โจทย์ยาก “เฟด” คุมเงินเฟ้อ ขึ้นดอกเบี้ยแรงไม่การันตีได้ผล

เฟด
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ในการประชุมประจำปีของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่เมืองแจ็กสัน โฮล เมื่อปลายเดือนสิงหาคม นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด มีถ้อยแถลงในลักษณะที่ส่งสัญญาณว่า เฟดพร้อมจะขึ้นดอกเบี้ยสูง 0.75% ในเดือนกันยายน เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งหากขึ้นตามนั้นจริงจะถือว่าเป็นการขึ้น “มากผิดปกติ” ติดต่อกันเป็นครั้งที่ 3 สัญญาณดังกล่าวช็อกตลาดหุ้นสหรัฐอย่างรุนแรง ดัชนีดาวโจนส์ดิ่งหนัก

อันที่จริง คำกล่าวของประธานเฟด “ไม่ใช่เรื่องใหม่” แต่เป็นการยืนยันจุดยืนของเฟดที่เคยแสดงออกก่อนหน้านี้โดยตลอด นั่นก็คือจะไม่ถอยการขึ้นดอกเบี้ยจนกว่าเงินเฟ้อจะผ่อนคลายลงตามเป้าหมาย เนื่องจากไม่อยากให้ซ้ำรอยทศวรรษ 1970

อย่างไรก็ตาม รายงานของ ฟรานเซสโก เบียงคิ นักเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ ฮอปกินส์ และ ลีโอนาร์โด เมโลซี นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของเฟดสาขาชิคาโก ซึ่งเสนอต่อที่ประชุมเดียวกันนี้ โต้แย้งว่า สถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ถูกผลักดันจากการใช้จ่ายทางการคลังเพื่อบรรเทาวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากโควิด-19 ดังนั้นเพียงแค่การขึ้นดอกเบี้ยมาก ๆ อย่างเดียวจะไม่เพียงพอที่จะดึงเงินเฟ้อลงมา แต่จะต้องควบคุมการใช้จ่ายด้านการคลังด้วย

รายงานระบุว่า หนี้สาธารณะที่สูงและการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของรัฐบาล ทำให้ความคาดหวังของสาธารณะที่มีต่อเงินเฟ้อยังคงสูง ดังนั้นเพียงแค่เฟดขึ้นดอกเบี้ยจะไม่ช่วยลดความคาดหวังเงินเฟ้อตามที่เฟดต้องการ ขณะเดียวกันการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการชำระหนี้สาธารณะซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 30.8 ล้านล้านดอลลาร์สูงขึ้นด้วย

สภาคองเกรส อนุมัติการใช้จ่ายงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ประมาณ 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ ทำให้ในปี 2020 ขาดดุลงบประมาณ 3.1 ล้านล้านดอลลาร์ ปี 2021 ขาดดุล 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ และ 10 เดือนแรกของปี 2022 ขาดดุลไปแล้ว 7.26 แสนล้านดอลลาร์ ส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ 123% ของจีดีพี แม้จะลดลงเล็กน้อยจาก 128% ในปี 2020 แต่ก็ยังถือว่าสูงอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อนนับจากปี 1946

“เมื่อความไม่สมดุลด้านการคลังมีมาก และความน่าเชื่อถือในการวางแผนการคลังลดน้อยลง จะยิ่งทำให้การใช้มาตรการการเงินของเฟดเพื่อสร้างเสถียรภาพเงินเฟ้อทำได้ยากขึ้น และทำให้ต้นทุนการชำระหนี้ของรัฐบาลสูงขึ้น หากเฟดยังคงยึดมั่นทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยแบบนี้ต่อไป จะทำให้สถานการณ์แย่ลง” รายงานระบุและเตือนว่า หากรัฐบาลยังไม่เข้มงวดการใช้จ่ายด้านการคลังจะเกิดวงจรอุบาทว์ นั่นก็คือ ดอกเบี้ยสูงขึ้นเรื่อย ๆ เงินเฟ้อสูง เศรษฐกิจชะงักงันและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น

รายงานชี้ว่า ความเสี่ยงที่อัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานานที่สหรัฐกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เกิดจากการผสมผสานระหว่างหนี้สาธารณะที่สูงมากและกรอบการคลังที่มีความน่าเชื่อถือน้อยลงเป็นหลัก ดังนั้นสูตรที่จะนำมาใช้ปราบเงินเฟ้อใหญ่ที่เคยใช้ในช่วงต้นทศวรรษ 1980 อาจใช้ไม่ได้ผลกับสถานการณ์ปัจจุบัน

ท่ามกลางความกังวลว่าการขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องจะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย แต่นักเศรษฐศาสตร์บางคนก็เชื่อว่า ตัวเลขการจ้างงานคือตัวชี้วัดที่ดี ซึ่งสถานการณ์จ้างงานของสหรัฐบ่งชี้ว่า ไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย เห็นได้จากการเปิดรับสมัครงานในเดือนกรกฎาคม ซึ่งดีดกลับมาสูงถึง 11.2 ล้านตำแหน่ง มากกว่าจำนวนผู้มองหางานทำราว 2 เท่า จากที่เคยแผ่วลงในเดือนมิถุนายน

แอน เอลิซาเบธ คอนเคล นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส อินดีด ไฮริ่ง แล็บ บอกว่า รู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่เห็นการจ้างงานเพิ่มขึ้น ตอนแรกคิดว่าการจ้างงานคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ข่าวการเลย์ออฟของบริษัทใหญ่ ๆ อย่างแอปเปิลและวอลมาร์ต สั่นคลอนความมั่นใจในตลาดจ้างงาน แต่โดยรวมแล้วอัตราการเลย์ออฟยังคงต่ำเกือบจะเป็นประวัติการณ์ คือต่ำกว่า 1% ของแรงงานทั้งหมด การจ้างงานใหม่ยังคงสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19

“เราไม่ได้อยู่ในภาวะถดถอย สิ่งที่เป็นอยู่ก็คือตลาดการจ้างงานยังคงแข็งแกร่ง เราไม่เห็นข้อมูลการแผ่วลงของตลาดจ้างงานจากที่ใด ๆ เลย”