ข้อเสนอหยุดยิงที่อิสราเอลไม่ยอมรับแล้วถล่มกาซาซ้ำ มีสาระสำคัญอย่างไร ติดขัดตรงไหน ?

บรรยากาศวุ่นวายในเมืองราฟาห์ หลังการโจมตีของอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024
บรรยากาศวุ่นวายในเมืองราฟาห์ หลังการโจมตีของอิสราเอล เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2024 (ภาพโดย AFP)

ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซากับอิสราเอลเดือดขึ้นอีกครั้งท่ามกลางความหวังถึงการบรรลุข้อตกลงหยุดยิงถาวร ซึ่งคณะผู้เจรจาไกล่เกลี่ยทำงานผลักดันอย่างหนักในช่วงที่ผ่านมา 

ฮามาสได้ประกาศยอมรับร่างข้อเสนอหยุดยิงที่เสนอโดยกาตาร์และอียิปต์ฉบับล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 ที่ผ่านมา การประกาศของฮามาสเกิดขึ้นพร้อมกับการเฉลิมฉลองในฉนวนกาซา เนื่องจากผู้คนชาวปาเลสไตน์มีความหวังว่าสงครามกำลังจะสิ้นสุดลง 

แต่ความหวังนั้นไม่เกิดขึ้นจริง เพราะร่างข้อตกลงที่ฮามาสยอมรับนั้นไม่ได้รับการยอมรับจากฝั่งอิราเอล และยิ่งกระตุ้นให้อิสราเอลบุกถล่มพื้นที่ฉนวนกาซาอีกระลอก

เบนจามิน เนทันยาฮู (Benjamin Netanyahu) นายกรัฐมนตรีอิสราเอลกล่าวว่า ร่างข้อเสนอหยุดยิงที่ฮามาสยอมตกลงนั้นไม่เป็นไปตามความคาดหวังของอิสราเอล   

อิสราเอลโจมตีพื้นที่ทางตอนใต้ของฉนวนกาซาเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2024 แล้วเข้าควบคุมจุดผ่านแดนราฟาห์ ซึ่งเป็นด่านชายแดนฉนวนกาซากับอียิปต์ ในวันที่ 7 พฤษภาคม และนำรถถังบุกเข้าไปในเมืองราฟาห์ในวันเดียวกัน 

Advertisment

ในวันนี้ (8 พฤษภาคม) คณะผู้แทนจากอิสราเอล ฮามาส สหรัฐ กาตาร์ และอียิปต์  พบกันที่กรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เพื่อเจรจาข้อตกลงหยุดยิงที่ทั้งสองฝ่ายจะยอมรับได้กันอีกครั้ง ด้านเบนจามิน เนทันยาฮู นายกฯอิสราเอลมีกำหนดพบกับ วิลเลียม เบิร์นส์ (William Burns) ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองกลางของสหรัฐ (CIA) ที่ส่งมาเข้าพบเพื่อพยายามรื้อฟื้นความหวังที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงในฉนวนกาซา 

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนมาดูกันว่าข้อตกลงล่าสุดที่ฮามาสยอมรับแต่อิสราเอลบอกว่าห่างไกลกับความต้องการพื้นฐานของอิสราเอล มีสาระสำคัญอย่างไรบ้าง ทำไมทำให้อิสราเอลไม่พอใจ 

ข้อความในร่างข้อตกลงซึ่ง อัลจาซีรา (Al Jazeera) นำมาเผยแพร่ระบุว่า ร่างข้อเสนอหยุดยิงฉบับดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่การปล่อยตัวประกันชาวอิสราเอลที่ถูกจับกุมไว้ในฉนวนกาซา การปล่อยตัวทั้งพลและหรือทหารรวมถึงการคืนศพของผู้เสียชีวิตในพื้นที่ฉนวนกาซา เพื่อแลกกับการปล่อยตัวนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อิสราเอลคุมขังไว้ในเรือนจำ และการกลับคืนสู่ความสงบที่ยั่งยืน (sustainable calm) ซึ่งนำไปสู่การหยุดยิงถาวรและการถอนกำลังของอิสราเอลออกจากพื้นที่ฉนวนกาซา การสร้างบ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างและโครงสร้างพื้นฐานที่เสียหายขึ้นใหม่ และการยกเลิกการปิดล้อมฉนวนกาซา 

กรอบการทำงานแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ระยะละ 42 วัน รวมเป็นเวลา 126 วัน โดยในระยะ 42 วันแรกเริ่มจากการยุติการสู้รบ การรื้อถอนแคมป์ทหาร และสิ่งปลูกสร้างทางการทหาร การอนุญาตให้ส่งความช่วยเหลือในฉนวนกาซาผ่านถนนอัล-ราชิด (ที่เชื่อมตั้งแต่ต้นใต้สุดไปยังเหนือสุดของฉนวนกาซา) และอนุญาตให้ประชาชนสามารถเดินทางได้โดยอิสระ และการปล่อยตัวประกันในฉนวนกาซาแลกกับนักโทษชาวปาเลสไตน์ที่อิสราเอลจับขังไว้ โดยเริ่มจากผู้หญิงก่อน   

Advertisment

ระยะที่ 2 เป็นระยะกลับคืนสู่ความสงบอย่างยั่งยืน หรือการยุติปฏิบัติการทางทหารและศัตรูอย่างถาวร จะต้องได้รับการประกาศและมีผลก่อนที่จะมีการปล่อยตัวตัวประกันและชายชาวอิสราเอลทั้งหมดที่ยังมีชีวิตอยู่ ทั้งพลเรือนและทหาร เพื่อแลกกับนักโทษที่คุมขังในเรือนจำอิสราเอลตามที่ตกลงกันไว้ และกองทัพอิสราเอลจะถอนกำลังออกจากฉนวนกาซาอย่างสมบูรณ์

ส่วนระยะที่ 3 เป็นการแลกเปลี่ยนศพและเศษศากศพของทั้งสองฝ่ายหลังจากค้นพบและระบุตัวตนได้แล้ว 

นอกจากนี้ ร่างข้อตกลงนี้ประกอบด้วยแผนฟื้นฟูฉนวนกาซาในช่วง 3-5 ปี รวมถึงการซ่อมแซมและสร้างบ้าน สิ่งอำนวยความสะดวกของพลเรือน โครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และการจ่ายค่าชดเชยความเสียหายทั้งหมด ภายใต้การกำกับดูแลของประเทศและองค์กรต่าง ๆ รวมถึงอียิปต์ กาตาร์ และสหประชาชาติ (UN) 

ที่สำคัญ คือ อิสราเอลต้องยุติการปิดล้อมฉนวนกาซาโดยสมบูรณ์ 

บีบีซี (BBC) วิเคราะห์ว่า มีความขัดแย้งบางอย่างในรายละเอียดว่าควรเกิดอะไรขึ้นกับใคร เมื่อใด และในลำดับใด ตัวอย่างเช่น เจ้าหน้าที่อิสราเอลกล่าวว่า ทหารหญิงควรได้รับการปล่อยตัวเร็วกว่าที่ระบุไว้ในร่างข้อตกลง และข้อความในร่างข้อตกลงควรระบุชัดเจนกว่านี้ว่าตัวประกัน 33 คนแรกที่จะได้รับการปล่อยตัวจะต้องยังมีชีวิตอยู่ แต่รายละเอียดที่ไม่เห็นพ้องต้องกันเหล่านี้เป็นปัญหาที่อาจแก้ไขได้ด้วยการเจรจา 

แต่มีประเด็นพื้นฐานซึ่งเป็นหลักการสำรคัญที่เจรจายากและยากที่จะผ่านไปได้ นั่นคือ เมื่อไหร่คือเวลาที่เหมาะสมที่สงครามควรจะสิ้นสุดลง 

