
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นใน 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2023 พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 12.7 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.99 ล้านล้านบาท)
วันที่ 9 พฤศจิกายน 2023 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณนี้ (1 เมษายน 2023 ถึง 30 กันยายน 2023) ถือเป็นพัฒนาการเชิงบวกสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นและค่าเงินเยนที่อ่อนค่า
กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นในครึ่งปีงบประมาณ 2023 “เกินดุล” สูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 12.7 ล้านล้านเยน (ประมาณ 2.99 ล้านล้านบาท ตามอัตราแลกเปลี่ยนวันที่ 9 พ.ย. 2023) โดยได้แรงหนุนจากการนำเข้าที่ลดลง
ส่วนการเกินดุลรายเดือนในเดือนกันยายน 2023 ก็สูงกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) โดยเกินดุลอยู่ 2.72 ล้านล้านเยน (ประมาณ 640,000 ล้านบาท) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 18 เดือน และส่งผลให้ญี่ปุ่นเกินดุลแล้ว 8 เดือนในปีนี้
แม้ว่าดุลบริการ (service balance) ในภาพรวมของญี่ปุ่นยังคงขาดดุล แต่การเกินดุลในภาคการท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นแล้ว 15 เท่า เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อนหน้า เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าญี่ปุ่นฟื้นตัวขึ้นมามากแล้ว โดยเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าญี่ปุ่นแล้วคิดเป็นกว่า 96% ของระดับก่อนเกิดโควิด-19
การเกินดุลบัญชีเดินสะพัดในภาพรวมส่วนใหญ่เกิดจากดุลการค้าที่ดีขึ้น การนำเข้าของญี่ปุ่นลดลง 13.2% จากปีก่อนหน้า โดยได้แรงหนุนจากการลดลงของน้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติเหลว และถ่านหิน ขณะเดียวกัน การส่งออกที่สูงขึ้นซึ่งขับเคลื่อนโดยการขนส่งรถยนต์และเครื่องจักรก่อสร้างก็ส่งผลต่อการเกินดุลการค้าให้เพิ่มขึ้นด้วยอีกทางหนึ่ง
ข้อมูลที่เปิดเผยออกมาล่าสุดนี้ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากแสดงให้เห็นว่าต้นทุนการนำเข้าสินค้าพลังงานลดลง ขณะที่การส่งออกรถยนต์กำลังฟื้นตัวจากข้อจำกัดในห่วงโซ่อุปทานซึ่งผ่อนคลายลงแล้ว ส่วนการกลับมาของนักท่องเที่ยวก็เห็นชัดเจนแล้ว แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าภาคเศรษฐกิจจริงของญี่ปุ่นจะกลับมาหดตัวในไตรมาสที่ 3 แต่ข้อมูลบัญชีเดินสะพัดปัจจุบันชี้ให้เห็นว่ายังมีปัจจัยพื้นฐานที่ยังคงหนุนเศรษฐกิจญี่ปุ่นอยู่
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นมีกำหนดเปิดเผยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เบื้องต้นของไตรมาส 3 ปี 2023 (นับเป็นไตรมาส 2 ตามปีงบประมาณ-งบการเงินญี่ปุ่น) ในวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งจะเผยคำตอบว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะหดตัวตามที่นักเศรษฐศาสตร์คาดหรือไม่
- วิเคราะห์ รัฐบาลญี่ปุ่นทุ่ม 17 ล้านล้านเยนกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยไม่หวั่นหนี้ท่วม
- ญี่ปุ่นผ่อนเกณฑ์ให้ต่างชาติได้สถานะ “พำนักเพื่อธุรกิจ” ง่ายขึ้น ดึงการลงทุน-คนเก่ง
- เยอรมนีกำลังจะแซงญี่ปุ่นขึ้นเป็นประเทศ “เศรษฐกิจ” ใหญ่อันดับ 3 ของโลก
- โตเกียวนักท่องเที่ยวล้น ค่าโรงแรมพุ่ง ต่างชาติเที่ยวญี่ปุ่นยังไม่ไปเมืองอื่น