ครัวเรือน “อังกฤษ” ยากจนลง เพราะค่าพลังงานพุ่งไม่หยุด

ครัวเรือนอังกฤษยากจนลง

สหราชอาณาจักรหรือ “ยูเค” ต้องเผชิญกับปัญหาขาดแคลนพลังงานเช่นเดียวกับหลายประเทศในยุโรป ผลจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นตั้งแต่ปีที่แล้ว และวิกฤตยูเครนที่ทำให้ปริมาณส่งออกก๊าซของรัสเซียไปยุโรปลดลง

ซีเอ็นเอ็น รายงานผลวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยอุตสาหกรรมพลังงาน “คอร์นวอลล์ อินไซต์” คาดว่า ค่าใช้จ่ายพลังงานภาคครัวเรือนของอังกฤษโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 3,582 ปอนด์/ปี ในเดือน ต.ค.นี้ และอาจถึงระดับ 4,266 ปอนด์/ปี ในเดือน ม.ค. 2023 หมายความว่าชาวอังกฤษจะต้องจ่ายค่าพลังงานเดือนละ 355 ปอนด์ในช่วงต้นปีหน้า

ก้าวกระโดดจากปัจจุบัน 1,971 ปอนด์/ปี ซึ่งเป็นผลมาจากราคาก๊าซที่สูงขึ้น โดย “สำนักงานตลาดก๊าซและไฟฟ้า” หรือ “ออฟเจม” (Ofgem) หน่วยงานของรัฐบาลอังกฤษที่มีหน้าที่กำหนดเพดานราคาก๊าซและค่าไฟโดยจะมีการปรับในทุก ๆ ไตรมาส

เดอะการ์เดียนรายงานว่า ก่อนหน้านี้ออฟเจมประเมินและปรับเพดานราคาก๊าซและค่าไฟทุก 6 เดือน แต่เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ออฟเจมได้เปลี่ยนนโยบายเป็นการปรับเพดานราคาทุก 3 เดือน หลังจากที่บริษัทซัพพลายเออร์พลังงานอังกฤษ 29 รายต้องล้มละลาย เนื่องจากเผชิญต้นทุนพลังงานสูงขึ้น แต่ไม่สามารถปรับเพิ่มราคาสูงเกินเพดานได้

แต่การปรับเพดานบ่อยครั้งขึ้นก็ส่งผลให้ภาคครัวเรือนของอังกฤษต้องแบกรับภาระค่าก๊าซและค่าไฟพุ่งสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็วด้วย และยิ่งซ้ำเติมให้วิกฤตค่าครองชีพรุนแรงขึ้น อย่างค่าเช่าที่พักอาศัยในเดือน พ.ค. ที่พุ่งขึ้นราว 11% จากปี 2022 ขณะที่ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคก็พุ่งสูงขึ้นต่อเนื่อง

สถานการณ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้ 1 ใน 3 ของครัวเรือนอังกฤษ หรือราว 10.5 ล้านครัวเรือน เสี่ยงที่จะเผชิญกับภาวะยากจน ตามคาดการณ์ขององค์กรความร่วมมือยุติความยากจนด้านเชื้อเพลิง (EFPC) ซึ่งประเมินจากรายได้ครัวเรือนอังกฤษ หลังหักค่าพลังงาน ซึ่งจะพบว่ารายได้จะเหลือต่ำกว่าเส้นความยากจนตามเกณฑ์รัฐบาล คือน้อยกว่า 60% ของค่ามัธยฐานรายได้ชาวอังกฤษที่ 31,000 ปอนด์/ปี

แม้รัฐบาลอังกฤษจะมีการจัดสรรงบประมาณ 15,000 ล้านปอนด์ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีมาตรการอุดหนุนค่าพลังงานให้กับชาวอังกฤษ 29 ล้านครัวเรือน มูลค่า 400 ปอนด์ต่อครัวเรือน ช่วง ต.ค. 2022-มี.ค. 2023

“เครก โลว์รีย์” ประธานที่ปรึกษาของคอร์นวอลล์ อินไซต์ ระบุว่า “เงินจำนวน 400 ปอนด์ยังไม่เพียงพอที่จะช่วยเหลือเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นและเมื่อสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นขณะนี้
เงินจำนวนดังกล่าวยิ่งไม่เพียงพอ”

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษก็ยังคงไม่สามารถดำเนินนโยบายแก้ไขปัญหาค่าครองชีพได้อย่างจริงจัง เนื่องจากอยู่ระหว่างการเลือกผู้นำคนใหม่ที่จะมาแทนนายกรัฐมนตรี “บอริส จอห์นสัน” ในเดือน ก.ย.นี้ โดยคู่แข่งทั้งสองคนต่างแสดงวิสัยทัศน์ต่อการจัดการวิกฤตพลังงานที่แตกต่างกัน

“ลิซ ทรัสส์” ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ เสนอว่า การลดภาษีพลังงานเป็นวิธีการที่ดีกว่าการแจกเงิน ขณะที่ “ริชี ซูนัค” อดีตรัฐมนตรีคลังระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการเยียวยาเพิ่มเติม วิกฤตพลังงานครั้งนี้เป็นความท้าทายใหญ่ที่รอคอยผู้นำอังกฤษคนใหม่เข้ามาจัดการ