จับทิศ “เงินบาท” โค้งท้ายปี Q4 พลิกกลับแข็งค่าแตะ 34 บาท

ค่าบาท

จับทิศค่าเงินบาทโค้งท้ายปี “ดร.พิพัฒน์” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้แรงกดดันบาทอ่อนผลจากท่าที ธปท. ไม่ขึ้นดอกเบี้ยแรง จับตาแบงก์ชาติต้องขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องสู่ระดับ 2% ในปีหน้า เพื่อสกัดเงินเฟ้อ กสิกรฯ-กรุงไทย ประเมินไตรมาส 4 เงินบาทพลิกแข็งค่าแตะ 34 บาทต่อเนื่องถึงปีหน้า อานิสงส์นักท่องเที่ยวต่างชาติและฟันด์โฟลว์ไหลเข้าไทย เผยกลางปี’66 ค่าบาทผันผวนสูงอีกรอบ

ค่าบาทผันผวน “เร็ว-แรง”

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า แนวโน้มค่าเงินบาท มองไปข้างหน้ายังบอกได้ยากว่าจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้หรือไม่ เนื่องจากท่าทีของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ไม่ได้จะขึ้นดอกเบี้ยแรง ขณะที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีท่าทีที่จะขึ้นดอกเบี้ยแรงเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งหากประเทศไหนไม่ขึ้นดอกเบี้ยตาม ค่าเงินประเทศนั้นก็จะอ่อน อย่างที่เห็นเงินเยนของญี่ปุ่นอ่อนค่าทะลุ 140 เยนต่อดอลลาร์ไปแล้ว

“ตอนนี้ความผันผวนมีเยอะมาก ค่าเงินบาทแกว่งไปมาระหว่าง 35-36 บาท เร็วมาก ในช่วงเวลาแค่เดือนกว่า ๆ โดยในไตรมาส 3 นี้ เรายังเจอการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดอยู่ ทำให้ยังเห็นบาทอ่อน แต่พอเข้าไตรมาส 4 ถึงต้นปีหน้า ผมว่าถ้านักท่องเที่ยวมามากขึ้นก็อาจจะช่วยผ่อนคลายลงไปได้ และหากเฟดเริ่มผ่อน ทำให้ตลาดคลายความกังวลลงได้ ตอนนั้นถึงจะทำให้ค่าเงินบาทกลับมาแข็งขึ้นได้” ดร.พิพัฒน์กล่าว

โดยการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดรอบที่จะถึงนี้น่าจะทำให้อัตราดอกเบี้ยสหรัฐสูงกว่า 3% ขณะที่ดอกเบี้ยไทยยังอยู่ 0.75% ถึงปลายปีนี้น่าจะอยู่ระดับ 1.25% ก็ถือว่ามีความแตกต่างอยู่ค่อนข้างมาก

KKP เผยรอบแรก “กระสุนด้าน”

“หลังจากนี้ ธปท.คงขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง เพราะไม่มีเหตุผลอะไรที่จะไม่ขึ้น โดยวันนี้เงินเฟ้อเรา 7% เงินเฟ้อพื้นฐาน 3% ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.75% เพราะหลังขึ้นดอกเบี้ยไปรอบแรก ถึงวันนี้ดอกเบี้ยในตลาดไม่ขึ้นเลย แสดงว่าเรายิงกระสุนไปแล้วกระสุนด้าน” ดร.พิพัฒน์กล่าว

ดร.พิพัฒน์กล่าวด้วยว่า ปีหน้าดอกเบี้ยของไทยก็คงขยับขึ้นไปอีก จนกว่าจะเริ่มเห็นเศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัว โดยคาดว่าดอกเบี้ยนโยบายของไทยน่าจะขึ้นไปถึงใกล้ ๆ 2% โดยคงต้องขึ้นดอกเบี้ยทุกครั้ง เพราะตอนนี้นโยบายการเงินค่อนข้างล่าช้าไปแล้ว

“ดอลลาร์อ่อน” หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย

นางสาวกฤติกา บุญสร้าง ผู้ชำนาญการงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ช่วงนี้เงินบาทค่อนข้างผันผวนและขึ้นลงเร็ว เนื่องจากสภาพคล่องไม่ค่อยดี โดยเงินดอลลาร์ยังแข็งค่า ขณะที่ค่าเงินยูโรก็เริ่มมา เนื่องจากเดือน ก.ย.นี้จะมีการประชุมเฟดและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ซึ่งคาดว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยรอบนี้ เพราะการเก็งกำไรจะเริ่มหายไป

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเรื่องภาวะเศรษฐกิจโลกจะถดถอย โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐ ยุโรป และจีน รวมถึงปัจจัยด้านการเมือง จากการเลือกตั้งกลางเทอมของสหรัฐ การประชุมใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ของจีนในรอบ 5 ปี และการเมืองไทยที่จะมีการเลือกตั้งใหม่

“เรามองสิ้นปีเงินบาทจะอยู่ที่ 35 บาทต่อดอลลาร์ หรือถ้าเทียบกับสิ้นปีก่อนจะอ่อนค่าไปราว 4.78% และปีหน้าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้น จากการฟื้นกลับมาของนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และ ธปท.มีแนวโน้มจะขึ้นดอกเบี้ยต่อในปีหน้า ขณะที่เฟดอาจต้องลดดอกเบี้ยลง” นางสาวกฤติกากล่าว

ไตรมาส 4 บาทพลิกแข็งค่า

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทิศทางค่าเงินบาทระยะสั้นมองว่าจะยังอ่อนค่าอยู่ในกรอบ 35.75-37.00 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องจีนล็อกดาวน์จากนโยบาย Zero COVID ที่มีผลต่อค่าเงินสกุลเอเชีย

อย่างไรก็ดีจากภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทั้งจากฝั่งจีน ยุโรป ภายใต้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไม่ได้ปรับมุมมองต่อนโยบายการเงิน (Dot Plot) ทำให้คนยังมีความต้องการถือสกุลเงินดอลลาร์เป็นหลุมหลบภัย (Safe Haven) สะท้อนจากยอดธุรกรรมการซื้อขายพันธบัตร (Reverse Repo) ของสหรัฐเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากต้นปีอยู่ที่ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ ปัจจุบันอยู่ที่ 2.25 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 6 แสนล้านดอลลาร์ ส่งผลให้เงินบาทยังไม่รีบแข็งค่า

นายพูน กล่าวว่า จุดพลิกกลับของค่าเงินบาทจะอยู่ในไตรมาสที่ 4/65 อยู่ในกรอบ 34.40-35.75 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มชะลอตัว มีการเลือกตั้งกลางเทอม ทำให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า รวมถึงยุโรปผ่านพ้นวิกฤตจากพลังงาน และจีนมีการปรับเปลี่ยนนโยบาย Zero COVID ประกอบกับการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง คาดว่าปีนี้จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 8 ล้านคน ซึ่งไม่รวมจีน ปัจจัยเหล่านี้สนับสนุนเงินบาทกลับมาแข็งค่าภายในสิ้นปีที่ 34.40-34.60 บาทต่อดอลลาร์

“ภาพระยะสั้นภายใน 1 เดือนนับจากนี้บาทอ่อนค่าแถว ๆ 35.75-37.00 บาท เพราะตลาดรับรู้เรื่องเฟดไปแล้ว แต่ตัวที่จะเปลี่ยน คือ Dot Plot เดือน ก.ย.ของเฟด หากมองว่าดอกเบี้ยสหรัฐจะขึ้นไปอยู่ที่กว่า 4-5% ดอลลาร์ น่าจะแข็งค่ามากกว่าเดิม ดังนั้นสิ่งที่ต้องรอลุ้นคือเฟดไม่เปลี่ยนนโยบาย อียูไม่มีวิกฤตพลังงาน และสี จิ้นผิง ปรับนโยบาย Zero COVID ก็จะทำให้ปีนี้มีความหวังบาทกลับมาแข็งค่าได้บ้าง”

ปี’66 บาทแข็งค่าต่อแตะ 33 บาท

นายพูนกล่าวว่า ส่วนแนวโน้มในปี 2566 มองว่าเงินบาทแข็งค่าต่อเนื่องโดยกรอบไตรมาสที่ 1/66 อยู่ที่ 33.30-33.50 บาทต่อดอลลาร์ โดยตัวหนุนยังเป็นเรื่องนักท่องเที่ยวต่างชาติและกระแสเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ที่ไหลเข้าได้บ้าง เพราะภาพเศรษฐกิจไทยยังเติบโตได้ แต่ไตรมาส 2 เงินบาทสะวิงอ่อนค่าอยู่ที่กรอบ 33.70-34.00 บาทต่อดอลลาร์ เพราะมีความเสี่ยงเรื่องการเมือง ปัจจัยฤดูกาลจ่ายปันผล และตลาดรับรู้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐแย่ลง จะมีเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ทำให้ดอลลาร์กลับมาแข็งค่าได้

