอัดอั้นไปแล้วจะทำให้เกิดการชะลอการเดินทางท่องเที่ยวในปีต่อไป

“ยอมรับว่าในช่วงที่หลาย ๆ ประเทศโดยเฉพาะประเทศในยุโรปประกาศเปิดประเทศเมื่อปลายปี 2564 คนไทยจำนวนหนึ่งแห่ออกเที่ยวต่างประเทศกันทันที คิวยื่นขอวีซ่ายาวเหยียด ต้องรอนานถึง 1-2 เดือน และยิ่งทะลักมากขึ้นเมื่อญี่ปุ่นซึ่งเป็นเดสติเนชั่นที่คนไทยเฝ้ารอการเปิดประเทศเมื่อเดือนตุลาคม 2565 ที่ผ่านมา”

พร้อมอธิบายว่า ปรากฏการณ์คนไทยแห่เที่ยวต่างประเทศในช่วงที่ผ่านมานั้นมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ 1.อัดอั้นไม่ได้เดินทางมาร่วม 3 ปี และมีเงินเก็บไว้สำหรับเที่ยว กลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มระดับบนที่กำลังซื้อสูง

และ 2.จำเป็นต้องเดินทาง นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จองบัตรโดยสารสายการบินไว้แต่ยังไม่ได้เดินทาง หรือจองแพ็กเกจทัวร์ไว้แต่ยังไม่ได้เดินทางเช่นกัน ซึ่งสายการบินและบริษัททัวร์ให้เก็บเครติดเงินสดไว้สำหรับการเดินทางเหมือนเดิม ไม่คืนเงิน จึงจำเป็นต้องเดินทางเพื่อ “ล้างหนี้”

ดังนั้น จึงเชื่อว่าตลาดตลาดเอาต์บาวนด์หรือคนไทยเที่ยวต่างประเทศของไทยยังต้องใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2-3 ปีในการพลิกฟื้นและมีจำนวนคนไทยเที่ยวต่างประเทศกลับมาสู่ 10-11 ล้านคนเท่ากับปี 2562 อีกครั้ง