“จีน” ยึดธุรกิจเกษตรทั่วโลก ภารกิจ “ความมั่นคงอาหาร”

จีน เกษตร

หลังสงครามรัสเซียบุกยูเครนที่ทำให้ทั่วโลกขาดแคลนอาหารสำหรับจีนถือเป็นการย้ำเตือนถึงความจำเป็นของการกระจายความเสี่ยง “ความมั่นคงทางอาหาร”

กว่าทศวรรษที่บริษัทจีนทั้งรัฐและเอกชนไล่ช็อปปิ้งธุรกิจการเกษตรระดับโลก ตั้งแต่การซื้อที่ดิน โกดังเก็บธัญพืช และโรงงานแปรรูปอาหารทั่วโลก

ความมั่นคงด้านอาหารถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกของผู้นำของจีน และน่าจะเป็นหัวข้อสำคัญในการประชุมพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 ในปลายปีนี้ โดยประธานาธิบดี “สี จิ้นผิง” กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ว่า “อาหารของคนจีนต้องทำและอยู่ในมือของคนจีน”

จู ตันเผิง รองผู้อำนวยการองค์กรความปลอดภัยอาหารมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่าแม้อัตราการเกิดของจีนจะลดลง แต่ประชากรจีนยังคงมีขนาดใหญ่มากจนต้องนำเข้าอาหารเกือบ 1 ใน 4 ของทั้งหมดที่บริโภค การควบรวมธุรกิจการเกษตรในต่างประเทศ จึงเป็นวิธีการสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านอาหารของจีน และการซื้อกิจการจะเร่งตัวขึ้นในอนาคต

ขณะที่หลายคนเพิ่งรู้ว่า จีนมีการลงทุนมหาศาลในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารในยูเครน หลังจากเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา โรงงานเมล็ดทานตะวันของ COFCO Group ยักษ์แปรรูปอาหารของจีน ใกล้เมืองท่ามาริอูบอลได้รับความเสียหายจากการสู้รบระหว่างยูเครนและรัสเซีย

COFCO Group รัฐวิสาหกิจแปรรูปอาหารของจีน ถือเป็นหัวหอกสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางอาหารของจีน ด้วยการขยายการลงทุนออกไปทั่วโลก โดยตั้งแต่ปี 2014 COFCO ได้ไล่ซื้อบริษัทธัญพืชข้ามชาติหลายแห่ง ซึ่งการซื้อกิจการครั้งใหญ่ที่สุดสองแห่งคือการซื้อ Nobel Agri บริษัทเกษตรในฮ่องกงด้วยมูลค่า 2.25 พันล้านดอลลาร์ และ Nidera ผู้ค้าเมล็ดพืชสัญชาติดัตช์มูลค่า 1.8 พันล้านดอลลาร์

รวมทั้งได้ซื้อบริษัทไวน์ของชิลีอย่าง Bisquertt Vineyard และบริษัทไวน์ฝรั่งเศส Chateau de Viaud รวมถึงซื้อหุ้น 80% ในบริษัท Tully Sugar ผู้ผลิตน้ำตาลของออสเตรเลียและเข้าครอบครองธุรกิจค้าธัญพืชของ Criddle & Co. ในสหราชอาณาจักร

และปัจจุบันยังเป็นเจ้าของท่าเรือ และโกดังจัดเก็บธัญพืชหลักทั่วโลกมากกว่า 100 ล้านตันต่อปี ทำให้กลุ่ม COFCO กลายเป็นผู้ส่งออกธัญพืชจากอาร์เจนตินารายใหญ่ที่สุด รวมถึงเป็นผู้ส่งออกถั่วเหลืองใหญ่ที่สุดจากบราซิลไปจีน

นอกจาก COFCO แล้วยังมีบริษัทจีนอีกหลายราย เช่น Shuanghui International Holdings เข้าซื้อบริษัท “Smithfield Foods” ผู้ผลิตเนื้อสัตว์รายใหญ่ในอเมริกา รวมถึงบริษัท ChemChina เข้าซื้อบริษัทเคมีภัณฑ์ของสวิส นอกจากนี้จีนยังขยายการลงทุนและการค้าทางการเกษตรในละตินอเมริกา ซึ่งผลิตเพื่อรองรับความต้องการของตลาดจีนเป็นหลัก

โครงการเกษตรระหว่างประเทศได้รับขนานนามว่าเป็น “เส้นทางสายไหมสำหรับอาหาร” ขนานไปกับโครงการหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง

จาง หงโจว นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีนันยาง ในสิงคโปร์ กล่าวว่า กลยุทธ์ของจีนได้เปลี่ยนจากการลงทุนในพื้นที่การเกษตร เป็นการสร้างสถานะของจีนในห่วงโซ่อุปทานอาหารทั่วโลก ขณะที่ประเทศอื่นยังต้องพึ่งพาตลาดอาหารทั่วโลกในการจัดหาวัตถุดิบ แต่จีนมองว่าการลงทุนเหล่านี้เป็นกลยุทธ์และเป็นวิธีที่ดีกว่า

นักวิเคราะห์มองว่า การรักษาความมั่นคงทางอาหารเป็นเรื่องที่ผู้นำจีนให้ความสำคัญ เพราะความขาดแคลนอาจสั่นคลอนอำนาจ แต่การขยายอำนาจในซัพพลายเชนอาหารของจีนก็เสี่ยงที่จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงอาหารระดับโลก ที่อาจก่อให้เกิดการบิดเบือนราคาในภาวะขาดแคลน