เมื่อปัญหา “เพดานหนี้” สหรัฐ เป็นเหยื่อโอชะของ “จีน-รัสเซีย”

เพดานหนี้ สหรัฐ
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

สหรัฐอเมริกากำลังเผชิญปัญหาใหญ่ที่สร้างความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากปัญหาเงินเฟ้อสูงจนต้องขึ้นดอกเบี้ยในอัตราสูงติดต่อกันถึง 10 ครั้งแล้ว จนส่งผลข้างเคียงตามมา นั่นคือเกิดวิกฤตกับแบงก์ขนาดเล็กบางแห่งล้ม และยังไม่มีใครรับประกันว่าจะเกิดการล้มเพิ่มอีกหรือไม่ และล่าสุดที่ต้องลุ้นกันอีกคือ สหรัฐจะเสี่ยงผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ หากสภาคองเกรสไม่ยอมให้ขยายเพดานหนี้

การกู้ยืมของรัฐบาลสหรัฐชนเพดานหนี้ไปแล้วเมื่อเดือนมกราคมปีนี้ ที่ระดับ 31.4 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่ง “เจเน็ต เยลเลน” รัฐมนตรีคลังออกมาเตือนว่า หากไม่มีการอนุมัติให้ขยายเพดานหนี้ ก็มีโอกาสที่จะผิดนัดชำระหนี้ภายในต้นเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ ซึ่งจะส่งผลสะเทือนอย่างสูงต่อเศรษฐกิจสหรัฐ และต่อเสถียรภาพการเงินโลก

เป็นอีกครั้งหนึ่งที่ “เพดานหนี้” ของสหรัฐอเมริกากลายเป็นอาวุธต่อสู้ทางการเมืองระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล โดยที่ฝ่ายค้านมักใช้เป็นข้อต่อรองเพื่อกดดันรัฐบาลในบางประเด็นที่ฝ่ายค้านต้องการ

รัฐบาล “โจ ไบเดน” เคยประสบปัญหาเดียวกันนี้ตั้งแต่ปีแรกที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2021 หลังจากฝ่ายค้านใช้เพดานหนี้เป็นตัวประกัน เพื่อกดดันให้ไบเดนลดวงเงินแพ็กเกจกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่หลังวิกฤตโควิด-19 แต่ในที่สุดก็ผ่านพ้นภาวะ “ผิดนัดชำระหนี้” มาได้ฉิวเฉียด

ซึ่งในครั้งนั้นบรรดานักเศรษฐศาสตร์พากันออกมาแสดงความเป็นห่วงว่า หากผิดนัดชำระหนี้จะบั่นทอนความเชื่อมั่นต่ออเมริกา ประเทศต่าง ๆ จะอยากถือครองพันธบัตรสหรัฐน้อยลง อยากครอบครองดอลลาร์น้อยลง ซึ่งอาจเปิดโอกาสให้จีนนำเงินหยวนเข้าแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ

มาในครั้งนี้ปัญหาเพดานหนี้ขยายมิติไปในเชิงการเมืองและความมั่นคงของชาติด้วย ในสายตาของเจ้าหน้าที่ระดับสูงด้านข่าวกรอง เนื่องจากเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยที่มีจีนช่วยโอบอุ้มรัสเซียหลังจากถูกชาติตะวันตกแซงก์ชั่นครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และสองประเทศก็กระชับสัมพันธ์กันแน่นแฟ้นขึ้น

“แอฟริล เฮนส์” ผู้อำนวยการข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐ ซึ่งดูแลหน่วยงานข่าวกรอง 18 แห่ง เข้าให้ถ้อยคำต่อคณะกรรมาธิการข่าวกรองวุฒิสภา เมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ในแง่ของผลกระทบที่มีต่อความมั่นคงแห่งชาตินั้น หากรัฐบาลผิดนัดชำระหนี้ แน่นอนว่าจะก่อให้เกิดความไม่แน่นอนต่อค่าเงินดอลลาร์และต่อสถาบันต่าง ๆ ของสหรัฐ อันจะนำไปสู่ความผันผวนของค่าเงินและสร้างความปั่นป่วนในตลาดเงิน

“เกือบจะแน่นอนว่าจีนและรัสเซียจะมองหาประโยชน์จากเรื่องนี้ พวกเขาอาจพยายามเน้นย้ำว่า ความโกลาหลที่เกิดขึ้นสะท้อนว่าประเทศประชาธิปไตยอย่างสหรัฐไร้ความสามารถในการบริหารประเทศ”

เช่นเดียวกับ “ชาแลนดา ยัง” ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารงบประมาณของสหรัฐ ที่ตอบคำถามผู้สื่อข่าวที่ถามว่า ศัตรูจะได้ประโยชน์จากการที่สหรัฐผิดนัดชำระหนี้หรือไม่ ซึ่งเธอตอบว่า “พวกเขาชอบมัน พวกเขาอยากเห็นความโกลาหลในระบบของอเมริกา อยากเห็นว่าพวกเราไม่สามารถแม้แต่จะทำหน้าที่พื้นฐานได้”

ก่อนหน้านี้อดีตรัฐมนตรีกลาโหมของสหรัฐ 2 คน คือ ลีออน พาเน็ตตา และชัก เฮเกล ได้ออกมาเตือนว่า หากมีการผิดนัดชำระหนี้ก็จะถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่สิ่งนี้เกิดขึ้นในสหรัฐ ซึ่งจะทำให้ความมั่นคงของชาติอ่อนแอลง มันจะเป็นบาดแผลที่บอกทั้งมิตรและศัตรูของเราว่า “เราเป็นประเทศที่ไม่สามารถไว้ใจได้”

อดีตรัฐมนตรีกลาโหมกล่าวด้วยว่า ในยามที่สหรัฐเป็นผู้นำในการช่วยเหลือยูเครนด้านอาวุธและแซงก์ชั่นรัสเซีย “วลาดิมีร์ ปูติน” จะเฝ้ามองเพื่อวัดความน่าเชื่อถือด้านเศรษฐกิจของสหรัฐ “การผิดนัดชำระหนี้ในเวลานี้จะบ่อนทำลายอำนาจของเรา ขณะเดียวกัน จะส่งเสริมให้ปูตินโจมตีประชาธิปไตยต่อไป”

ก่อนหน้านี้การงัดข้อประเด็นเพดานหนี้จนส่งผลสั่นสะเทือนร้ายแรง เกิดขึ้นเมื่อปี 2011 ในยุครัฐบาล “บารัก โอบามา” แห่งพรรคเดโมแครต เป็นผลให้สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ หั่นอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐจากระดับสุดยอด AAA เหลือ AA+ แต่มูดีส์ฯและฟิตช์ยังคงระดับ AAA เช่นเดิม และตามข้อมูลของโกลด์แมน แซกส์ ชี้ว่า ช่วงวิกฤตดังกล่าวดัชนีหุ้นเอสแอนด์พี 500 ร่วงมากถึง 15%