เศรษฐกิจญี่ปุ่นกลับสู่ความเป็นจริงแล้ว จีดีพีไตรมาส 3 ปี 2023 หดตัวลง 2.9% หลังจากที่เติบโตอย่างหรูในไตรมาส 2 ขณะที่ค่าจ้างที่แท้จริงลดลงเป็นเดือนที่ 19 ติดต่อกัน
วันที่ 8 ธันวาคม 2023 สำนักนิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) รายงานว่า ข้อมูลจากสำนักงานคณะรัฐมนตรีญี่ปุ่นระบุว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2023 หดตัว 2.9% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งแย่กว่าที่ทางการญี่ปุ่นประมาณการเบื้องต้นไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่าจะหดตัว 2.1%
ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศที่หดตัวลงในไตรมาสล่าสุดนี้ เป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนและภาคครัวเรือน ขณะที่การลงทุนของธุรกิจชะลอตัว
ขณะเดียวกัน สถิติค่าจ้างรายเดือนที่เผยแพร่ในวันเดียวกันโดยกระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการ แสดงให้เห็นว่าค่าจ้างที่แท้จริงโดยเฉลี่ยของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2023 เมื่อปรับอัตราเงินเฟ้อออกแล้ว ลดลง 2.3% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) นับเป็นการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 17
ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า การหดตัวลงของเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ของปีนี้เป็นไปตามที่นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ตั้งแต่ที่ทราบตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ซึ่งเติบโตสวนทางโลกถึง 6%
ในตอนนั้น นักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์มองว่า การเติบโตดังกล่าวเป็นผลมาจากอุปสงค์ภายนอกเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งตัวเลขจีดีพีที่ “ดูดี” นั้นปกปิด “ความอ่อนแอ” ในภาคครัวเรือนเอาไว้
มาร์เซล ธีเลียนต์ (Marcel Thieliant) หัวหน้าประจำภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกของบริษัทวิจัย แคปปิทัล อีโคโนมิกส์ (Capital Economics) กล่าวในเวลานั้นว่า แม้ว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตเร็วมากในไตรมาส 2 ปี 2023 แต่คาดว่าการเติบโตจะชะลอช้าลงในครึ่งปีหลัง
“โมเมนตัมการเติบโตของเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยการส่งออกนั้นไม่น่าจะยั่งยืน” ธีเลียนต์กล่าว
ทาโร คิมูระ (Taro Kimura) นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) กล่าวในเวลานั้นว่า ปัญหาเดียวคือ ทั้งหมดนี้ขับเคลื่อนด้วยการส่งออก และปกปิดสภาวะที่ยากลำบากในอุปสงค์ภายในประเทศ การอุปโภคบริโภคที่ลดลงแม้จะมีกระแสลมหนุนจากการกลับมาเปิดประเทศ สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของค่าจ้างที่ยังตามหลังอัตราเงินเฟ้ออยู่มาก
ทาคุมิ ซึโนดะ (Takumi Tsunoda) นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของสถาบันวิจัยชินคินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Shinkin Central Bank Research Institute) กล่าวว่า ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ผลักดันให้จีดีพีเพิ่มขึ้นคือ การนำเข้าที่ลดลง ซึ่งนั่นไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นมีการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง