“นกแอร์” รุกบินอินเตอร์ จ่อหาทุนหนุนสภาพคล่องอีก 600 ล้าน

คอลัมน์ : สัมภาษณ์

ทันทีที่รัฐบาลประกาศเปิดประเทศเต็มรูปแบบเมื่อกลางปี 2565 สายการบินของไทยต่างโหมเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศกันอย่างคึกคัก โดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมประเทศในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงเมืองท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของคนไทย อาทิ เกาหลี, ญี่ปุ่น, ไต้หวัน อินเดีย ฯลฯ

“นกแอร์” สายการบินราคาประหยัดที่ล่าสุดได้ขยับตัวเองหนีสงครามราคา ด้วยการก้าวสู่พรีเมี่ยมแอร์ไลน์ ให้บริการแบบฟูลเซอร์วิส มีห้องรับรองผู้โดยสาร ณ ท่าอากาศยานดอนเมือง ก็เตรียมแผนรุกเส้นทางบินระหว่างประเทศต่อเนื่องในปีนี้

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “วุฒิภูมิ จุฬางกูร” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ถึงแนวคิด มุมมอง รวมถึงทิศทางการดำเนินงานสำหรับปี 2566 ไว้ดังนี้

“วุฒิภูมิ” บอกว่าในช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์มีปริมาณผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการออกเดินทางของนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศที่มากขึ้น ปัจจุบันนกแอร์มีอัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยที่ 85% ให้บริการจำนวนเที่ยวบินคิดเป็น 60-70% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันก่อนการระบาดโควิด-19 หรือเฉลี่ยประมาณ 110 เที่ยวบินต่อวัน และมีปริมาณการผลิตที่นั่งโดยสารคิดเป็น 60-70%

ปี’66 ปัจจัยลบยังเพียบ

สำหรับภาพรวมปี 2566 นี้ “วุฒิภูมิ” มองว่าค่าเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐอาจแข็งค่าขึ้น ค่าน้ำมันปรับตัวลดลง ส่งผลดีต่อการออกเดินทางทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งธุรกิจสายการบินจะได้รับอานิสงส์ดังกล่าวด้วย

“ต้องจับตาสงครามรัสเซีย-ยูเครน การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐอเมริกา การปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่สำคัญต้องติดตามผลการเลือกตั้งในประเทศด้วย ว่ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งครั้งใหม่นี้จะมีนโยบายด้านการท่องเที่ยวอย่างไร”

ไม่ว่าอย่างไร ราคาน้ำมันถือเป็นต้นทุนสำคัญของธุรกิจการบิน โดยปัจจุบันราคาน้ำมันมีสัดส่วนประมาณ 30% ของต้นทุน และสัดส่วนดังกล่าวแปรผันตามราคาน้ำมันอากาศยานในตลาดโลก

เพิ่มเส้นทางบินต่างประเทศ

วุฒิภูมิ” บอกอีกว่า ปัจจุบันนกแอร์ทำการบินไปยังจุดบินต่าง ๆ ในประเทศไทยครบแล้ว แผนงานหลัก ๆ ของปี 2566 นี้อาจจะไม่มีการเปิดเส้นทางบินใหม่จากฐานการบินกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) แล้ว แต่จะเลือกเพิ่มความถี่ตามปริมาณความต้องการของผู้โดยสาร หรืออาจมีการเปิดเที่ยวบินข้ามภาค

พร้อมระบุว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 มียอดขายจากตลาดในประเทศราว 80% ส่วนรายได้จากเส้นทางบินประเทศจีนราว 5% ขณะที่ไตรมาส 4/2565 มีรายได้จากตลาดในประเทศที่ประมาณ 95%

“ในปี 2566 เราตั้งเป้ามีอัตราการบรรทุกผู้โดยสารเส้นทางบินในประเทศช่วงไฮซีซั่นราว 85% และเส้นทางต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 70% และเพิ่มสัดส่วนรายได้เส้นทางต่างประเทศเป็น 15% โดยจะเริ่มเห็นเที่ยวบินต่างประเทศมากขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์-เมษายนนี้”

เดินแผน “ช้าแต่ชัวร์”

สำหรับแผนเปิดเส้นทางใหม่ในปี 2566 นี้ ได้แก่ เส้นทางดอนเมือง-ไฮเดอราบัด (อินเดีย) วันที่ 19 กุมภาพันธ์ ตามด้วยเส้นทางดอนเมือง-สิงคโปร์ ในเดือนมีนาคม เส้นทางดอนเมือง-ไทเป (ไต้หวัน) และเส้นทางดอนเมือง-ชัยปุระ (อินเดีย) ในช่วงต้นเดือนเมษายน เป็นต้น

ส่วนเส้นทางบินประเทศจีนนั้น แม้รัฐบาลจะผ่อนคลายมาตรการเข้าออกพรมแดนแล้ว แต่ยังต้องติดตามในรายละเอียดทั้งจากรัฐบาลจีน แนวทางการอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกต่างประเทศที่ชัดเจน รวมถึงข้อกำหนดสำนักงานการบินพลเรือนจีน (CAAC) อีกครั้ง

ต่อคำถามว่า ที่ผ่านมาหลายสายการบินในไทยเริ่มกลับมาให้บริการเส้นทางบินต่างประเทศแล้ว ทำไมนกแอร์ยังเน้นทำการบินในประเทศเป็นหลัก “วุฒิภูมิ” บอกว่านกแอร์เราขอไปช้า แต่ไปแบบมั่นคงดีกว่า

“คาดว่าในปี 2566-2567 ผลการดำเนินงานของนกแอร์จะเป็นไปในทิศทางการฟื้นตัว ลดการขาดทุน และมีรายได้การเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศมากขึ้น ใช้เครื่องบินได้คุ้มค่าขึ้น”

ทั้งนี้ การเปิดเส้นทางใหม่นกแอร์จะดูเส้นทางที่เครื่องบินโบอิ้ง 737-800 สามารถทำการบินได้ แต่หากในเส้นทางเดียวกันสายการบินอื่นใช้เครื่องบินลำตัวกว้างนกแอร์อาจหลีกเลี่ยงการแข่งขันโดยตรง เพราะเครื่องบินขนาดใหญ่อาจมีต้นทุนการให้บริการที่ถูกกว่า

รับเครื่องบินเพิ่ม 2 ลำ

ซีอีโอหนุ่มสายการบินนกแอร์ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันสายการบินนกแอร์มีเครื่องบินประจำการ 17 ลำ แบ่งเป็นเครื่องบินแบบบอมบาดิเอร์ แดช 8 คิว 400 จำนวน 3 ลำ และโบอิ้ง 737-800 จำนวน 14 ลำ ใช้ปฏิบัติการบินอยู่ 13 ลำ ส่วนอีก 1 ลำอยู่ในระหว่างการซ่อมแซมหลังประสบเหตุลื่นไถลออกนอกทางวิ่งที่จังหวัดเชียงราย

มีอัตราการใช้ประโยชน์เครื่องบิน แบบแดช 8 คิว 400 อยู่ที่เฉลี่ย 7 ชั่วโมงต่อวัน จากปกติที่ใช้อยู่ราว 8-9 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนโบอิ้ง 737-800 มีอัตราการใช้ประโยชน์อยู่ที่ 8-9 ชั่วโมงต่อวัน จากปกติราว 11-12 ชั่วโมงต่อวันทำให้ยังขยายเส้นทางบินเพิ่มเติมได้อีก

นอกจากนี้ยังมีแผนนำเข้าเครื่องบินแบบ 737-800 อีกปีละ 2 ลำ และกรณีที่มีดีมานด์มากขึ้น ก็มีแผนนำเข้า 737 Max 8 อีก 6 ลำในอนาคต

ก้าวสู่ “Hybrid Airline”

