ญี่ปุ่นส่งออกไปสหรัฐสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางตลาดโลกที่ซบเซา

JAPAN-TRADE-ECONOMY
ภาพจาก : AFP Photo by YOSHIKAZU TSUNO

การส่งออกของญี่ปุ่นขยายตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันในเดือนตุลาคม 2023 แต่ขยายตัวในอัตราที่ช้าลงมากจากเดือนก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปตลาดสหรัฐซึ่งเป็นทั้งพันธมิตรและคู่ค้ารายสำคัญเติบโตแรงจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีสินค้า “รถยนต์และชิ้นส่วน” เป็นพระเอก

การส่งออกในภาพรวมของญี่ปุ่นในเดือนตุลาคม 2023 มีมูลค่าประมาณ 9.14 ล้านล้านเยน (60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) อัตราการขยายตัว 1.6% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) ซึ่งเร็วกว่าที่นักเศรษฐศาสตร์ที่ตอบแบบสำรวจของ “รอยเตอร์” (Reuters) คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 1.2% (YOY) แต่ก็ชะลอลงมากจากอัตราการขยายตัวของเดือนกันยายน 2023 ที่ขยายตัว 4.3% (YOY)

ขณะที่ภาพรวมการนำเข้าในรูปเงินเยนลดลง 12.5% จากปีก่อนหน้า (YOY) โดยมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 9.8 ล้านล้านเยน (64,840 ล้านดอลลาร์) ส่งผลให้ญี่ปุ่นขาดดุลการค้า 662,000 ล้านเยน (ประมาณ 4,380 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)

การส่งออกที่ชะลอลงเป็นผลจากการส่งออกชิปและเหล็กกล้าไปยังจีนตกต่ำลง โดยการส่งออกไปยังจีนซึ่งเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่นลดลง 4.0% จากเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) นับเป็นการลดลงติดต่อกันแล้ว 11 เดือน

นอกจากความซบเซาของตลาดจีนแล้ว การส่งออกของญี่ปุ่นที่ชะลอลงสะท้อนภาพอุปสงค์ทั่วโลกว่ายังคงอ่อนแอ และมีแนวโน้มว่าจะยังอ่อนแอต่อไป ดังที่ อัตสึชิ ทาเคดะ (Atsushi Takeda) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยอิโตชู (Itochu Research Institute) วิเคราะห์ว่า เนื่องจากเศรษฐกิจจีนกำลังคลานอยู่ที่จุดต่ำสุด ขณะที่อุปสงค์จากสหรัฐอเมริกาและยุโรปชะลอตัว ดังนั้น ระดับการส่งออกในปัจจุบันจึงยังไม่ใช่จุดต่ำสุด และกว่าจะพ้นจุดต่ำสุดก็ในช่วงกลางปีหน้า

ถึงแม้การส่งออกภาพรวมโตชะลอลงท่ามกลางอุปทานโลกที่ยังอ่อนแอ แต่มูลค่าการส่งออกของญี่ปุ่นไปยังตลาดสหรัฐอเมริกาในรูปเงินเยนเพิ่มสูงจนแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากการส่งออกรถยนต์ยังคงเพิ่มขึ้น ผนวกกับอานิสงส์จากค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลงอย่างมากจนถึงระดับ 150 เยนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2023

ตามข้อมูลเบื้องต้นที่กระทรวงการคลังญี่ปุ่นเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน การส่งออกของญี่ปุ่นไปยังสหรัฐในเดือนตุลาคมมีมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.92 ล้านล้านเยน เพิ่มขึ้น 8.4% โดยพระเอกคือ “รถยนต์” ส่งออกเพิ่มขึ้นมากถึง 37.9% พร้อมกับ “ชิ้นส่วนรถยนต์” ที่เพิ่มขึ้น 20.1% และการส่งออกเครื่องจักรสำหรับการก่อสร้างและเครื่องจักรสำหรับการทำเหมืองแร่เพิ่มขึ้น 20.3%

การส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นเร่งตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากแรงกดดันฝั่งอุปทานชิ้นส่วนลดลง นอกจากตลาดสหรัฐแล้ว การส่งออกรถยนต์ของญี่ปุ่นไปยังตลาดสำคัญอื่น ๆ ในเดือนตุลาคมก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยส่งออกไปยังสหภาพยุโรป (EU) เพิ่มขึ้น 84% และจีนเพิ่มขึ้น 31.8%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปีนี้หดตัว -2.1% เนื่องจากการบริโภคภายในประเทศยังอ่อนแอ ต้องลุ้นให้ไตรมาส 4 ไม่หดตัวลงอีกจึงจะรอดพ้นภาวะเศรษฐกิจถดถอยในเชิงเทคนิคได้ ซึ่ง “การส่งออก” ที่ยังเติบโตเป็นอีกหนึ่งความหวังของเศรษฐกิจญี่ปุ่นร่วมกับ “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นในเดือนตุลาคมที่ผ่านมาสูงเกินระดับก่อนโควิด-19 แล้ว ขณะที่การใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวก็มากกว่าระดับก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 แล้วตั้งแต่ไตรมาส 3

อย่างไรก็ตาม ในฝั่งการส่งออกที่พึ่งพาการส่งออกรถยนต์เป็นหลัก อาจจะฝากความหวังมากไม่ได้เหมือนภาคการท่องเที่ยว ดังที่ “ชิซาโตะ โอชิบะ” (Chisato Oshiba) นักเศรษฐศาสตร์จากสถาบันวิจัยไดอิจิไลฟ์ (Dai-ichi Life Research Institute) เตือนว่า การเติบโตของการส่งออกรถยนต์อาจลดลงในระยะถัดไป เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปจะชะลอตัวลงในที่สุด