ท่ามกลางอนาคตทางเศรษฐกิจที่มืดมน และอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวที่สูง หนุ่มสาวชาวจีนพบว่า “จิคาวะ” (Chiikawa) การ์ตูนสุดน่ารักจากประเทศญี่ปุ่นตรงกับชีวิตของตนเอง และใช้ตัวละครจากเรื่องดังกล่าวมาปลอบโยนจิตใจ
มีรายงานน่าสนใจของ นิกเคอิ เอเชีย (Nikkei Asia) เมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2024 เกี่ยวกับความนิยมในตัวการ์ตูน “จิคาวะ” ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมในหมู่คนหนุ่มสาวชาวจีน เนื่องจากมีเนื้อหาที่สะท้อนถึงชีวิตที่ต้องดิ้นรนคล้ายกันกับความเป็นจริงของชีวิต แต่กลับสะท้อนความคิดเชิงบวก จนเป็นที่ประทับใจ
สินค้าเกี่ยวข้องกับตัวละครจากการ์ตูนมังงะชื่อดัง จิคาวะ กำลังเป็นที่นิยมและมีราคาแพงกว่าระดับราคาในญี่ปุ่นถึงสามเท่า สะท้อนถึงความหลงใหลของลูกค้าหนุ่มสาวกับตัวการ์ตูนสุดน่ารักตัวนี้
จิคาวะ เป็นการ์ตูนมังงะจากญี่ปุ่น มีชื่อเต็ม ๆ ว่า “Nanka Chiisakute Kawaii Yatsu” หรือ “บางสิ่งที่เล็ก ๆ และน่ารัก” ประกอบด้วยตัวละคร แฮมสเตอร์ แมว และกระต่าย สร้างสรรค์โดยนักเขียนการ์ตูนนามปากกาว่า “นางาโนะ” (Nagano)
ในตอนเริ่มแรก จิคาวะ ถูกเขียนเป็นการ์ตูนสั้นอ่านเล่นเผยแพร่บนบัญชี X ส่วนตัวของผู้เขียน ก่อนจะได้รับความนิยม จนถูกรวมเล่มทั้งหมด 5 เล่มโดยสำนักพิมพ์โคดันฉะ (Kodansha) และดัดแปลงเป็นการ์ตูนอนิเมะฉายทางยูทูบ มีความยาวตอนละไม่ถึง 2 นาที ถูกแปลเป็นหลายภาษา รวมถึงภาษากวางตุ้ง ซึ่งช่วยให้ซีรีส์นี้ได้รับความนิยมมากขึ้น
จิคาวะและปัญหาของคนหนุ่มสาว
นิกเคอิ เอเชีย อธิบายว่า คนหนุ่มสาวในจีนหลายคนที่เพิ่งเรียนจบหรือเพิ่งทำงานแรก พบว่าตัวละครในมังงะเรื่องนี้สะท้อนชีวิตของตัวเองได้ดี เนื่องจากสิ่งมีชีวิตที่น่ารักในเรื่องมีชีวิตอยู่ตามธรรมชาติซึ่งต้องต่อสู้กับสัตว์ประหลาดที่มักจะตัวโตกว่า ตัวละครต้องเรียนรู้ที่จะกำจัดวัชพืช และผ่านการทดสอบเพื่อได้มาซึ่งใบรับรองจากระดับต่ำไปสูง เพื่อที่จะหาเงิน
อาจเพราะความจำเป็นที่ต้องทำงาน แม้ว่าจะพ่ายแพ้และบาดเจ็บจากการทำร้ายของสัตว์ประหลาด ที่เชื่อมโยงจิคาวะเข้ากับแฟนคลับหนุ่มสาวในจีน ผู้ซึ่งต้องเผชิญความยากลำบากในการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว
ในเดือนมิถุนายน 2023 อัตราการว่างงานของพลเมืองจีนอายุระหว่าง 16-24 ปี มากกว่า 21% ซึ่งเป็นตัวเลขสุดท้ายก่อนรัฐบาลจีนจะหยุดรายงานตัวเลขดังกล่าวไป 6 เดือน แล้วเริ่มกลับมารายงานตัวเลขที่ได้จากการคำนวณวิธีใหม่ที่ให้ตัวเลขน้อยลงกว่าเดิมในเดือนมกราคม 2024 และตัวเลขล่าสุดในเดือนพฤษภาคม 2024 อยู่ที่ 14.2% คิดเป็นประมาณสามเท่าของอัตราการว่างงานในเมืองโดยภาพรวม
