KFC ปิด 100 สาขาในมาเลเซียชั่วคราว พิษมุสลิมคว่ำบาตรแบรนด์หนุนอิสราเอล

เคเอฟซี KFC มาเลเซีย
ร้าน KFC ในประเทศมาเลเซีย/ แฟ้มภาพ (ภาพโดย TENGKU Bahar / AFP)

KFC ต้านไม่ไหว ปิด 100 สาขาในมาเลเซียชั่วคราว อ้างเผชิญภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย แต่สื่อในประเทศชี้เป็นผลกระทบจากที่ชาวมุสลิมซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ในมาเลเซียคว่ำบาตรแบรนด์ที่สนับสนุนหรือมีความเชื่อมโยงกับอิสราเอล

วันที่ 30 เมษายน 2024 รอยเตอร์ (Reuters) รายงานว่า แบรนด์ไก่ทอด เคเอฟซี (KFC) ประกาศปิดสาขาในประเทศมาเลเซียชั่วคราว โดยให้เหตุผลเป็นเรื่อง “ภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย” หลังจากที่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า การปิดสาขาของเคเอฟซีเกิดขึ้นเนื่องจากพิษการคว่ำบาตร ซึ่งเคเอฟซีเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่โดนชาวมุสลิมในประเทศมาเลเซียคว่ำบาตร เนื่องจากมองว่าแบรนด์มีส่วนสนับสนุนหรือมีความเชื่อมโยงกับอิสราเอล 

มาเลเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมเป็นผู้สนับสนุนชาวปาเลสไตน์อย่างแข็งขันในสงครามระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาสชาวปาเลสไตน์ และแบรนด์อาหารฟาสต์ฟู้ดของตะวันตกบางแบรนด์ตกเป็นเป้าการคว่ำบาตรในประเทศมาเลเซียเช่นกันกับในประเทศมุสลิมอื่น ๆ 

บริษัท คิวเอสอาร์ แบรนด์ส (เอ็ม) โฮลดิงส์ หรือ  QSR Brands (M) Holdings Bhd ซึ่งดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์เคเอฟซี และพิซซ่า ฮัต (Pizza Hut) ในมาเลเซีย เปิดเผยว่า ได้ปิดร้านเคเอฟซีชั่วคราว “เพื่อตอบสนองต่อสภาวะเศรษฐกิจที่ท้าทาย” 

คำแถลงของบริษัทระบุว่า คิวเอสอาร์ แบรนด์ส และเคเอฟซี มาเลเซีย (KFC Malaysia) ได้ดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อปิดสาขาต่าง ๆ ชั่วคราว เพื่อบริหารจัดการต้นทุนทางธุรกิจที่เพิ่มขึ้น และมุ่งเน้นไปที่สาขาที่ยังมีจำนวนลูกค้าใช้บริการสูง สำหรับพนักงานในร้านที่ถูกปิด สามารถย้ายไปทำงานในร้านที่ยังเปิดให้บริการอยู่ได้ 

Advertisment

ทั้งนี้ คำแถลงดังกล่าวไม่ได้กล่าวถึงการรายงานข่าวของสื่อท้องถิ่น และไม่ได้ระบุจำนวนร้านที่ปิดบริการ แต่สื่อท้องถิ่นรายงานว่า ร้านเคเอฟซีกว่า 100 แห่งถูกปิดชั่วคราว

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานเพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่เกิดกับเคเอฟซีในมาเลเซีย เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหลายแบรนด์ตะวันตกในประเทศที่มีประชากรชาวมุสลิมเป็นส่วนใหญ่ ก่อนหน้านี้ในช่วงปลายเดือนมกราคม 2024 มีการสำรวจและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของแบรนด์สัญชาติตะวันตกหลายแบรนด์ ซึ่งพบว่า แบรนด์ต่าง ๆ ทั้งสตาร์บัคส์ (Starbucks) แม็คโดนัลด์ (McDonald’s) โค้ก (Coke) และ เป๊ปซี่ (Pepsi) ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญจากการคว่ำบาตรในตลาดมุสลิม