ธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 0.5% สกัดเงินเฟ้อ

ดอลลาร์
ภาพ : pixabay

ธนาคารกลางสหรัฐ ยุโรป อังกฤษ ขึ้นดอกเบี้ย 0.50% สกัดเงินเฟ้อ ขณะที่ ECB ส่งสัญญาณยังปรับขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องเพื่อสกัดเงินเฟ้อ  โกลด์แมน แซคส์ ชี้เศรษฐกิจไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์จะได้ประโยชน์หากจีนเปิดประเทศ ขณะที่ ADB เตือนเศรษฐกิจในเอเชียยังเผชิญความเสี่ยงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

ฝ่ายค้าเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกรุงเทพรายงานว่า ภาวะการเคลื่อนไหวของตลาดปริวรรตเงินตราประจำวันที่ 13-16 ธันวาคม ค่าเงินบาทเปิดตลาดในวันอังคาร (13/12) ที่ระดับ 34.78/80 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ทรงตัวจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 34.79/81 บาท/ดอลลาร์ เนื่องจากนักลงทุนรอติดตามผลการประชุมรอบสุดท้ายของปีนี้ของคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐ (FOMC) (13-14/12)

อย่างไรก็ดี ค่าเงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นในวันพุธสอดคล้องกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ที่ปรับตัวอ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ หลังการเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ที่ต่ำกว่าคาดของสหรัฐ ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ทั่วไปซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 7.1% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 7.3% ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับตัวขึ้น 6.0% ในเดือน พ.ย. เมื่อเทียบรายปี ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.1%

การที่ดัชนี CPI ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ออกมาต่ำกว่าการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์นั้นบ่งชี้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว

นอกจากนี้ในวันพฤหัสบดี (15/12) คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติเป็นเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.50% สู่ระดับ 4.25-4.50% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 15 ปี การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว เป็นไปตามที่ตลาดการเงินคาดการณ์ไว้

ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดว่าจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปในปี 2566 และจะไม่มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจนกว่าจะถึงปี 2567 โดยเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดสู่ระดับ 5.1% ในปีหน้า ก่อนที่จะสิ้นสุดวัฏจักรปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยระดับดังกล่าวเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2550 หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับ 6.1% ในปี 2566 หรือเทียบเท่ากับช่วงเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 5.00-5.25% เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับดังกล่าวเป็นระยะเวลาหนึ่ง เพื่อจับตาดูผลกระทบของการคุมเข้มนโยบายการเงินที่มีต่อเศรษฐกิจสหรัฐ

นอกจากนี้ เฟดคาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนวน 1.0% ในปี 2567 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยปรับตัวลงสู่ระดับ 4.1% ในช่วงสิ้นปีดังกล่าว และเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 1.0% ในปี 2568 สู่ระดับ 3.1% ก่อนที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวจะปรับตัวสู่ระดับ 2.5%

เศรษฐกิจไทยได้ประโยชน์ หากจีนเปิดประเทศ

นอกจากนี้โกลด์แมน แซคส์ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของไทย ฮ่องกง และสิงคโปร์ จะได้รับประโยชน์มากที่สุดจากการเปิดประเทศของจีน โดยขณะนี้ทางการจีนเริ่มผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 และมีแนวโน้มที่จะเปิดประเทศในไม่ช้านี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนอุปสงค์การส่งออกและการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับทีมนักวิเคราะห์ของโกลด์แมน แซคส์ ซึ่งนำโดยนายหุย ซาน คาดการณ์ว่า การเปิดประเทศของจีนจะช่วยหนุนตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยให้ขยายตัวราว 2.9%, หนุน GDP ฮ่องกงขยายตัว 7.6% และช่วยหนุน GDP สิงคโปร์ขยายตัว 1.2% อีกทั้งคาดการณ์ว่าจากการที่จีนเปิดประเทศจะช่วยให้การส่งออกและรายได้ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศเหล่านี้ฟื้นตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชีย ซึ่งรวมถึงจีน ไทย และฟิลิปปินส์ทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยระบุว่าเศรษฐกิจของประเทศกลุ่มนี้จะยังคงได้รับผลกระทบจากสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งนโยบายควบคุมโควิด-19 ของจีน และการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยนั้น ADB ได้ปรับเพิ่มแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และเอเชียกลางในปี 2565 แต่ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกทั้งในปี 2565 และ 2566 เนื่องจากเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มอ่อนแอลง ส่วนในด้านเงินเฟ้อนั้น ADB ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียลงเหลือ 4.4% ในปี 2565 จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 4.5% และคาดว่าเงินเฟ้อในปี 2566 จะอยู่ที่ 4.2%

