นักลงทุนโยกเงินเข้า “ยุโรป” สถานการณ์ “พลิก” เหนืออเมริกา

นักลงทุนโยกเงินเข้ายุโรป
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

นับจากรัสเซียรุกรานยูเครน ดูเหมือนเศรษฐกิจยุโรปจะอยู่ในสถานะย่ำแย่ที่สุดเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา เพราะหลังจากร่วมกับสหรัฐอเมริกาออกมาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อรัสเซีย ซึ่งรวมถึงการ “แบน” พลังงานจากรัสเซีย ก็ทำให้ราคาพลังงานพุ่งทะยาน เป็นผลให้เงินเฟ้อสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบหลายปี จนต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ บรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์จึงคาดการณ์ว่าเศรษฐกิจยุโรปน่าจะถดถอยลึกและฟื้นตัวช้า เพราะยุโรปต้องพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียสูง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดดูเหมือนสถานการณ์สำหรับยุโรปจะพลิกกลับในทางบวก เมื่อนักวิเคราะห์เห็นสัญญาณบางอย่าง ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา โดยนักกลยุทธ์ตลาดหุ้นยุโรปของบาร์เคลย์ ชี้ว่า นับตั้งแต่ปลายเดือนตุลาคมปีที่แล้ว จนถึงวันที่ 24 มกราคมปีนี้ จะเห็นว่า ดัชนี Russell 3000 ซึ่งเป็นดัชนีวัดผลการดำเนินงานของบริษัทที่ซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐอเมริกา 3,000 บริษัท เพิ่มขึ้นเพียง 6.3% ส่วนดัชนีเอสแอนด์พี 500 ก็ขยับขึ้นเพียง 4.62% แต่ดัชนี Stoxx 600 ของยุโรป เพิ่มขึ้นเกิน 13% เช่นเดียวกับดัชนี MSCI ทั่วโลก (ไม่รวมอเมริกา) ก็ทะยานขึ้นมากกว่า 22%

บาร์เคลย์ระบุว่า สถานการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐอเมริกาที่เคยมีผลงานโดดเด่นมาโดยตลอด นับจากเลิกมาตรการล็อกดาวน์สกัดโควิด-19 มาถึงตอนนี้มีผลงานตามหลังตลาดหุ้นอื่น ๆ ทั่วโลก รวมถึงยุโรปอย่างมาก ขณะเดียวกันยังย้ำให้เห็นว่าแรงส่งกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ของยุโรปและอเมริกากำลังแยกจากกัน ไม่เกาะเกี่ยวกัน (decouple) ซึ่งถือว่า “ไม่ปกติ”

บาร์เคลย์ชี้ว่า อากาศที่อบอุ่นกว่าคาดของยุโรปเหนือในฤดูหนาว ทำให้ความต้องการใช้พลังงานเพื่อทำความอบอุ่นไม่สูงมากนัก นั่นหมายถึงว่าความกังวลเรื่องความเพียงพอของพลังงานลดน้อยลง อีกทั้งราคาพลังงานในตลาดโลกก็ผ่อนคลายลง นอกจากนี้การที่จีนเปิดประเทศเร็วกว่าที่คาดอย่างมาก ล้วนเป็นปัจจัยหนุนส่งให้เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มดีกว่าที่เคยประเมินไว้ ถึงแม้นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยังคงเชื่อว่าเศรษฐกิจยุโรปจะถดถอยอ่อน ๆ ก็ตาม

ในซีกของสหรัฐอเมริกาตลาดหุ้นกำลังสูญเสียแรงส่ง เห็นได้จากนักลงทุนเปลี่ยนไปเน้นลงทุนพันธบัตรแทน นี่คือสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่านักลงทุนเชื่อว่าเศรษฐกิจจะถดถอย จึงขายหุ้นแล้วซื้อพันธบัตรแทน

ในทางตรงข้าม “ตลาดหุ้นยุโรป” ดูเหมือนจะอยู่ในจุดที่น่าดึงดูดกว่า เพราะความหวังที่ว่าเงินเฟ้อจะอ่อนตัวลง กดให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรต่ำลง ประกอบกับได้แรงหนุนจากราคาพลังงานที่ลดลงและจีนเปิดประเทศ ดังนั้นในปีนี้ทางบาร์เคลย์จึงให้น้ำหนักตลาดหุ้นยุโรปมากกว่าอเมริกา และมีแนวโน้มว่าจะเห็นเงินลงทุนไหลเข้ามาในตลาดยุโรปมากขึ้น เพราะอย่างน้อยในระยะสั้นก็มีปัจจัยบวกมากกว่า

“สตีเฟน ไอแซค” ประธานคณะกรรมการลงทุนของอัลวิล แคปิตอล ระบุว่า ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นยุโรปฟื้นตัวก็คือ “ความกลัว” ที่ว่าราคาพลังงานจะทรงตัวระดับสูงลดน้อยลง จะเห็นว่าหลังจากราคาพลังงานปรับลง นักลงทุนต่างประเทศได้โยกเงินกลับมาลงทุนตลาดหุ้นยูโรโซนในเดือนตุลาคมและพฤศจิกายนปีที่แล้วเป็นครั้งแรก นับจากรัสเซียเริ่มบุกยูเครน ขณะเดียวกันที่ผ่านมาสินทรัพย์ยุโรปมีราคาต่ำกว่ามูลค่าที่ควรจะเป็น

ไอแซคเห็นว่า ถึงแม้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ความแตกต่างของผลงานตลาดหุ้นยุโรปและอเมริกาจะถ่างกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่จะเห็นว่าตลาดหุ้นสหรัฐมุ่งไปที่หุ้นเติบโตที่มีมูลค่าตามราคาตลาดสูง (large cap growth stocks) และหุ้นเทคโนโลยี ส่วนตลาดยุโรปเน้นหนักหุ้นอาหารสำหรับผู้บริโภค การเงินและหุ้นมูลค่าอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันซื้อขายในราคาต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีอย่างมาก จึงดึงดูดความสนใจนักลงทุน


ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตและบริการของยูโรโซนเดือนมกราคมปีนี้ปรับขึ้นสู่ระดับ 50.2 จาก 49.3 ในเดือนธันวาคมปีที่แล้ว สูงกว่าตลาดคาดการณ์ ถือเป็นครั้งแรกที่ดัชนีดังกล่าวอยู่เหนือระดับ 50 ซึ่งบ่งชี้ว่ากิจกรรมเศรษฐกิจขยายตัว จึงสร้างความหวังว่าบางทีเศรษฐกิจยุโรปอาจสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอย