
143 เสียงสมาชิกสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) รวมทั้งไทย โหวตเพิ่มสิทธิปาเลสไตน์ และเห็นควรรับเป็นสมาชิก แต่ต้องรอ UNSC พิจารณาใหม่ “ประชาชาติธุรกิจ” สรุป มติเพิ่มสิทธิพิเศษนี้หมายความว่าอย่างไร ปาเลสไตน์ได้สิทธิอะไรเพิ่มบ้าง
เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2024 ตามเวลานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) จัดการประชุมพิเศษฉุกเฉินเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ฉนวนกาซา และมีการผ่านมติอย่างท่วมท้นด้วยเสียงสนับสนุน 143 ประเทศ รวมทั้งไทย (คัดค้าน 9 ประเทศ งดออกเสียง 25 ประเทศ) เพื่อยกระดับสิทธิของ “ปาเลสไตน์” ในฐานะ “รัฐผู้สังเกตการณ์” ของสหประชาชาติ (UN) โดยยังไม่ได้ให้สมาชิกภาพอย่างเต็มรูปแบบ โดยเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) พิจารณาคำขอของปาเลสไตน์ใหม่
ความหมายของการรับรองมติดังกล่าวนี้ คือ สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) จะยกระดับสิทธิของปาเลสไตน์ในสหประชาชาติ แต่ไม่ได้รับปาเลสไตน์เป็นสมาชิกของสหประชาชาติ (UN) และไม่ได้ให้สิทธิในการออกเสียงหรือเสนอชื่อผู้สมัครรับตำแหน่งในองค์กรต่าง ๆ เช่น คณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) หรือ สภาเศรษฐกิจและสังคม (ECOSOC)
ส่วนการให้สมาชิกภาพ หรือการรับปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกนั้น สมัชชาใหญ่ได้พิจารณาว่ารัฐปาเลสไตน์มีคุณสมบัติเหมาะสมที่จะเป็นสมาชิกในสหประชาชาติตามข้อ 4 ของกฎบัตรสหประชาชาติ อย่างไรก็ตาม การรับปาเลสไตน์จะยังทำไม่ได้ หากไม่ได้รับคำแนะนำจากคณะมนตรีความมั่นคง (UNSC) ก่อน ซึ่งสมัชชาใหญ่ได้แนะนำให้คณะมนตรีความมั่นคงพิจารณาเรื่องนี้ใหม่
ทั้งนี้ การยกระดับสิทธิของปาเลสไตน์จะยังไม่มีผลจนกว่าการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยสามัญจะเริ่มขึ้น ในวันที่ 10 กันยายน 2024
สำหรับสิทธิของปาเลสไตน์ที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อมติดังกล่าวมีผล ได้แก่
-ผู้แทนของปาเลสไตน์มีสิทธินั่งประชุมท่ามกลางประเทศสมาชิก UN ตามลำดับตัวอักษร
-จัดทำแถลงการณ์ในนามของกลุ่ม
-ส่งข้อเสนอมติและการแก้ไขมติ และแนะนำมติ
-ร่วมอุปถัมภ์ (co-sponsor) ข้อเสนอมติและการแก้ไขมติ รวมถึงในนามของกลุ่ม
-เสนอเรื่องเพื่อบรรจุเป็นวาระการประชุมสมัยสามัญหรือสมัยพิเศษ และสิทธิขอบรรจุรายการเสริมหรือรายการเพิ่มเติมเป็นวาระการประชุมสมัยสามัญหรือสมัยพิเศษ
-สิทธิของสมาชิกคณะผู้แทนของรัฐปาเลสไตน์ที่จะได้รับเลือกเป็นเจ้าหน้าที่ในที่ประชุมใหญ่และคณะกรรมการหลักของสมัชชาใหญ่
-การมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และอย่างมีประสิทธิภาพในการประชุมของสหประชาชาติ และการประชุมระหว่างประเทศที่จัดขึ้นภายใต้การอุปถัมภ์ของสมัชชาใหญ่หรือขององค์กรอื่น ๆ ของสหประชาชาติ ตามความเหมาะสม