ร่างข้อตกลงซึ่งสนับสนุนโดยกลุ่มฮามาสระบุว่าควรมี “การยุติปฏิบัติการทางทหารระหว่างทั้งสองฝ่ายชั่วคราว” ซึ่งบีบีซีวิเคราะห์ว่า “โดยส่วนใหญ่แล้วก็ไม่มีปัญหาอะไร” แต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ระยะที่ 2 ซึ่งมีการกล่าวถึง “การกลับคืนสู่ความสงบที่ยั่งยืน” ซึ่งให้คำจำกัดความว่าเป็น “การยุติปฏิบัติการทางทหารและปฏิบัติการที่เป็นปรปักษ์อย่างถาวร” 

“นี่เป็นสิ่งที่รัฐบาลอิสราเอลดูเหมือนจะไม่ยอมรับ” บีบีซีชี้ โดยอ้างถึงแถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรี เบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลที่กล่าวว่า “อิสราเอลจะไม่ยอมให้กลุ่มฮามาสฟื้นฟูการปกครองที่ชั่วร้ายในฉนวนกาซา อิสราเอลจะไม่อนุญาตให้พวกเขาฟื้นฟูขีดความสามารถทางทหาร เพื่อมุ่งต่อสู้เพื่อการทำลายล้างของเราต่อไป อิสราเอลไม่สามารถยอมรับข้อเสนอที่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของพลเมืองของเราและอนาคตของประเทศของเรา” 

บีบีซีระบุว่า พูดอีกนัยหนึ่งคือ รัฐบาลอิสราเอลต้องการสิทธิ์ในการต่อสู้กับกลุ่มฮามาสต่อไปในระยะยาว ในทางตรงกันข้าม กลุ่มฮามาสต้องการหยุดยิงถาวร 

“สิ่งที่ไม่ชัดเจนคือจะมีทางใดที่ผู้เจรจาชาวกาตาร์ อียิปต์ และอเมริกัน จะหาทางสายกลางเพื่อผ่านเรื่องนี้ไปได้หรือไม่ … อาจเป็นไปได้ว่าทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจา ซึ่งการประกาศต่อสาธารณะมักถูกใช้ในการเจรจาเพื่อกดดันอีกฝ่าย” 

บีบีซีวิเคราะห์อีกว่า การที่กลุ่มฮามาสประกาศว่าสนับสนุนร่างกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งอาจเป็นความพยายามที่จะผลักดันให้อิสราเอลยอมประนีประนอม และแบ่งแยกอิสราเอลออกจากพันธมิตร ขณะเดียวกัน คำเตือนของอิสราเอลเกี่ยวกับการปฏิบัติการทางทหารในเมืองราฟาห์ที่กำลังจะเกิดขึ้นก็อาจเป็นความพยายามที่จะบีบฮามาสเพื่อให้ได้เงื่อนไขข้อตกลงที่ดีกว่า

บีบีซีบอกอีกว่า คำถามที่ว่าการหยุดยิงจะมีผลถาวรหรือไม่นั้น ก็ดูยากที่จะเข้าใจด้วยภาษาทางการทูตที่ชาญฉลาด อิสราเอลตกลงที่จะส่งคณะผู้แทนไปเจรจาที่ไคโร ซึ่งไม่ได้ส่งไปด้วยความทะเยอทะยานที่จะบรรลุข้อตกลงหยุดยิง แต่ไปเพื่อทำทุกอย่างที่เป็นไปได้ในการที่จะบรรลุข้อตกลงภายใต้เงื่อนไขที่อิสราเอลยอมรับได้ 

อย่างไรก็ตาม บีบีซีวิเคราะห์ว่า ในท้ายที่สุดแล้ว การบรรลุข้อตกลงจะเกิดขึ้นได้ด้วยเงื่อนไขใด และข้อตกลงจะมีผลต่อไปอย่างไรนั้น “ส่วนใหญ่จะขึ้นอยู่กับสิ่งที่รัฐบาลสหรัฐตัดสินใจ” ซึ่งบีบีซีมองอีกว่า “ประธานาธิบดีไบเดน (ของสหรัฐ) มีพรสวรรค์ในการบังคับผู้นำอิสราเอลให้ตัดสินใจเลือกสิ่งที่ตัวเขาอยากจะหลีกเลี่ยง”