วิโรจน์ จะเป็นผู้ว่า กทม.ไม่กลัวตาย ริบงบผู้รับเหมา กระจายเงิน 4 พันล้าน

วิโรจน์ ลักขณาอดิศร
คอลัมน์ : สัมภาษณ์พิเศษ
ผู้เขียน : ณัฐวุฒิ กรัณยโสภณ

จากวิศวกรยานยนต์ เปลี่ยนเส้นทางไปสู่พนักงาน เป็นผู้บริหารในแวดวงธุรกิจวงการหนังสือ

ก้าวเท้าสู่การเป็นนักการเมือง จนกลายเป็นหัวหมู่ทะลวงฟันของพรรคก้าวไกล ในสภาผู้แทนราษฎร

วันนี้ “วิโรจน์ ลักขณาอดิศร” เปลี่ยนเส้นทางชีวิตอีกครั้งเป็นผู้ท้าชิงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร คนที่ 17

“ประชาชาติธุรกิจ” แทรกคิวหาเสียง สนทนากับ “วิโรจน์” ถึงมุมคิด เบื้องหลังนโยบาย ที่เขาต้องการให้สร้าง “กรุงเทพฯ” เป็น “เมืองที่ทุกคนเท่ากัน”

โดมิโนตัวแรก รัฐสวัสดิการ

“วิโรจน์” ชวนเปิดประเด็น เบื้องหลังความคิด เมืองที่คนเท่ากัน ว่าเมืองในอนาคต ที่เราทุกคนอยากให้เป็นคืออะไร ถ้าเรามองในมุมของคนทั่วไปที่มีชีวิตอยู่ ต้องเป็นเมืองที่มีโอกาสตั้งตัวได้

ถ้าคนทำมาหากิน หนุ่มสาวออฟฟิศก็หวังว่าจะมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่คนมีเงินแล้วต้องเป็นเมืองที่น่าลงทุน เป็นเมืองที่น่าจะขยายกิจการ ลงทุนในธุรกิจใหม่ ๆ ได้ มี business partner ใหม่ ๆ ที่ขยาย supply chain ได้ เมืองถึงจะน่าอยู่ที่โอบรับความหวังของทุกคน

มีโอกาสมากขึ้น หลุดพ้นจากความยากจนมากขึ้น นี่คือโจทย์ของเรา

ต้องมีสวัสดิการที่ดี ที่ให้ประชาชนเข้าถึงสวัสดิการที่มีคุณภาพ ทั้งการเติมเงินสวัสดิการให้ผู้สูงอายุ เด็ก 0-6 ปี ให้กับผู้พิการ พูดเรื่องวัคซีนปอดอักเสบ ซึ่งเป็นปัญหาของผู้สูงอายุ ที่ทำให้ติดเตียง ต้องมีการเจาะคอ ซึ่งปัญหาไม่ได้มีเฉพาะผู้สูงอายุ แต่ต้องคิดถึงคนเป็นลูกที่ต้องมาดูแลพ่อแม่ แล้วไม่ได้ทำงาน ไม่ได้วิ่งตามความฝัน

เพราะเราไม่อยากให้คนในเมืองนี้ เอาเงินไปจ่ายในการบริการสาธารณสุขด้วยตัวเอง ทำให้รายได้ที่หามาด้วยความเหนื่อยยากกลับเจอค่าใช้จ่ายแบบนี้ กำลังซื้อก็จะน้อยลง

“เวลาชวนนักลงทุนคิด ถ้าหากเรามีสวัสดิการดูแลพ่อแม่ได้ดี คนที่ทำงาน หรือวิ่งตามความฝันอยู่ เขาก็จะเบาแรงลงในการดูแลพ่อแม่มากขึ้น ถ้าเขารู้สึกว่าเมืองดูแลเขาได้ดีพอสมควร เขาก็ทำงานได้อย่างเต็มที่”