ADB เตือนเศรษฐกิจในเอเชียยังเผชิญความเสี่ยง

นอกจากนี้ ADB เตือนว่า แนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจในเอเชียยังคงเผชิญกับความเสี่ยง เนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์กลับมาพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงอีกครั้ง รวมทั้งเงินเฟ้อทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น และการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงิน ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์นี้ ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 34.52-35.15 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 34.94/96 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินยูโร ค่าเงินยูโรเปิดตลาดในเช้าวันอังคาร (13/12) ที่ระดับ 1.04541/45 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 1.0556/0560 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร หลังจากที่ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจยุโรป (ZEW) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนีปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -23.3 ในเดือน ธ.ค. โดยสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ -26.4 จากระดับ -36.7 ในเดือน พ.ย. ซึ่งดัชนีความเชื่อมั่นปรับตัวขึ้นเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยได้รับแรงหนุนจากการคลายความวิตกเกี่ยวกับเงินเฟ้อและวิกฤตพลังงาน

อย่างไรก็ดี ดัชนียังคงอยู่ต่ำกว่าระดับ 0 ซึ่งบ่งชี้ถึงความไม่เชื่อมั่นต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ในวันพฤหัสบดี (15/12) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมตามการคาดการณ์ของตลาด โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยดังกล่าว ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยรีไฟแนนซ์ ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อยู่ที่ระดับ 2.50% และเป็นระดับสูงสุดนับตั้งเดือน พ.ย. 2551 ส่วนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อยู่ที่ระดับ 2.0% และ 2.75% ตามลำดับ

ECB ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อ

นอกจากนี้ ECB ยังส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ขณะเดียวกัน ECB ระบุว่า จะเริ่มทำการปรับลดงบดุลในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านยูโร/เดือน นับตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 จนสิ้นสุดไตรมาส 2 ของปีดังกล่าว นอกจากนี้ ธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) ประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเมื่อวานนี้ พร้อมกับส่งสัญญาณว่าจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกในวันข้างหน้าเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ในช่วงสัปดาห์ค่าเงินยูโรมีกรอบระหว่าง 1.06591-1.0735 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 1.0644/47 ดอลลาร์สหรัฐ/ยูโร

สำหรับการเคลื่อนไหวของค่าเงินเยน ค่าเงินเยนเปิดตลาดวันอังคาร (13/12) ที่ระดับ 137.73/76 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ปรับตัวอ่อนค่าจากระดับปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ (9/12) ที่ระดับ 136.08/12 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ ตามดัชนีดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางสัปดาห์ค่าเงินเยนปรับตัวแข็งค่าขึ้นจากการอ่อนค่าของดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่น (ทังกัน) ในไตรมาส 4/2565 ปรับตัวลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 4 เนื่องจากผลกระทบของต้นทุนค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก

อย่างไรก็ดี ดัชนีทังกันไตรมาส 4 ออกมาสูงกว่าที่นักวิเคราะห์ในโพลสำรวจของสำนักข่าวเกียวโดคาดไว้ว่าอาจจะอยู่ที่ระดับ 6 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นของกลุ่มบริษัทนอกภาคการผลิตซึ่งรวมถึงภาคบริการนั้น อยู่ที่ระดับ 19 ในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากระดับ 14 ในไตรมาส 3 นอกจากนี้ ผลสำรวจของ BOJ ยังระบุว่า กลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ของญี่ปุ่นมีแผนที่จะเพิ่มการใช้จ่ายด้านทุนอีก 19.2% ในปีงบฯการเงินซึ่งจะสิ้นสุดในเดือน มี.ค.ปีหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ไว้ที่ 20.9% และต่ำกว่าผลการสำรวจครั้งที่แล้ว ซึ่งอยู่ที่ 21.5% ทั้งนี้ตลอดทั้งสัปดาห์ค่าเงินเยนเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบระหว่าง 134.56-138.17 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ และปิดตลาดในวันศุกร์ (16/12) ที่ระดับ 137.29/32 เยน/ดอลลาร์สหรัฐ