สหภาพแรงงานการบินไทยออกแถลงการณ์ค้าน “ชาญศิลป์” เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟู

ชาญศิลป์ ตรีนุชกร

สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ออกแถลงการณ์คัดค้าน “ชาญศิลป์ ตรีนุชกร” เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท แจงละเอียดยิบเหตุผล 2 ข้อหลัก ยันเคารพการตัดสินใจในการเสนอผู้บริหารแผนของเจ้าหนี้ พร้อมร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจขับเคลื่อนองค์กรตามแผนฟื้นฟู หวังพลิกฟื้นสายการบินแห่งชาติกลับมาได้อีกครั้ง

วันที่ 16 พฤษภาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายศิริพงศ์ ศุกระกาญจนโชค ประธานสหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท. สพ.) องค์กรแรงงานตามกฎหมายที่ถูกจัดขึ้นโดยพระราชบัญญัติแรงงานสัมมพันธ์ พ.ศ. 2518 ได้ออกแถลงการณ์ ฉบับที่ 2/2564 เรื่อง ขอแสดงจุดยืนเห็นด้วยในการเสนอผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) โดยเจ้าหนี้ และคัดค้าน นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ

โดยระบุว่า สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท. สพ.) ได้ติดตามความเคลื่อนไหวการโหวตรับรองแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ที่คณะผู้ทำแผนได้นำเสนอแผนฟื้นฟูกิจการ (แผนลูกหนี้) ต่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 และแผนฟื้นฟูกิจการฉบับขอปรับแก้โดยเจ้าหนี้ที่ได้เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ วันที่ 7 มีนาคม 2564 โดยขอแสดงจุดยืนเห็นด้วยในการเสนอผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ โดยเจ้าหนี้ ในการโหวดรับรองแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 นี้

แต่เนื่องจากปรากฎข่าวในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2564 ที่อ้างถึงแหล่งข่าวว่าผู้บริหารบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้เดินสายล็อบบี้เจ้าหนี้หุ้นกู้สหกรณ์เพื่อเสนอชื่อให้นายชาญศิลป์ เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ สหภาพ สร.กบท. สพ. ขอแสดงจุดยืนคัดค้านนายชาญศิลป์เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ด้วยเหตุผลประกอบดังนี้

1.พนักงานการบินไทยและสมาชิกสหภาพ สร.กบท. สพ.ได้ทำหนังสือร้องเรียนมาเป็นจำนวนมากว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงาน และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของพนักงาน รวมทั้งกระบวนการกลั่นกรองพนักงานเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 (Relaunch 1-3) มีการเลือกปฏิบัติในลักษณะของระบบอุปถัมภ์ โดยไม่คำนึงถึงประสบการณ์และความชำนาญงานของพนักงานในสายงานนั้น ๆ ซึ่งก่อให้เกิดการแบ่งแยกแตกความสามัคคีในหมู่พนักงานอย่างรุนแรง ส่งผลให้พนักงานไม่มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

2.หลังจากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งแต่งตั้งนายชาญศิลป์ เป็นหนึ่งในคณะผู้ทำแผน ตั้งแต่วันที่ 14 กันยายน 2563 คณะผู้ทำแผนได้มอบหมายให้นายชาญศิลป์ ดำรงตำแหน่งรักษาการแทนกรรมการผู้จัดการใหญ่ (DD) และรักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายทรัพยากรบุคคล (DB) ทำหน้าที่ดูแลรับผิดชอบบริหารงานบุคคล (HR) อีกหนึ่งตำแหน่ง นายชาญศิลป์ไม่ปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูกิจการของคณะผู้ทำแผนที่เสนอต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564

โดยได้นำแผนที่มีส่วนในการจัดทำร่วมกับคณะผู้ทำแผน มาเร่งดำเนินการปรับโครงสร้างองค์กร ลดจำนวนพนักงาน และเปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างงานของพนักงาน โดยที่แผนฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ยังไม่ผ่านการพิจารณาและรับการโหวตรับรองโดยเจ้าหนี้ และยังไม่มีคำสั่งศาลในการอนุมัติแผน รวมไปถึงยังไม่มีคำสั่งศาลแต่งตั้งผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ จึงเป็นการดำเนินการที่อาจขัดกับพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 พระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 และพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541

จากเหตุผลดังกล่าวนี้ สหภาพแรงงานการบินไทยร่วมใจสัมพันธ์ (สร.กบท. สพ.) จึงไม่อาจไว้วางใจให้นายชาญศิลป์เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ แต่เคารพการตัดสินใจในการเสนอผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ ของเจ้าหนี้ และมีความยินดีที่จะร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ ในการขับเคลื่อนองค์กรตามแผนฟื้นฟูกิจการบริษัทฯ เพื่อให้บริษัทสามารถดำเนินกิจการพลิกฟื้นกลับมามีกำไร และเป็นสายการบินแห่งชาติให้คนไทยได้ภูมิใจอีกครั้ง