“วุฒิภูมิ” ย้ำด้วยว่านกแอร์ใช้กลยุทธ์ “Hybrid Airline” โดยลูกค้าสามารถเลือกซื้อบริการต่าง ๆ ได้เหมือนสายการบินฟูลเซอร์วิส ขณะเดียวกัน ผู้โดยสารที่ไม่ได้ซื้อบริการดังกล่าว ยังสามารถสัมผัสประสบการณ์พรีเมี่ยมได้โดยสายการบินได้จับมือกับพันธมิตรอื่น ๆ เช่น ห้างเซ็นทรัล ร้าน KOI Thé (โคอิ เตะ) มอบส่วนลดให้ผู้โดยสาร

และปัจจุบันยังเปิดช่องทางให้ผู้โดยสารที่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือประสบอุบัติเหตุไม่สามารถเดินทางได้ สามารถเก็บวงเงินบัตรโดยสารไว้ได้เป็นเวลา 1 เดือน ส่วนการเดินทางครั้งใหม่ ผู้โดยสารต้องชำระส่วนต่าง (ถ้ามี)

สำหรับผู้โดยสาร Nok Max สามารถเข้าใช้บริการห้องรับรองผู้โดยสาร ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง และสามารถใช้สิทธิเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน แล้วเดินทางกับสายการบินไทยสมายล์ได้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ในส่วนของบริการห้องรับรองอาจพิจารณาขยายไปยังท่าอากาศยานอื่น ๆ ในอนาคต โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับการบินไทยและไทยสมายล์

“เราต้องการหลบหลีกจากการแข่งขัน ออกจากการเป็นโลว์คอสต์ อีกด้านหนึ่งเราต้องการนำผู้โดยสารที่ต้องการบริการแบบฟูลเซอร์วิสมาเติมเต็มที่นั่งที่ว่างอยู่”

เสนอรัฐคุมสงครามราคา

“วุฒิภูมิ” ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ทุกสายการบินกลับมาให้บริการได้ใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิดแล้ว ส่วนตัวเชื่อว่าในเดือนพฤษภาคม 2566 นี้ สงครามราคาอาจกลับมาอีกครั้ง หลังผ่านช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงอยากเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรวมถึงภาครัฐ ควรมีมาตรการควบคุมการขายบัตรโดยสารต่ำกว่าต้นทุน การก่อสงครามราคา

พร้อมอธิบายว่า ก่อนสถานการณ์โควิด-19 สายการบินที่มีรายได้บัตรโดยสารเฉลี่ยประมาณ 1,400-1,500 บาทต่อเที่ยว แต่ยังมีผลประกอบการขาดทุน ดังนั้น ราคาเฉลี่ยบัตรโดยสารต่อเที่ยวที่เหมาะสมอาจต้องสูงกว่าราคาดังกล่าว

อัด 600 ล้านเสริมสภาพคล่อง

สำหรับความคืบหน้าเรื่องแผนฟื้นฟูและสถานะทางการเงินนั้น “วุฒิภูมิ” บอกว่า ส่วนการจ่ายหนี้ของบริษัท บริษัทได้จ่ายหนี้ตรงตามกรอบเวลา อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมหาแหล่งเงินจำนวน 600 ล้านบาท โดยอาจเป็นการกู้จากสถาบันการเงินหรือการเพิ่มทุน เพื่อเพิ่มสภาพคล่อง รวมถึงเตรียมความพร้อมกับการรับเครื่องบินลำใหม่

และอธิบายว่า เดิมสายการบินนกแอร์ประสบปัญหาด้านกระแสเงินสด ทำให้ไม่มีอะไหล่สำรองคงคลังไว้ เมื่อเครื่องบินขัดข้องต้องรอการนำเข้าอะไหล่จากต่างประเทศ 7-10 วัน

โดยล่าสุด “นกแอร์” ได้กู้เงินและสำรองชิ้นส่วนอะไหล่ เช่น เกียร์ เครื่องยนต์ สอดคล้องกับการทำการบินที่มากขึ้น ทำให้ซ่อมบำรุงได้เร็วขึ้น ลดปัญหาเที่ยวบินล่าช้าไปได้ด้วย

นกแอร์