ขณะที่ในฮ่องกงซึ่งมีช่วงอายุที่ใช้ในการคำนวณต่างออกไป ตามประกาศของรัฐบาลเขตบริหารพิเศษฮ่องกง ตัวเลขอัตราว่างงานของคนหนุ่มสาวฮ่องกงอายุ 20-29 ปี ในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม 2024 อยู่ที่ประมาณ 6% และในกลุ่มอายุ 15-19 ปีอยู่ที่ 11.3%
อย่างไรก็ตาม ฮ่องกงก็ไม่อาจต้านทานผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้ และกำลังดิ้นรนในการค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง หลังจากที่ล้มเหลวในการประท้วงเรียกร้องการเลือกตั้งอย่างเป็นประชาธิปไตยหลายครั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เรื่องราวของ จิคาวะ แสดงถึงความเห็นอกเห็นใจในปัญหาของผู้อื่น เช่นการช่วยเหลือเพื่อนพ้องที่โดนทำร้าย หรือการไม่แสดงสีหน้าดีใจเกินไป เมื่อรู้ว่าเพื่อนไม่ได้สอบผ่านเหมือนตน
ความนิยมในตัวจิคาวะ
จิคาวะได้รับความนิยมอย่างสูง จนถูกผลิตเป็นสินค้าต่าง ๆ เช่น ของเล่น กระเป๋าหรือเสื้อผ้า นิเคอิอ้างอิงการรายงานของสื่อฮ่องกงว่า ในวันแรกที่มินิโซ (Miniso) เชนร้านสินค้าไลฟ์สไตล์ของจีน ทำการเปิดป๊อปอัพสโตร์อีเวนต์เป็นเวลา 3 วัน พบว่ามีผู้คนมายืนรอคิวก่อนที่งานจะเปิดถึง 500 คน โดยมีเวลารอคิวเฉลี่ย 1 ชั่วโมง
เช่นเดียวกับงานป๊อปอัพอีเวนต์ที่นครเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนมีนาคม 2024 มีการต่อคิวหลักหลายร้อยคน เพื่อซื้อพวงกุญแจ ของเล่น และกระเป๋า ซิกธ์โทน (Sixth Tone) ซึ่งเป็นสื่อท้องถื่นรายงานว่ามีการขายสินค้าเป็นมูลค่า 8 ล้านหยวน (ราว 38 ล้านบาท) ในช่วงอีเวนต์ 3 วันนั้น
รายงานของนิกเคอิบอกอีกว่า พีเพิลส์ เดลี่ (People’s Daily) สื่อซึ่งเป็นกระบอกเสียงของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ก็ไม่อาจมองข้ามความคลั่งใคล้ใน จิคาวะ โดยกล่าวไว้ในบทบรรณาธิการเมื่อเดือนพฤษภาคมว่า สัตว์ตัวเล็ก ๆ ที่ดูไร้เดียงสาเหล่านี้พบว่าไม่มีทางหนีจากความเป็นจริงได้
เช่นเดียวกับแฟน ๆ ตัวละครเหล่านี้ที่พบว่า พวกเขาต้องทำงานเพื่อหาเลี้ยงชีพ ต้องอาศัยอยู่ในบ้านเล็ก ๆ ที่แสนสมถะ และต้องรับมือกับการสอบตก แต่พวกเขาสามารถหาความสุขเล็ก ๆ น้อย ๆ ได้จากความคิดเชิงบวก ความกล้าหาญ และมิตรภาพ
บทบรรณาธิการของ พีเพิลส์ เดลี่ ได้สรุปว่า แม้เรื่องราวจะบอกเล่าถึงความเป็นจริงอันโหดร้ายของชีวิต แต่กลับสร้างความประทับใจให้กับคนหนุ่มสาวจำนวนมาก ตัวละครใน “จิคาวะ” เปรียบเสมือน “ยาแก้ปวด” สำหรับคนหนุ่มสาวที่ต้องเผชิญกับความเป็นจริงที่โหดร้ายอยู่ตลอดเวลา