Lying-in-state รัฐพิธีแห่งความอาลัยครั้งสุดท้าย

Lying-in-state
REUTERS

รู้จักรัฐพิธีประดิษฐานพระบรมศพ (Lying-in-state) ส่วนหนึ่งของการพระราชพิธีพระบรมศพบุคคลสำคัญแห่งอังกฤษ

เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2565 ตามเวลาท้องถิ่น เป็นวันที่เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 โดยเริ่มต้นตั้งแต่ช่วงเที่ยง หลังรัฐพิธีประดิษฐานพระบรมศพ (Lying-in-state) ไปจนถึงวันที่ 19 กันยายน เวลา 06:30 o. ตามเวลาท้องถิ่น เป็นเวลา 4 วัน

หลายคนอาจยังมีความสงสัยอยู่ว่า รัฐพิธีประดิษฐานพระบรมศพ หรือ Lying-in-state คืออะไร ?

รัฐพิธี Lying-in-state

รัฐพิธีประดิษฐานพระบรมศพ (Lying-in-state) คือพิธีที่เปิดให้ประชาชนเข้าสักการะหรือทำความเคารพพระบรมศพหรือบุคคลสำคัญที่จากไป โดยจะมีการนำพระบรมศพมาประดิษฐานไว้ในพระราชวังเวสต์มินสเตอร์ ซึ่งเป็นอาคารของรัฐสภาสหราชอาณาจักร

พิธี Lying-in-state เกิดขึ้นมาแล้วเมื่อครั้งพระราชพิธีพระบรมศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชมารดาของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 เมื่อปี 2545 หรือเมื่อ 20 ปีก่อน ซึ่งในครั้งนั้นมีประชาชนร่วมสักการะพระบรมศพของพระองค์กว่า 200,000 คน

รัฐพิธีประดิษฐานพระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะเริ่มต้นด้วยการอัญเชิญพระบรมศพมาที่โถงเวสต์มินสเตอร์ และเคลื่อนพระบรมศพประดิษฐานบนพระแท่นหรือจิตกาธานที่อยู่กลางห้องโถง

จากนั้นจะมีการประกอบพิธีทางศาสนาสั้น ๆ นำโดยอาร์คบิชอปแห่งแคนเทอร์เบอรีและคณบดีแห่งมหาวิหารเวสต์มินสเตอร์ หลังเสร็จสิ้นพิธีทางศาสนา พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์เสด็จกลับ ก่อนที่จะเริ่มเปิดให้ประชาชนเข้าสักการะพระบรมศพในเวลา 17.00 น. ของวันที่ 14 กันยายน

ในช่วงเวลาเปิดให้ประชาชนสักการะพระบรมศพ ผู้ที่ได้เข้าไปถวายความเคารพพระบรมศพจะได้เดินผ่านหีบพระบรมศพของสมเด็จพระบรมราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในระยะใกล้ มีทหารจากหลายหน่วยสังกัดสำนักพระราชวัง คอยผลัดเวรยามมาเฝ้าอารักขาตลอดเวลา โดยยืนประจำแต่ละมุมของจิตกาธาน

สิ่งของประดับพระบรมศพ

เหนือหีบพระบรมศพจะประดับด้วยธงมหาราชย์ ซึ่งเป็นธงประจำองค์พระมหากษัตริย์สหราชอาณาจักร ที่เรียกว่าธง Royal Standard ซึ่งประกอบด้วยสัญลักษณ์ของประเทศต่างๆ ที่ประกอบขึ้นเป็นสหราชอาณาจักร โดยแบ่งเป็น 4 ช่อง ดังนี้

  • สัญลักษณ์ของอังกฤษ คือ สิงโตสีเหลืองบนพื้นสีแดง ซึ่งอยู่ในช่องบนซ้ายและล่างขวา
  • สัญลักษณ์ของสกอตแลนด์ คือ สิงโตสีแดงบนพื้นสีเหลือง ที่อยู่มุมบนขวา
  • สัญลักษณ์ของไอร์แลนด์เหนือ คือ พิณไอร์ริช ที่อยู่มุมล่างซ้าย

ส่วนเวลส์ไม่ถูกรวมอยู่ในธงประจำพระองค์ เพราะถือเป็นแคว้นที่ถูกผนวกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของอังกฤษแล้ว

นอกจากนั้นจะมีการนำเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของราชวงศ์อังกฤษอีก 3 ชิ้นสำคัญมาวางเหนือหีบพระบรมศพด้วย ได้แก่

