
เศรษฐกิจญี่ปุ่นไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเติบโตมากถึง 6% ทำให้มูลค่าจีดีพีครึ่งปีสูงเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วในระดับเดียวกันกำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจชะลอ-ถดถอย เป็นเพราะอะไร แล้วการเติบโตนี้จะยั่งยืนหรือไม่ ?
แม้ว่าเศรษฐกิจโลกซึมเซาเป็นปัจจัยลบของเศรษฐกิจประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แต่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเร็วกว่าที่คาดมาก ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของญี่ปุ่นไตรมาส 2 ปี 2023 เติบโต 6.0% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) จีดีพีโต 1.5% สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะโต 0.8% ดันมูลค่าจีดีพีครึ่งปีพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ 560.7 ล้านล้านเยน (ประมาณ 3.85 ล้านล้านดอลลาร์)
อัตราการเติบโต 6.0% นั้นสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ไปมาก โดยการสำรวจของรอยเตอร์ (Reuters) นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะโต 3.1% (YOY) ส่วนการเติบโตรายไตรมาสที่ 1.5% ก็สูงกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์คาดว่าจะโต 0.8%
การเติบโตของจีดีพีในไตรมาส 2 ปี 2023 นี้ นับเป็นการเติบโตติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 และเป็นการเติบโตที่เร็วที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายของปี 2020
ชิเกยูกิ โกโตะ (Shigeyuki Goto) รัฐมนตรีกระทรวงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ (Economic Revitalization) ของญี่ปุ่น กล่าวว่า ค่าจ้างที่แท้จริงในญี่ปุ่นกลับมาเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ไตรมาส และความต้องการลงทุนของภาคธุรกิจก็แข็งแกร่ง
“ท่ามกลางฉากหลังแบบนี้ เราคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระดับปานกลางจะยังคงดำเนินต่อไป แม้ว่าจำเป็นต้องระมัดระวังความเสี่ยงด้านลบ (downside risk) จากเศรษฐกิจโลก และผลกระทบจากการปรับขึ้นราคา” โกโตะกล่าว
การเติบโตของเศรษฐกิจญี่ปุ่นเกิดขึ้นในขณะที่เศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ ชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในระดับเดียวกัน อย่างเยอรมนี อัตราการเติบโตของจีดีพีชะงักงันอยู่ที่ 0.0% สหภาพยุโรป (EU) โต 0.3% สหราชอาณาจักรโต 0.2% และสหรัฐอเมริกาโต 2.4%
เพราะอะไรเศรษฐกิจญี่ปุ่นจึงโตได้ดีกว่าเพื่อนในช่วงเวลาเช่นนี้ ?
ปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้จีดีพีญี่ปุ่นเติบโตดีในไตรมาส 2 ที่ผ่านมานี้ คือ การส่งออกที่เติบโต 3.2% (YOY) นำโดยการส่งออกรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 4.3% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า บวกกับจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นพร้อมกับการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น (ซึ่งญี่ปุ่นนับรายได้ส่วนนี้รวมในภาคการส่งออก) ช่วยชดเชยการชะลอตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ขณะที่ฝั่งการนำเข้าลดลง ทำให้การส่งออกสุทธิเติบโต
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศญี่ปุ่นสะสมถึงเดือนมิถุนายนคิดเป็นกว่า 70% ของระดับก่อนเกิดโรคระบาดแล้ว และคาดว่าการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นมากนับตั้งแต่เดือนสิงหาคมเป็นต้นไป เนื่องจากรัฐบาลจีนอนุญาตให้กรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางไปญี่ปุ่นได้แล้ว
การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนซึ่งครองสัดส่วนคิดเป็นกว่าครึ่งของเศรษฐกิจญี่ปุ่นลดลง 0.5% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QOQ) เนื่องจากราคาที่ปรับสูงขึ้นกระทบยอดขายอาหารและเครื่องใช้ในครัวเรือน ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการลงทุน (capital expenditure) ของภาคธุรกิจยังอยู่ในระดับทรงตัว
ถึงแม้ว่าตัวเลขจีดีพีในภาพรวมของญี่ปุ่นที่โตดีเกินคาดจะช่วยคลายความตึงเครียดสำหรับผู้กำหนดนโยบาย แต่ผลลัพธ์ที่ดูดีนี้ส่วนใหญ่มาจากอุปสงค์ภายนอก ซึ่งผู้เชี่ยวชาญมองว่าตัวเลขนี้ปกปิดความอ่อนแอในภาคครัวเรือนเอาไว้ ตัวเลขในรายละเอียดไม่ได้สวยงามเหมือนตัวเลข headline อย่างตัวเลขการส่งออกสุทธิที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากการนำเข้าที่ลดลงติดต่อกันเป็นไตรมาสที่ 3 ขณะที่อุปสงค์ในประเทศลดลงตามกำลังซื้อ
มาร์เซล ธีเลียนต์ (Marcel Thieliant) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทวิจัย แคปปิทัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวว่า แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเร็วมากในไตรมาสล่าสุด แต่คาดว่าการเติบโตจะชะลอช้าลงในครึ่งปีหลัง
“โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออกนั้นไม่น่าจะยั่งยืน”
“ในขณะที่การส่งออกสินค้าทุน (capital good) ฟื้นตัวขึ้นในเดือนมิถุนายน แต่การลดลงครั้งใหญ่ที่สุดของการลงทุนในประเทศต่าง ๆ อยู่ข้างหลังเราในตอนนี้ เราไม่คาดว่าจะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง” ธีเลียนต์กล่าว
ทาโร คิมูระ (Taro Kimura) นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) กล่าวว่า ปัญหาเดียวคือ ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก และปกปิดสภาวะที่ยากลำบากในอุปสงค์ภายในประเทศ การอุปโภคบริโภคที่ลดลงแม้จะมีกระแสลมหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของค่าจ้างที่ยังตามหลังอัตราเงินเฟ้ออยู่มาก
ทาคุมิ ซึโนดะ (Takumi Tsunoda) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ Shinkin Central Bank Research Institute สถาบันวิจัยของธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่นกล่าวว่า ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ผลักดันให้จีดีพีเพิ่มขึ้น คือ การนำเข้าที่ลดลง ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง
“ด้วยเหตุนี้ ธนาคารกลางจะคงนโยบายการเงินในปัจจุบันไว้ และเริ่มใช้ท่าที wait-and-see ในขณะนี้” ซึโนดะกล่าว
ทาโร ไซโตะ (Taro Saito) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัย NLI Research Institute กล่าวว่า ไม่สามารถพูดได้ว่าตัวเลขดีทั้งหมด เพราะเมื่อดูที่เนื้อหาภายในแล้ว มีเพียงการส่งออกสุทธิเท่านั้นที่สูงกว่าประมาณการมาก ในขณะที่การบริโภคอ่อนตัวลงและยังคงต่ำกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาด
“ผมสามารถพูดได้ว่า สิ่งนี้จะไม่เป็นปัจจัยที่จะผลักดัน BOJ ไปสู่การปรับนโยบายเข้าสู่ระดับปกติ (policy normalization)”
ทั้งนี้ การวิเคราะห์ของสองคนหลังขัดแย้งกับความคาดหวังและคาดการณ์ของหลายคนที่ว่า ธนาคารกลางประเทศญี่ปุ่น (BOJ) กำลังจะปรับทิศนโยบายการเงินจากนโยบายผ่อนคลายเป็นพิเศษไปสู่นโยบายที่เข้มงวดขึ้น หลังจากที่ BOJ ปรับเพิ่มอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 10 ปี เมื่อเดือนที่แล้ว