“ถ้าเราสร้างสวัสดิการได้ ผู้ว่าฯ กทม.คนต่อไปจะไม่มีทางตัด มีแต่จะเพิ่มขึ้น และจะเป็นการเรียกร้อง สร้างแรงกดดันเชิงบวกให้รัฐบาลทำรัฐสวัสดิการด้วย”

“วิโรจน์” ยืนยันว่า นี่ไม่ใช่การแจกเงิน แต่เป็นโดมิโนตัวแรก เพื่อผลักให้รัฐสร้างรัฐสวัสดิการให้ได้

สร้างระบบให้รายเล็กสู้รายใหญ่

ขณะเดียวกัน “วิโรจน์” คิดโครงการว่า ต้องมีบ้านสำหรับคนเมือง ในมิติเศรษฐศาสตร์ ถ้าคนเอารายได้ทั้งหมดไปจ่ายค่าบ้าน บางคนจ่ายค่าบ้านไม่ไหว เพราะเงินเดือนขึ้นวิ่งไล่ตามที่พักอาศัยในเมืองไม่ได้ สุดท้ายก็ต้องถูกผลักไปอยู่นอกเมือง แลกกับค่าเดินทางวันละ 100-200 เข้ามาในเมือง รายได้ของคนพอหักค่าใช้จ่ายไปเรื่อย ๆ ก็เหลือกำลังซื้อนิดเดียว ทำให้เมืองนี้ขาดกำลังบริโภค ยังไม่นับหนี้ครัวเรือน

เขาชวนนายทุน-นักลงทุนคิดว่า ถ้าเราไม่ทำบ้านคนเมือง คนเหล่านี้ก็ไม่ใช่ใครอื่น ก็คือคนที่มาทำงานกับคุณไม่ใช่หรือ ดังนั้นถ้าไม่ทำอย่างนี้ สุดท้ายใครที่เดือดร้อน เพราะ foreign direct investment-FDI (การลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนต่างประเทศ) ก็ไม่ได้มากมายเหมือนเมื่อก่อน แสดงว่าทั้งเมืองไม่มีการบริโภค เต็มไปด้วยหนี้ครัวเรือน แล้วใครจะมาลงทุน

ส่วน Thai direct investment (การลงทุนโดยตรงจากนักลงทุนคนไทย) คนที่มีสตางค์ก็เอาเงินลงทุนไปลงทุนในต่างประเทศหมด เพราะไม่มี supply chain ใหม่ ๆ เกิดขึ้น ไม่มีธุรกิจสร้างสรรค์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นใช่ไหม แล้วทำไมไม่ให้บริบทของเมืองดูแลตรงนี้ เพื่อฟูมฟักให้เป็นเมืองที่มีความหวังของทุกคน คนที่มีสตางค์ คนที่มีเงิน จะได้เจอแหล่งลงทุนใหม่ ๆ เจอสตาร์ตอัพใหม่ ๆ

“ถ้าเมืองนี้มีแต่การผูกขาดทางธุรกิจ เมืองนี้ก็จะเฉาลงเรื่อย ๆ ไม่มี supply chain คุณรู้ตัวดีใช่ไหม จึงหนีไปลงทุนต่างประเทศ”

“วิโรจน์” กล่าวว่า ดังนั้นให้เมืองใช้กลไกทางเศรษฐกิจแก้ปัญหา หรือสนับสนุนธุรกิจใหม่ ๆ ได้ไหม เช่น เก็บค่าธรรมเนียม ภาษีป้าย ภาษีที่ดิน เราสามารถอุดหนุนให้กับธุรกิจใหม่ ๆ ธุรกิจสร้างสรรค์ ธุรกิจนวัตกรรมที่เกิดขึ้นใหม่ ๆ ได้ไหม

แล้วคนตัวใหญ่จะได้อะไร…นี่ไง ได้แหล่งลงทุนใหม่ ๆ ได้ supply chain ใหม่ ๆ ได้ supplier ใหม่ ๆ ได้คู่ค้าทางธุรกิจใหม่ ๆ แล้วเมืองนี้จะกลับมาน่าลงทุนอีกครั้ง