  • Imperial State Crown (มงกุฎแห่งรัฐอิมพีเรียล) น้ำหนัก 1.06 กิโลกรัม มีความหมายว่าเป็นตัวแทนของกษัตริย์ ซึ่งถือเป็นเครื่องราชกกุธภัณฑ์ที่มีประวัติยาวนานที่สุดแห่งสหราชอาณาจักร ที่จะถูกสวมให้แก่กษัตริย์หลังสิ้นสุดพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
  • The Sovereign’s Sceptre (คทาแห่งกษัตริย์) ตัวแทนของพระราชอำนาจและพระวิญญานอันบริสุทธิ์ ทั้งยังหมายถึงความยุติธรรมและความเมตตา
  • The Sovereign’s Orb ตัวแทนสัญลักษณ์แห่งคริสตจักรทั่วโลก ซึ่งมีแถบแบ่ง 3 ส่วน ตามความเชื่อของอังกฤษในยุคกลางที่มีการแบ่งทวีปในโลกออกเป็น 3 ทวีป โดยในพิธีราชาภิเษกจะมีการถือสิ่งนี้ไว้ในพระหัตถ์ขวาของพระมหากษัตริย์ เสมือนว่าพระองค์ทรงถือครองโลกไว้ในอุ้งพระหัตถ์

ขบวนเชิญหีบพระบรมศพสู่เวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์

พระบรมศพสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 บรรทุกโดยบนรถบรรทุกปืนของกองทหารหลวงปืนใหญ่ม้าของกษัตริย์ (King’s Troop Royal Horse Artillery) ที่ชื่อว่า “รถบรรทุกปืนจอร์จ (George Gun Carriage)” ลากจูงด้วยม้าสีดำ 7 ตัว และมี ร้อยเอกเอมี คูเปอร์ นั่งอยู่บนหลังม้าที่ช่ำชองชื่อว่า ลอร์ดไฟร์แบรนด์ ซึ่งมีความสูง 183 ซม. นำขบวนและเป็นผู้ควบคุมจังหวะการเคลื่อนของขบวน

รถบรรทุกปืนจอร์จ (George Gun Carriage) ซึ่งเคยเชิญหีบพระบรมศพของกษัตริย์จอร์จที่ 6 ในปี 2495 และได้ถูกนำมาใช้อีกครั้งในพระราชพิธีพระศพของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ พระราชชนนี ในปี 2545 หีบพระบรมศพคลุมด้วยธงรอยัล สแตนดาร์ด และมีพระมหามงกุฎประดิษฐานอยู่ด้านบน พร้อมกับพวงดอกกุหลาบและดอกดาเลียสีขาว และใบไม้จากพระตำหนักของสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ในบัลมอรัลและวินด์เซอร์

ภายในขบวน จะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหารม้ารักษาพระราชวัง (Household Cavalry) และทหารราบรักษาพระองค์เกรนาเดีย และทหารองครักษ์สกอตส์ การ์ดส์ ซึ่งนำขบวนหีบพระบรมศพ พร้อมด้วยสมาชิกกองทัพนับพันนาย และสมาชิกสำนักพระราชวัง ซึ่งถวายการรับใช้ใกล้ชิดสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2

โดยจะมีทหารองครักษ์สกอตส์ การ์ดส์ (Scots Guards) และทหารราบรักษาพระองค์เกรนาเดีย (Grenadier Guards) บรรเลงเพลงขณะเคลื่อนขบวนหีบพระบรมศพ โดยมีอัตราการเคลื่อนที่ 75 ก้าวต่อนาที ซึ่งเป็นจังหวะที่ใช้สำหรับพิธีโศกเศร้า

ขณะที่ กษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 ซึ่งฉลองพระองค์ด้วยเครื่องแบบพิธีการเต็มยศและทรงถือพระคทาจอมทัพ ทรงพระราชดำเนินตามหลังหีบพระบรมศพ พร้อมด้วยพระขนิษฐา พระอนุชา พระราชโอรส และสมาชิกของสำนักพระราชวังเดิมของกษัตริย์ชาร์ลส์ที่ 3 สมัยที่ยังทรงดำรงพระราชอิสริยยศเป็นเจ้าชายแห่งเวลส์

ส่วนสมเด็จพระราชินีคามิลลา, เจ้าหญิงแห่งเวลส์, เคาน์เตสแห่งเวสเซกซ์ และดัชเชสแห่งซัสเซกซ์ ทรงประทับรถยนต์พระที่นั่งไปยังเวสต์มินสเตอร์ ฮอลล์