ญี่ปุ่นเร่งเครื่องลุยธุรกิจ “รีไซเคิลทองคำ” รับเทรนด์ราคาพุ่ง-ดีมานด์สูง

ญี่ปุ่น รีไซเคิลทองคำ

ราคาทองคำพุ่งสูงขึ้นหลังจากเกิดสงครามอิสราเอล-ฮามาส เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 โดยขึ้นสู่ระดับสูงสุด 2,06.76 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ เมื่อเวลา 00.00 น. วันที่ 27 ตุลาคม 2023 (เวลานิวยอร์ก สหรัฐ) ก่อนที่จะปรับตัวลดลงมา แต่ก็ยังอยู่ในระดับสูงกว่าเมื่อต้นเดือนตุลาคม-ก่อนเกิดสงครามอยู่มาก

บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ราคาทองคำที่พุ่งสูงทำให้การสกัดโลหะมีค่าจากแผงวงจรที่ใช้แล้วและขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือที่เรียกว่าเป็นการ “ทำเหมืองในเมือง” ในประเทศญี่ปุ่นเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันทองคำรีไซเคิลมีสัดส่วนไม่ถึง 30% ของอุปทานทองคำทั่วโลก แต่การรีไซเคิลทองคำจะมีความสำคัญต่อตลาดทองคำโลกมากขึ้น ตามที่ “สภาทองคำโลก” (World Gold Council) ระบุว่า ตลอดประวัติศาสตร์มีการขุดทองเพียงประมาณ 200,000 ตัน และเนื่องจากผลผลิตทองคำจากการทำเหมืองเพิ่มขึ้นน้อย การนำทองในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเศษโลหะต่าง ๆ กลับมาใช้จึงมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น

ข้อมูลจาก “สภาทองคำโลก” เผยให้เห็นว่าการรีไซเคิลทองคำจากขยะอิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากในปีนี้ โดยทองคำที่ได้จากการรีไซเคิลทั่วโลกในช่วงเดือนมกราคมถึงกันยายน 2023 อยู่ที่ 923.7 ตัน เพิ่มขึ้นประมาณ 10% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2022 ซึ่งเพิ่มขึ้นในอัตรามากกว่าการผลิตทองคำจากเหมืองธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นประมาณ 3% จากปีก่อนหน้า

คาดว่าอุปทานทองคำรีไซเคิลตลอดทั้งปี 2023 นี้จะเข้าใกล้ตัวเลขในปี 2020 ที่ 1,293.1 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงที่สุดในรอบทศวรรษที่ผ่านมา

ประเทศญี่ปุ่นมีแหล่งแร่ทองคำทางธรรมชาติเพียงเล็กน้อย แต่เป็นหนึ่งในตลาดที่มีอนาคตมากที่สุดสำหรับการทำเหมืองในเมือง หรือการเปลี่ยนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกทิ้งให้กลายเป็นแหล่งทองคำ และโลหะมีค่าอื่น ๆ

รัฐบาลญี่ปุ่นเล็งเห็นความสำคัญของการรีไซเคิลทองคำและโลหะมีค่าต่าง ๆ เพื่อเป็นการส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ จึงกำลังเร่งส่งเสริมการรีไซเคิลโลหะมีค่า ไม่เพียงแต่ทองคำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโลหะสำคัญอื่น ๆ เช่น โลหะที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า

เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ญี่ปุ่นตกลงที่จะจัดทำกรอบความร่วมมือกับอาเซียนเรื่องการรีไซเคิลโลหะ ฝั่งภาคธุรกิจรีไซเคิลโลหะในญี่ปุ่นก็กำลังดำเนินการตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศมากขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่ามีแหล่งแร่อย่างมั่นคงเพียงพอ ซึ่งแร่โลหะบางชนิดสามารถขุดได้ในไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น ประเทศจีน

บลูมเบิร์กรายงานว่า โรงงานแห่งหนึ่งของบริษัท “ทานากะ คิคินโซคุ โคเกียว” (Tanaka Kikinzoku Kogyo) ในเมืองฮิรัตสึกะ ใกล้กับเมืองโยโกฮามาได้รับแผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องประดับจำนวนมากในแต่ละวัน เศษโลหะมีค่าจะถูกหลอมให้เป็นทองคำและโลหะอื่น ๆ ตามแต่ชนิดของโลหะ จากนั้นจึงขึ้นรูปเป็นแท่งและรูปทรงอื่น ๆ

โดยปกติที่โรงงานแห่งนี้รีไซเคิลโลหะมีค่าได้ประมาณ 3,000 ตันต่อปี แต่ล่าสุด “อากิโอะ นางาโอกะ” (Akio Nagaoka) ผู้บริหารโรงงานนี้บอกว่าต้องการรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ (เพื่อนำไปรีไซเคิล) ให้ได้มากขึ้น ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่ยังมองถึงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ “อาเซียน” ซึ่งคาดว่าดีมานด์การรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์จะเพิ่มขึ้นด้วย

“มิตซูบิชิ แมทีเรียลส์” (Mitsubishi Materials) ตั้งเป้าที่จะแปรรูปเศษโลหะให้ได้ 240,000 ตันต่อปี ภายในสิ้นปีงบการเงิน 2030 จากปัจจุบันที่แปรรูปได้ปีละ 160,000 ตัน

“สกูล ออฟ ซัสเทเนเบิล ดีไซน์” (School of Sustainable Design) สถาบันสอนด้านการออกแบบเพื่อความยั่งยืนของญี่ปุ่นประมาณการว่า ญี่ปุ่นมีทองคำสะสมอยู่ประมาณ 5,300 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับประมาณ 10% ของปริมาณทองคำสำรองทั่วโลก

ด้านกระทรวงสิ่งแวดล้อมของญี่ปุ่นระบุว่า ทองคำที่เป็นส่วนประกอบอยู่ในโทรศัพท์มือถือ 10,000 เครื่องสามารถนำมารีไซเคิลได้ทองคำได้ประมาณ 280 กรัม ทำให้การรีไซเคิลทองคำจากโทรศัพท์มือถือมีประสิทธิภาพมากกว่าการขุดทองใหม่ในธรรมชาติถึง 56 เท่า เมื่อเทียบในแง่ “น้ำหนัก” ของทองคำที่ได้มา

เมื่อทุกภาคส่วนเห็นตรงกันถึงความสำคัญของการรีไซเคิลทอง ญี่ปุ่นจึงเดินหน้าทิศทางนี้อย่างเต็มสูบ