“ถ้ามีสวัสดิการที่ดี มีการแบ่งเบาค่าครองชีพ รายได้สุทธิก็จะมากขึ้น เมื่อเขาหักค่าใช้จ่ายก็จะเหลือกำลังซื้อ กำลังซื้อก็จะกลายเป็นกำลังบริโภค ถ้าเกิดว่าเขามั่นใจว่าเขามีความมั่นคงในชีวิตจากสวัสดิการของรัฐให้เขามีคุณภาพชีวิตเพียงพอ เขาก็ยิ่งกล้าบริโภคเลยนะ ส่วนที่เหลือจะวนกลับมาเป็นเงินลงทุน”

วิโรจน์เชื่อว่า ถ้าเขาเป็นผู้ว่าฯจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ “ถามว่ากลไกอุดหนุนภาษีป้ายอยู่ในอำนาจ
ผู้ว่าฯไหม กลไกอุดหนุนหรือลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ที่ธุรกิจใหม่ ๆ ต้องเสีย หรือกลไกออกข้อบัญญัติในการจัดเก็บภาษีที่ดินที่สนับสนุนธุรกิจขนาดย่อมเกิดขึ้นได้ไหมล่ะ…ทำได้นี่ เพียงแต่ว่าคิดถึงคนตัวเล็กไหม”

ลองคิดดูว่าทำธุรกิจแข่งขันกับคนตัวใหญ่ภายใต้ระบบนิเวศที่ไม่มีอะไรที่สนับสนุนเขาเลย เหมือนเอาตัวผอมที่มีความฝัน ไปสู้กับคนตัวใหญ่ สู้ยังไงก็ตาย แล้วอย่าพูดกับผมอย่างนี้…ว่า บางคนสู้แล้วรวย แต่สู้ยังไงก็จนมีเยอะกว่า สู้เต็มที่แล้วตายก็มีเยอะ เพียงแต่ศพพูดไม่ได้เท่านั้นเอง

“ทำไมไม่คิดว่าเมืองจะสร้างเรือ สร้างสะพานข้าม สร้างระบบนิเวศ เพื่อสนับสนุนให้คนตัวเล็กข้ามมาได้เรื่อย ๆ ล่ะ ผมว่ามายาคติที่ว่า ต้องขยันเท่านั้น ขยันมันใช่ แต่ต้องอยู่ในระบบนิเวศที่เอื้อด้วย”

4 ปี กทม.ในมือวิโรจน์

กับคำถามว่า ทำไมโหวตเตอร์ต้องเลือกคนชื่อวิโรจน์ เป็นผู้ว่าฯ กทม. เขาตอบว่า 1.budget allocate จัดสรรงบประมาณ พูดได้หมดว่าให้ความสำคัญกับอะไร แต่ถ้าเกิดสิ่งที่คุณบอกว่าสำคัญ แต่ไม่ได้จัดสรรงบประมาณไว้ให้ สิ่งนั้นก็ไม่เกิด และถ้าการจัดสรรงบประมาณไม่เป็นธรรม เงินก็จะไปอยู่ผู้รับเหมาหมด ไม่ตกถึงมือประชาชน

2.regulate การสร้างกติกาที่เป็นธรรม ถามว่าธุรกิจหลายอย่าง สิ่งดี ๆ หลายอย่างในสังคมทำไมเกิดไม่ได้ เช่น พูดถึงเรื่องค่าธรรมเนียมขยะ ห้างใหญ่ ๆ จ่ายแค่ไม่กี่หมื่นบาท จะมีแรงจูงใจอะไรในการคัดแยกขยะ ทุกคนพูดแต่จะผลักภาระให้ครัวเรือนเรื่องการคัดแยกขยะ แต่จริง ๆ ต้องเริ่มจากนายทุนก่อน แต่กติกาไม่ได้จูงใจ เพราะเขาเสียค่าเก็บขยะไม่กี่หมื่นบาทต่อเดือน แล้วเขาจะมีแรงจูงใจอะไรมาแยกขยะเพื่อช่วยเหลือเมือง

