ท่าเรือใหญ่สุดในมาเลเซียหาผู้ร่วมทุน ระดม 3 แสนล้านบาท ขยายเท่าตัว ไม่กังวลแลนด์บริดจ์

ท่าเรือกลัง มาเลเซีย
ท่าเรือกลัง (Port Klang) มาเลเซีย (ภาพโดย Mohd RASFAN / AFP)

ท่าเรือกลัง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียกำลังหาผู้ร่วมทุนเพื่อขยายท่าเรือให้ใหญ่ขึ้นอีกเท่าตัว ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนประมาณ 3 แสนล้านบาท ผู้บริหารเผยไม่กังวลกับแผนสร้างแลนด์บริดจ์ของไทย 

วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2024 บลูมเบิร์ก (Bloomberg) รายงานว่า เวสต์พอร์ตส โฮลดิงส์ (Westports Holdings Bhd.) บริษัทเจ้าของสัมปทานดำเนินการท่าเรือกลัง (Port Klang) ท่าเทียบเรือที่ใหญ่ที่สุดของมาเลเซียกำลังมองหาและพิจารณานักลงทุนรายใหญ่ที่จะเข้าเป็นหุ้นส่วนเพื่อขยายท่าเรือให้ใหญ่ขึ้นเท่าตัว ซึ่งต้องการใช้เงินทุน 39,600 ล้านริงกิต (ประมาณ 296,800 ล้านบาท) 

“เราจะเปิดกว้าง หากเป็นใครสักคนที่สามารถเข้ามาและเพิ่มมูลค่าให้กับเราได้ … เราไม่ได้ตัดความเป็นไปได้ใด ๆ” รูเบน เอมีร์ กนานาลินกัม (Ruben Emir Gnanalingam) ประธานกรรมการบริหารกล่าว 

ท่าเรือกลังเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในมาเลเซียและใหญ่เป็นอันดับ 2 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งอยู่ในรัฐสลังงอร์ ปัจจุบันมีขีดความสามารถในการรองรับเรือขนส่งสินค้าได้ 14 ล้าน TEUs (ตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 20 ฟุต) เวสต์พอร์ตซึ่งได้รับสัมปทานดำเนินการท่าเรือนี้ไปจนถึงปี 2082 (พ.ศ. 2625) มีแผนจะเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับเป็น 27 ล้าน TEUs 

ขณะที่กำลังเปิดรับผู้ที่จะมาร่วมทุน เวสต์พอร์ตส โฮลดิงส์ ก็กำลังพิจารณาแผนการนำเงินปันผลที่ได้รับกลับมาลงทุนใหม่และแผนการกู้ยืมเงินเพิ่มเติมเพื่อเป็นทุนในการขยายโรงงานในเมืองกลังในรัฐสลังงอร์ด้วย

การขยายท่าเรือกลังซึ่งจะมีการสร้างท่าเทียบเรือตู้คอนเทนเนอร์เพิ่ม 8 ท่า โดยจะเริ่มต้นเปิดให้บริการท่าแรกของเฟสใหม่นี้ในปี 2027 สะท้อนถึงแผนการที่ทะเยอทะยานในทำนองเดียวกันกับเพื่อนบ้านรอบช่องแคบมะละกา ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางขนส่งทางทะเลที่พลุกพล่านที่สุดในโลก

สิงคโปร์ ซึ่งมีท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปัจจุบันกำลังสร้างท่าเรือทุส (Tuas) ซึ่งจะเป็นท่าเรือระบบอัตโนมัติที่ใหญ่ที่สุดในโลก ด้วยต้นทุนที่คาดว่าจะอยู่ที่ 20,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 530,740 ล้านบาท) 

ขณะเดียวกัน ด้วยการคาดการณ์ว่าการจราจรของเรือขนส่งสินค้าในช่องแคบมะละกาจะเกินขีดความสามารถที่ช่องแคบจะรับได้ภายในปี 2030 ประเทศไทยจึงพยายามเสนอทางเลือกสำหรับเเลี่ยงการเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกามาใช้เส้นทางขนส่งทางบกเชื่อมทะเลฝั่งอันดามันมาฝั่งอ่าวไทย โดยเสนอแผนการสร้างโครงการ “แลนด์บริดจ์” (Landbridge) ความยาว 62 ไมล์ (99.78 กิโลเมตร) ซึ่งจะลดเวลาการขนส่งลง 4 วัน เมื่อเทียบกับการขนส่งทางเรือผ่านช่องแคบมะละกา 

อย่างไรก็ตาม รูเบน ประธานกรรมการบริหารบริษัทเวสต์พอร์ตกล่าวว่า เขาไม่กังวลเกี่ยวกับแนวคิดการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งไปใช้แลนด์บริดจ์ของไทยในขณะนี้ เนื่องจากลูกค้าของเขายังไม่ได้พิจารณาโครงการนี้เป็นทางเลือกอย่างจริงจัง 

นอกจากขยายท่าเรือหลักแห่งนี้แล้ว รูเบนกล่าวว่า เวสต์พอร์ตส โฮลดิงส์ กำลังมองหาโอกาสในการเข้าดำเนินการท่าเรืออื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่เขาบอกว่า บริษัทของเขามีขีดจำกัดว่าจะจ่ายค่าประมูลโครงการไหนได้มากเท่าใด 

“เป้าหมายของเราคือการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนที่เหมาะสม  เป้าหมายของเราไม่ใช่การปักธงและเสียเงิน” ประธานกรรมการบริหารท่าเรือใหญ่สุดในมาเลเซียกล่าว