จากภาพที่มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐและยุโรป ทำให้ไตรมาสที่ 3/66 ดอลลาร์จะแข็งค่า และเงินบาทจะผันผวนสูงก่อนจะเกิดภาวะ Recession หากดูในอดีตเฉลี่ยเงินบาทผันผวนราว 6% แต่ก่อนเกิด Recession จะผันผวนอย่างน้อย 10% และอย่างมากถึง 16% โดยธนาคารมองกรอบเคลื่อนไหวอยู่ที่ 35.80-36.00 บาทต่อดอลลาร์ และสิ้นปี 2566 จะอยู่ที่ 34.00-34.25 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย ประเมินว่าจะมีการปรับขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป เพื่อดูแลกลุ่มเปราะบางและหนี้ครัวเรือน โดยจะมีการปรับขึ้นครั้งละ 0.25% ในการประชุมที่เหลืออีก 2 ครั้ง ส่งผลให้สิ้นปีดอกเบี้ยนโยบายจะอยู่ที่ 1.25% และในปี 2566 จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.50% ไปอยู่ที่ 1.75% ภายในไตรมาสที่ 2/66 และชะลอดูสถานการณ์ ซึ่งธนาคารมองว่าหากกรณีเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐ เชื่อว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยจะปรับลดดอกเบี้ยลงมาเหลือ 1% ต่อปี แต่หากไม่เกิด Recession ธปท.ยังคงเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ โดยภายในปี 2567 จะอยู่ที่ 2.25% ต่อปี

ชี้แรงกดดันบาทอ่อนมีจำกัดขึ้น

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายบริหารการสื่อสารองค์กร ธปท. กล่าวว่า ธปท.มองว่าแนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีนี้ แรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่องจะมีจำกัดมากขึ้น จากเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวมากขึ้น ทั้งเศรษฐกิจภายในประเทศและจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ขยายตัวดีขึ้น

ทั้งนี้ ในเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเฉลี่ยอ่อนค่าจากเดือนก่อนหน้า จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ โดยเงินบาทยังเคลื่อนไหวสอดคล้องกับภูมิภาค ขณะที่ในเดือน ส.ค. ช่วงต้นเดือนจนถึงวันที่ 25 ส.ค. หรือก่อนมีการประชุมเฟดรอบแจ็กสัน โฮล เงินบาทเฉลี่ยแข็งค่าขึ้น แต่หลังจากนั้นก็กลับมาอ่อนค่า ซึ่งมาจากหลายปัจจัย ทั้งตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ที่ออกมาต่ำกว่าคาด ขณะเดียวกันนักลงทุนมีความกังวลเศรษฐกิจจีนที่ภาคอสังหาริมทรัพย์กำลังมีปัญหามากขึ้น

ลุ้นนักท่องเที่ยวจีนกลับมา

นางสาวรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการสายงานวางแผนโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า แนวโน้มค่าเงินบาทในช่วงไตรมาสที่ 4 ธนาคารให้กรอบการเคลื่อนไหวอยู่ที่ 34.50-36.75 บาทต่อดอลลาร์ และสิ้นปี 2565 จะอยู่ที่ 35.00-35.50 บาทต่อดอลลาร์ มองว่าเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้จากปัจจัยภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะโอกาสการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนในปีหน้า อย่างไรก็ดีนโยบายควบคุมโรคของทางการจีนมีความไม่แน่นอนสูง
อย่างไรก็ดีการแข็งค่าของเงินบาทอาจไม่มาก เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงยังอยู่ที่เงินเฟ้อสหรัฐ ที่อาจค้างอยู่ในระดับสูงนานเกินที่เฟด จะรับได้ ทำให้ต้องคุมเข้มนโยบายการเงินแรงกว่าคาด

ส่วนการปรับขึ้นดอกเบี้ยไทยและสหรัฐ มองว่าวัฏจักรการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยกับสหรัฐที่ไม่สอดคล้องกัน ทำให้ไทยไม่จำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับเดียวกับเฟด โดยดอกเบี้ยไทยมองว่าสิ้นปีนี้อยู่ที่ 1.25% ต่อปี และดอกเบี้ยสหรัฐสิ้นปีนี้อยู่ที่ 3.5% ต่อปี