แล้วถ้าได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. ใน 4 ปีที่จะได้เห็นเป็นรูปธรรมคืออะไร “วิโรจน์” ฉายภาพว่า 1.การจัดการงบประมาณที่เปลี่ยนแปลงแน่นอน ปลายทางสิ่งที่เราอยากทำ คือ สิ่งที่เราทำไปแล้ว ผู้ว่าฯคนใหม่มีแต่ทำให้ดีขึ้น จะไม่กลับสู่ความฟอนเฟะเหมือนเดิม

เช่น ตอนนี้งบประมาณทั้งหมดเป็นงบฯราชการ อยู่ที่เขต สำนัก งบฯกลางผู้ว่าฯ แต่เดิมปี 2558 งบฯกลางผู้ว่าฯมีแค่ 7 พันล้าน แต่ตอนนี้งอกขึ้นมา 14,000 ล้าน เป็นงบฯผู้รับเหมาฯ พอมีงบฯปั๊บ ผู้รับเหมาวิ่งมาเอางบฯแล้ว

ประชาชนเกิดปัญหาที่อยู่ตรงหน้า ได้แต่อ้อนวอนร้องขอ แต่ได้รับคำตอบว่างบฯหมด เพราะงบฯเอาไปปรนเปรอผู้รับเหมาที่มีเครือข่ายคอนเน็กชั่นกันจบแล้ว

ดังนั้น ต้องทำงบฯที่ประชาชนมีส่วนร่วม เราจะต้องดึงงบฯออกจากเขต งบฯออกจากสำนัก ออกจากงบฯกลางของผู้ว่าฯ ออกมา 4 พันล้าน ในจุดเริ่มต้น แล้วกระจายลงชุมชน 1,400 ล้าน โดยได้ชุมชนละ 5 แสน-1 ล้าน ขึ้นอยู่กับขนาดชุมชน ซึ่งมีอยู่กว่า 2 พันชุมชน

จากนั้น 2,400 ล้าน ก็จะกระจายลง 50 เขต เพราะประชาชนอยู่นอกชุมชน หรือบ้านจัดสรร เขาก็มีสิทธิเช่นกัน อีก 200 ล้าน นำมาโหวตร่วมกันทั้งกรุงเทพฯ จึงมีโครงการโหวต โครงการเลือก

ปัญหาที่ประชาชนอยากจะให้ทำ หรือปัญหาที่ตอบโจทย์กับเขาก็จะได้รับการเลือก แล้วสั่งลงมาให้ราชการไปทำ นี่ไม่ใช่การกระจายงบประมาณ แต่เป็นการคืนอำนาจให้กับประชาชน

“ถ้าเราเริ่มต้นดึงงบประมาณมา 4 พันล้านได้ คิดว่าผู้ว่าฯคนใหม่จะกล้าตัดเหลือศูนย์ แล้วดึงมาไว้เป็นงบฯกลางของผู้ว่าฯอีกเหรอ มันไม่มีวันหรอก คนก็รู้สึกถึงความเป็นเจ้าของเงินมากขึ้น”

2.สวัสดิการ ที่เราบอกว่าจะเอาเงินภาษีที่ดินมาเติมเงินให้กับผู้สูงอายุ เด็กแรกเกิด-6 ปี และผู้พิการได้ ถ้าเราเริ่มทำได้ จะไม่มีผู้ว่าฯคนไหนมาปรับให้กลับมา มีแต่จะทำให้ดีขึ้น และจะเป็นการกดดันเชิงบวกให้รัฐบาลทำรัฐสวัสดิการได้ นี่คือ 2 สิ่งที่เกิดขึ้นได้แน่ ๆ

