ยุโรปมั่นใจ “คุมเพดาน” น้ำมัน ไม้เด็ดเล่นงาน “รัสเซีย” ได้ผล

คุมเพดานน้ำมัน
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

ในที่สุดสหภาพยุโรป (อียู) ซึ่งมีสมาชิก 27 ประเทศ พร้อมด้วยกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ หรือจี 7 และออสเตรเลีย ก็มีมติเห็นพ้องในการกำหนดเพดานราคาขายน้ำมันดิบของรัสเซียไว้ที่ไม่เกิน 60 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อจำกัดหรือลดรายได้ของรัสเซียไม่ให้มีเงินไปทำสงครามรุกรานยูเครน

มาตรการคุมเพดานราคาดังกล่าว บังคับใช้เฉพาะกรณีที่เป็นการขนส่งน้ำมันรัสเซียทางเรือ ซึ่งหมายความว่าประเทศใด ๆ ก็ตามทั่วโลกที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพยุโรป ยังสามารถซื้อน้ำมันจากรัสเซียที่ขนส่งทางทะเลได้ต่อไป แต่ต้องซื้อในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

และเพื่อให้ข้อบังคับนี้สัมฤทธิผล มีการสั่งห้ามบริษัทประกันภัยและสถาบันการเงินต่าง ๆ รับทำประกันภัยและสนับสนุนการเงินให้กับเรือขนส่งน้ำมันรัสเซียทางทะเลอีกด้วย จะรับประกันภัยเรือลำนั้นได้ต่อเมื่อทำตามเงื่อนไขเท่านั้น ซึ่งจะสร้างความยากลำบากให้กับรัสเซียในการส่งออกน้ำมัน เนื่องจากเรือขนส่งน้ำมันจากอินเดีย จีน และประเทศอื่น ๆ ส่วนใหญ่ทำประกันภัยกับบริษัทของยุโรปและสหราชอาณาจักร

อินเดียและจีนเป็นสองประเทศขนาดใหญ่ที่ยังญาติดีกับรัสเซีย และรัสเซียเองก็หวังพึ่งพาจะขายน้ำมันให้กับสองประเทศนี้ เพื่อทดแทนตลาดสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาที่หายไป ขณะเดียวกัน ก็มีรายงานว่ารัสเซียพยายามจะหลบหลีกการแซงก์ชั่น ด้วยการเตรียมกองเรือขนส่งน้ำมันของตัวเองประมาณ 100 ลำ ที่เรียกว่า “กองเรือเงา” เพื่อขนส่งน้ำมันไปขายเองโดยไม่ต้องง้อบริษัทประกันภัยจากกลุ่มจี 7

“แมตส์ คูฟเลียร์” ทนายความด้านการค้าระหว่างประเทศในกรุงบรัสเซลส์ เบลเยียม ระบุว่าเรือรัสเซียอาจพยายามหลบหลีกการแซงก์ชั่นด้วยการไปจดทะเบียนในเกาะมาร์แชลหรือไลบีเรีย แล้วก็ถอดธงรัสเซียออก แต่กลยุทธ์นี้ก็อยู่ภายใต้การจับตาของอียูอย่างใกล้ชิด โดยอียูได้เพิ่มมาตรการตรวจตราทางทะเลให้เข้มข้นขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ารัสเซียไม่สามารถใช้ลูกไม้นี้เพื่อเลี่ยงการแซงก์ชั่น

นักวิเคราะห์ชี้ว่ารัสเซียมีแนวโน้มจะเจรจาขายน้ำมันให้กับจีนและอินเดีย ซึ่งถึงแม้จะไม่สามารถทดแทนรายได้จากสหภาพยุโรป แต่อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาแรงกระทบที่เกิดกับรัสเซีย ขณะเดียวกัน หากดูในกรณีของอินเดีย จะเห็นว่าอินเดียมีแนวโน้มจะใช้โอกาสนี้ขอส่วนลดราคาน้ำมันรัสเซียมากขึ้น ส่วนรัสเซียอยู่ในฐานะเสียเปรียบ เนื่องจากขาดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะมาสนับสนุน เช่นบริษัทประกันภัยต่าง ๆ ไม่เต็มใจที่จะเสี่ยงกับเรือขนส่งน้ำมันของรัสเซีย

จากข้อมูลของ “แมริไทม์ แทรฟิก” ซึ่งให้บริการวิเคราะห์ข้อมูลการเดินเรือแบบเรียลไทม์ แสดงให้เห็นว่ามีเรือเปล่า 2 ลำคือ “ไมเนอร์วา มาริน่า” เดินเรือภายใต้ธงของมอลตา และ “มอสคอฟสกี้ พรอสเป็ก” ภายใต้ธงไลบีเรีย แล่นออกจากอินเดียมุ่งหน้าไปรัสเซีย คาดว่าเป็นเรือที่จะไปรับน้ำมันจากรัสเซีย

มาตรการจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซีย ถูกตั้งคำถามมาโดยตลอดว่าจะได้ผลหรือไม่ เพราะมีโอกาสที่ประเทศต่าง ๆ อาจตกลงซื้อน้ำมันรัสเซียในราคาไม่เกิน 60 ดอลลาร์ก็จริง แต่หลังจากนั้นอาจนำกลับมาขายใหม่ให้กับยุโรปในราคาสูงขึ้น เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายความว่ารัสเซียยังสามารถทำรายได้จากยุโรป

“พาสชาล โดโนโฮ” รัฐมนตรีคลังไอร์แลนด์กล่าวว่า มั่นใจว่ามาตรการจำกัดเพดานราคาจะได้ผลในการลดรายได้ของรัสเซีย ส่วน “บรูโน เลอ แมร์” รัฐมนตรีคลังฝรั่งเศสระบุว่า คิดว่าคุ้มค่าที่จะทดลองใช้มาตรการนี้

นิวยอร์กไทมส์ชี้ว่า แนวคิดจำกัดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียไว้ที่ 60 ดอลลาร์ ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกา หนึ่งในกลุ่มประเทศจี 7 ซึ่งเป็นระดับที่ว่ากันว่าใกล้เคียงกับที่ผู้ซื้อจ่ายให้รัสเซียนับจากรัสเซียบุกยูเครน นั่นคือต่ำกว่าน้ำมันดิบเบรนต์ประมาณ 20 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะเดียวกัน ยังเป็นระดับที่สามารถจูงใจให้บริษัทต่าง ๆ อยากผลิตน้ำมันออกมาสู่ตลาด อันจะช่วยป้องกันการขาดแคลนในตลาดโลกได้

หากรัสเซียผลิตน้ำมันออกมาขายมาก ๆ หลังจากนี้ลูกค้าใหญ่ที่ได้ประโยชน์คือบริษัทกลั่นน้ำมันในจีนและอินเดีย โดยจะได้ประโยชน์สองอย่างคือ ทั้งซื้อได้ในราคาต่ำและช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดน้ำมันโลก อย่างที่ “เจเนต เยลเลน” 
รัฐมนตรีคลังสหรัฐชี้ว่า ถ้าหากผู้ซื้อรายใหญ่เข้าร่วมในมาตรการจำกัดเพดานราคาที่ว่านี้ พวกเขาจะมีอำนาจต่อรองราคาน้ำมันรัสเซียให้ถูกลงไปอีก นั่นก็จะยิ่งดีต่อเสถียรภาพราคาน้ำมันในตลาดโลก