ปี’66 คนไทยใช้ไฟแพงต่อ ราคาก๊าซ-น้ำมันดิบดันต้นทุนผลิตพุ่ง

เงินเฟ้อ ราคาพลังงาน น้ำมัน ค่าไฟฟ้า

ปี’66 ความต้องการใช้พลังงานพุ่ง 2.7% สนพ.ชี้ประชาชนยังต้องจ่ายค่าไฟแพงจากต้นทุนราคาน้ำมัน-ก๊าซธรรมชาติยังผันผวน เตรียมชงแผนพลังงานชาติ (NEP) ภายใน ธ.ค.นี้ คาดประกาศใช้ไตรมาส 2/66 มุ่งเป้าพลังงานสะอาด-หมุนเวียนเป็นหลัก จับตาพลังงานไฮโดรเจนอีกทางเลือก พยายามพยุงอุ้มต้นทุนหวังประชาชนจ่ายค่าไฟไม่สูงขึ้นในอนาคต

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า แนวโน้มความต้องการใช้พลังงานของประเทศปี 2566 คาดว่าจะมีการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 2.7% จากปี 2565 จากความต้องการเดินทางที่มีแนวโน้มกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ทั้งการเดินทางภายในประเทศและการเดินทางระหว่างประเทศ

รวมทั้งการขยายตัวของการลงทุนทั้งการลงทุนภาคเอกชนและภาครัฐ เป็นการใช้น้ำมันคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.2% ก๊าซธรรมชาติ เพิ่มขึ้น 1.8% การใช้ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 1.1% และการใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 4.4%

สำหรับภาพรวมปี 2565 คาดว่าความต้องการพลังงานขั้นต้น จะอยู่ที่ระดับ 2,056 พันบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้น 3.2% เมื่อเทียบกับปี 2564 สอดคล้องกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัว

โดยปี 2565 มีการใช้พลังงานจะเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภท โดยน้ำมัน จะเพิ่มขึ้น 14.9% ถ่านหิน/ลิกไนต์ เพิ่มขึ้น 7.1% การใช้ไฟฟ้าพลังน้ำและไฟฟ้านำเข้า เพิ่มขึ้น 14.7% ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ จะลดลง 9.1% ที่ได้รับผลกระทบจากการผลิตภายในประเทศที่ลดลง และผลกระทบจากราคาก๊าซธรรมชาติที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากเหตุการณ์ความไม่สงบระหว่างรัสเซียและยูเครน

ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันและก๊าซในตลาดโลกยังคงผันผวน ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าสูงขึ้น ดังนั้นจึงประเมินว่าประชาชนคนไทยยังคงต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในอัตราที่สูงขึ้น ในขณะที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ยังไม่สรุปประเด็นการรับฟังความเห็นถึง 3 แนวทางที่จะจ่ายภาระต้นทุนคงค้างที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แบกรับอยู่ แต่จะจ่ายในอัตราที่ไม่สูงเกินกว่า 5 บาท/หน่วย เนื่องจากยังมีมาตรการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ และจะมีปริมาณก๊าซจากแหล่งสัมปทาน G1 ส่วนหนึ่งกลับเข้ามา

นายวัฒนพงษ์กล่าวถึงความคืบหน้าในการจัดทำแผนพลังงานชาติ (NEP) คาดว่าจะรายงานกระทรวงพลังงานทราบในเดือนนี้ ต่อจากนั้นจะเปิดรับฟังความคิดเห็นในช่วงเดือน ม.ค. 2566 จากนั้นจะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) และเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะประกาศใช้แผนในช่วงไตรมาส 2 ปี 2566

“แผนพลังงานชาติฉบับนี้จะประกอบไปด้วย แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ปี 2022 (PDP 2022) ที่จะกำหนดในเรื่องของสัดส่วนพลังงานในรูปแบบต่าง ๆ แต่ละประเภท เช่น สัดส่วนพลังงานหมุนเวียน 50% ก๊าซ 40% ถ่านหิน 10% ที่เหลือจะเปิดโอกาสให้พลังงานไฮโดรเจนและนิวเคลียร์ รวมถึงจะมีเรื่องของแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า การกักเก็บพลังงาน และการกักเก็บคาร์บอน (CCS)”


“แนวโน้มค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายในปี 2566 นั้น ประชาชนมีทางเลือกในการใช้พลังงานทางเลือกอื่นแทนน้ำมันและก๊าซ อย่างพลังงานจากโซลาร์เซลล์ ซึ่งแน่นอนว่าเป็นนโยบายเสรี และในอนาคตจะมีการเปิดเสรีไฟฟ้าคือการซื้อขายไฟระหว่างกัน โดยรัฐเองจะยังคงทำหน้าที่จัดหาแหล่งพลังงานและแบ็กอัพระบบให้อยู่แล้ว”