และสิ่งหนึ่งที่ผมอยากทำคือ เมื่อคนกรุงเทพฯฝากคนละ 1 เสียง ที่คนกรุงเทพฯต้องการให้ผู้ว่าฯแก้ปัญหาที่เขาไม่สามารถแก้เองได้ เช่น โรงไฟฟ้า โรงกำจัดขยะที่อ่อนนุช แค่จะไปดูเขาก็ยังถูกคุกคาม คนเป็นผู้ว่าฯ กทม.ต้องไปแก้ปัญหากลิ่นขยะที่กระทบคนเป็นแสนคน หรือเรื่องต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว คนก็หวังให้ผู้ว่าฯไปจัดการ และเรื่องราวแบบนี้ ประชาชนให้อำนาจกับเรา

หรือเราเห็นที่ดินใจกลางเมือง ล้อมรั้วลวดหนาม ปลูกกล้วย ปลูกมะนาว เพื่อเลี่ยงการเก็บภาษีที่ดิน ประชาชนก็เข้าไปบุกพื้นที่เอกชนไม่ได้ เขาก็หวังให้ผู้ว่าฯไปออกข้อบัญญัติให้ยุติธรรมมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ก็ต้องทำ และพอเราจัดงบประมาณได้ จะเห็นงบประมาณลงมาที่การบำรุงรักษาท่อระบายน้ำหน้าบ้านประชาชนมากขึ้น และทางเท้าที่ดีเท่าเทียมกันทั้งกรุงเทพฯ

ผู้ว่าฯต้องกล้าปกป้องคน กทม.

นโยบายพุ่งชนเพื่อคนกรุงเทพ ทั้งเรื่องโรงกำจัดขยะ เรื่องรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทวงคืนสนามหลวง ต้องแตะนายทุน-ผู้มีอำนาจ “วิโรจน์” กลัวตายบ้างไหม เขาตอบว่า

“ผมว่าสิ่งที่น่ากลัวมากกว่าความกลัวนะ คือบุญคุณ คุณเชื่อผมเถอะ สิ่งที่จุกอกมากกว่าความกลัวคือบุญคุณ แต่นี่คือสิ่งที่ผมสบายใจ เพราะไม่เคยมีนายทุนอสังหาฯรายใดมีบุญคุณกับผม ถ้าผู้ว่าฯกลัวก็คงไม่มาลงเลือกตั้งแล้ว แต่ปัญหาที่แท้จริงไม่ใช่ความกลัวหรอก มันคือบุญคุณ”

แล้วถ้าเป็นแค่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ต้องการคนแบบไหนมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. “วิโรจน์” บอกสเป็กว่า

“คนที่พร้อมปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน รู้ไหมวันแรกที่ลงสมัคร กับตอนนี้มุมมองเปลี่ยนไปมากเลย ผมได้รับการฝากปัญหานู่นนี่เต็มไปหมด แสดงว่าผู้ว่าฯ คือแหล่งรวมความหวัง พอเราสาวเท้าเข้าไป เป็นปัญหาที่แตะกับกลุ่มเครือข่ายผลประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่เช่นนั้นไม่เรื้อรังมาหลายสิบปีหรอก”

“ปัญหาของ กทม.ที่เป็นปัญหาเดิม ๆ มาหลายสิบปี ไม่ได้แก้ยาก แต่ไม่แก้ ที่ไม่แก้เพราะเจอกับเครือข่ายผลประโยชน์ต่าง ๆ และก็เว้นวรรคมัน ท่ามกลางความเดือดร้อนของประชาชน และจมอยู่กับเรื่อง ๆ นั้น จนเขาสิ้นความหวัง แต่การเลือกตั้งทำให้เขามีความหวังกลับมา ผมคิดว่าต้องการผู้ว่าฯ ที่พร้อมยืนหยัดปกป้องพวกเขา ไม่ให้เขาเสียเปรียบ”