ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซีย จุดสลบของ “ปูติน”

ปัญหาเศรษฐกิจรัสเซีย
(Photo by SERGEI CHUZAVKOV / AFP)
คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์

มองอย่างผิวเผินจากภายนอก เศรษฐกิจของรัสเซียยังคงอยู่ในสภาพแข็งแกร่ง ท่ามกลางกระแสแซงก์ชั่นและภาวะเงินเฟ้อ ในยามที่สงครามในยูเครนกำลังขยับเข้าใกล้วาระครบรอบ 2 ปีอยู่รอมร่อ

ตามตัวเลขที่ประกาศอย่างเป็นทางการ จีดีพีของรัสเซียขยายตัว 5.5% ในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ พลิกผันจากสถานการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีที่แล้ว ที่จีดีพีดิ่งลงติดลบถึง 3.5% ในขณะที่อัตราว่างงานลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 3% อันเป็นระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์

ประเด็นที่น่าสนใจในถ้อยแถลงของทางการรัสเซีย ก็คือ “อัตราเงินเฟ้อ” ตัวเลขทางการแสดงให้เห็นว่า เงินเฟ้อไม่เพียงอยู่ในระดับสูง แต่ยังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จาก 6.69% ในเดือนตุลาคม เป็น 7.48% ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา

ดูไปราวกับว่าเศรษฐกิจยามสงครามของรัสเซียกำลังบูมเกินคาดหมาย แต่บรรดานักวิชาการและผู้สันทัดกรณีที่คุ้นเคยกับรัสเซียดีกลับระบุว่า สถานการณ์เศรษฐกิจรัสเซียไม่ได้ดีอย่างที่คิด ตรงกันข้ามกลับตกอยู่ในสภาพเปราะบางและเต็มไปด้วยปัญหาให้ต้องแก้ไข

อเล็กซานดรา โปรโกเพนโก นักเศรษฐศาสตร์รับเชิญประจำสถาบันคาร์เนกี รัสเซีย-ยูเรเซีย เซ็นเตอร์ ซึ่งอดีตเคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาธนาคารกลางรัสเซียชี้ว่า เศรษฐกิจจริง ๆ ของรัสเซียไม่ได้คึกคักเข้มแข็งถึงขนาดสามารถขับเคลื่อนจีดีพีให้พุ่งสูงขึ้นขนาดนั้น

“การขยายตัวของจีดีพีอย่างที่เห็นกันในยามนี้ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้จ่ายเพื่อทำสงคราม” เธอระบุ แรงงานในระบบการผลิตแทบมีไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป เนื่องจากส่วนใหญ่หากไม่หลบหนีการเกณฑ์ทหารออกไปใช้ชีวิตอยู่นอกประเทศก็กลายเป็นกำลังทหารทำสงครามอยู่ในยูเครน

ADVERTISMENT

โปรโกเพนโกเชื่อว่า เมื่อใดก็ตามที่การใช้จ่ายเพื่อทำสงครามยุติลง การเติบโตก็จะชะงักหรือไม่ก็ชะลอตัวอย่างรุนแรงตามมาในทันทีทันใด

ตัวเลขจากกระทรวงการคลังรัสเซียเองสนับสนุนข้อสังเกตดังกล่าวโดยแสดงให้เห็นว่า รัฐบาลรัสเซียใช้เม็ดเงินเพื่อการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงมาก คิดเป็นสัดส่วนถึงราว 5% ของจีดีพี สูงกว่าเงินที่ใช้กระตุ้นเพื่อรับมือกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ด้วยซ้ำไป

ADVERTISMENT

ในขณะเดียวกัน รายจ่ายทางด้านกลาโหมในงบประมาณประจำปี 2024 ถูกเพิ่มสูงขึ้นอีกเป็นเท่าตัว คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 6% ของจีดีพี อันเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต เป็นต้นมา

เม็ดเงินเหล่านี้นี่เองที่ส่งผลให้อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของรัสเซียสูงขึ้นผิดปกติ ในขณะที่ตัวเศรษฐกิจที่แท้จริงไม่ได้รองรับการขยายตัวในระดับดังกล่าวได้

สงครามทำให้อุปสงค์ในระบบเศรษฐกิจพุ่งสูง ในขณะที่อุปทานกลับลดลงสืบเนื่องจากสงครามเช่นเดียวกัน แรงงานซึ่งส่วนใหญ่เป็นระดับมันสมองหลบหนีออกนอกประเทศเป็นเรือนแสน นักลงทุนต่างชาติถอนการลงทุนออกจากรัสเซียอย่างต่อเนื่องในปี 2022 รวมเป็นเงินไม่น้อยกว่า 250,000 ล้านดอลลาร์

ในเมื่อทั้งวัตถุดิบ, เงินทุน และแรงงาน ในระบบขาดแคลน ก็ส่งผลให้ต้นทุนสูงขึ้น ราคาวัตถุดิบแพงขึ้น แรงงานขอขึ้นค่าจ้าง จนทำให้ค่าแรงขั้นต่ำในปีนี้สูงขึ้นราว 15% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ทั้งหมดนี้บรรดาบริษัททั้งหลายในระบบไม่สามารถแบกรับไว้เฉย ๆ ได้ จำเป็นต้องผลักภาระต่อให้กับผู้บริโภค ผลลัพธ์ที่ได้ก็คืออัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ในยามนี้ที่อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกชะลอ หรือลดลงมากแล้วก็ตามที

ธนาคารกลางแห่งรัสเซียไม่มีทางเลือกอย่างอื่น นอกจาก “ขึ้นอัตราดอกเบี้ย” เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อ ในการประชุมกำหนดนโยบายครั้งสุดท้ายของปีนี้ เมื่อกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ธนาคารกลางรัสเซียปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยขึ้นเป็น 16% สวนทางกับกระแสระงับการขึ้นดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นทั่วโลก

โปรโกเพนโกระบุว่า วลาดิมีร์ ปูติน กำลังพยายามทำในสิ่งที่ขัดแย้งกันเองอยู่ในตัว คืออัดงบประมาณสงครามลงไปเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัว เพื่อสร้างภาพให้สังคมรัสเซียพึงพอใจ แต่ในเวลาเดียวกันก็ส่งผลให้เกิด “ภาวะเงินเฟ้อ” ที่กำลังรุนแรงขึ้น และอยู่นอกเหนือการควบคุมมากขึ้นทุกที

เธออุปมาไว้ว่า ปูตินกำลังใช้เรือยอชต์ให้เป็นเรือทำลายน้ำแข็ง ทั้ง ๆ ที่เรือยอชต์ก็ยังเป็นเรือยอชต์อยู่วันยังค่ำ

เอลวีรา นาบิลลีนา ผู้ว่าการธนาคารกลางรัสเซีย ออกมาเตือนอย่างตรงไปตรงมาไว้ในการแถลงครั้งหลังสุดว่า เศรษฐกิจรัสเซียกำลังขยายตัวเร็วเกินไป เพราะใช้ทรัพยากรทุกอย่างทั้งหมดเพื่อการนั้น ทั้ง ๆ ที่ศักยภาพไม่ได้มีเพียงพอ

นาบิลลีนาเปรียบเปรยไว้ว่า รัสเซียเหมือนรถยนต์ที่ขับเร็วเกินขีดความสามารถของรถ ไม่ช้าไม่นานเครื่องยนต์ก็ต้อง “โอเวอร์ฮีต” อย่างเลี่ยงไม่ได้

แล้วรถก็จะพังพาบในระยะเวลาอันสั้นเท่านั้นเอง