จีนกระตุ้นการจับจ่ายรอบใหม่ เพียงพอไหมที่จะดึงเศรษฐกิจโตถึงเป้า

จีน การบริโภคในประเทศ
ย่านซานหลี่ถุน ในกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน บันทึกภาพเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2024 (ภาพโดย ADEK BERRY / AFP)

การบริโภคในประเทศจีน “ฝืด” มาเป็นเวลากว่า 1 ปี และยังคงมีแนวโน้มที่จะฝืดต่อไป ตัวเลขค้าปลีกล่าสุดในเดือนมิถุนายน 2024 เพิ่มขึ้นในอัตราต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2022 ซึ่งความอ่อนแอของดีมานด์ในประเทศที่มีประชากร 1,400 ล้านคนนี้ ส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 2 ของโลก

รัฐบาลจีนพยายาม “เข็น” มาแล้วหลายรอบก็ยังเข็นไม่ขึ้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีของจีนพยายามอีกรอบโดยออกมาตรการกระตุ้นการบริโภค ซึ่งประกอบด้วยแผนการดำเนินการ 20 ประการ หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีการให้คำมั่นที่จะส่งเสริมการบริโภค

ขั้นตอนการดำเนินการในแผนกระตุ้นดังกล่าวนั้น รวมถึงการสำรวจศักยภาพในการขยายการบริโภคโดยทั่วไปในด้านต่าง ๆ เน้นที่ภาคการบริการ อย่างการจัดเลี้ยง บริการงานต่าง ๆ ในบ้าน และการดูแลผู้สูงอายุ อีกทั้งยังพยายามมองหาวิธีการส่งเสริมการใช้จ่ายรูปแบบใหม่ อย่างเช่น พัฒนาร้านค้าปลีกไร้คนขาย สนับสนุนการพัฒนากีฬาอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนการขายของผ่านไลฟ์สตรีมมิ่งของอีคอมเมิร์ซ

ภายใต้กรอบมาตรการที่ประกาศใหม่นี้ รัฐบาลจีนจะเพิ่มการสนับสนุนทางการเงินแก่วิสาหกิจรายเล็กและรายย่อยในอุตสาหกรรมบริการ และเพิ่มการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพื่อชดเชยค่าใช้จ่ายในการดูแลทารกและเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี รวมถึงค่าใช้จ่ายในการศึกษาและการดูแลผู้สูงอายุ

นอกจากนั้น คณะรัฐมนตรีจีนให้คำมั่นว่าจะอนุญาตให้บริษัทต่าง ๆ เข้าสู่ภาคบริการได้มากขึ้น และเปิดกว้างภาคส่วนต่าง ๆ เช่น โทรคมนาคม การศึกษา และบริการทางการแพทย์ ให้กับผู้เล่นต่างชาติ

จนถึงตอนนี้ เศรษฐกิจจีนฟื้นตัวไม่ทั่วถึง การส่งออกและการผลิตมีความแข็งแกร่ง ส่วนการบริโภคยังคงน่าเป็นกังวล จีดีพีไตรมาส 2 ปี 2024 โตต่ำกว่าคาดการณ์ โดยโตได้ 4.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) จากตัวเลขนี้ นักเศรษฐศาสตร์-นักวิเคราะห์มองว่ายากที่จะบรรลุเป้าภาพรวมของปีที่ตั้งเป้าโต 5% และมองว่าจำเป็นต้องมีการกระตุ้นเพิ่มเติม

Advertisment

คำถามสำคัญยังคงเป็นคำถามเดิม คือ แผนกระตุ้นล่าสุดนี้จะเพียงพอหรือไม่ที่จะดึงการใช้จ่ายและช่วยดันเศรษฐกิจจีนให้โตถึงเป้า ?

ณ ตอนนี้ ยังไม่มีนักเศรษฐศาสตร์แสดงความเห็นออกมาเท่าไรนัก

Advertisment

ความเห็นหนึ่งที่เห็นมาจาก ลินน์ ซ่ง (Lynn Song) หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของภูมิภาคจีนแผ่นดินใหญ่ของกลุ่มธุรกิจธนาคารไอเอ็นจี (ING Group) มองว่า ความพยายามล่าสุดของทางการจีนเป็นพัฒนาการเชิงบวก เนื่องจากแสดงให้เห็นว่ารัฐบาลให้ความสนใจกับการสนับสนุนดีมานด์ในประเทศมากขึ้น แต่มาตรการเหล่านี้เป็นการ “ส่งเสริมในระยะกลางมากกว่า” เนื่องจากมุ่งเน้นไปที่การปรับปรุงการให้บริการ

ซ่งบอกอีกว่า การที่จีนขาดมาตรการกระตุ้นด้านอุปสงค์ อย่างเช่น สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบุคคล มีความหมายว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นในทันทีทันใดอาจมีน้อย

เดวิด คู (David Qu) นักเศรษฐศาสตร์ของบลูมเบิร์ก อีโคโนมิกส์ (Bloomberg Economics) ไม่ได้แสดงความเห็นต่อมาตรการกระตุ้นโดยตรง แต่วิเคราะห์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนหลังเห็นตัวเลขส่งออกของจีนในเดือนกรกฎาคมที่โตชะลอลงว่า หากต้องการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่รัฐบาลจีนตั้งไว้ 5% จำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการส่งออกของจีนที่ชะลอตัวบ่งชี้ว่าการค้าต่างประเทศซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนในไตรมาสที่ 2 อาจช่วยหนุนจีดีพีไตรมาสที่ 3 ได้น้อยลง 

“ตัวเลขที่ออกมานี้น่ากังวลเป็นพิเศษเมื่อพิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐที่อ่อนแอลง เน้นย้ำโดยอัตราการว่างงานของสหรัฐที่สูงขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ขณะที่ความอ่อนแอของยอดค้าปลีกของจีน และข้อมูลการค้าระหว่างประเทศยังตอกย้ำมุมมองของเราว่า การเติบโตของเศรษฐกิจจีนในปี 2024 น่าจะต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลจีนที่ตั้งไว้ 5% เว้นแต่จะมีการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นักเศรษฐศาสตร์บางคนมองว่า ภาคบริการเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างงานและแก้ไขปัญหาการว่างงานของเยาวชนในจีน ซึ่งอัตราการว่างานอยู่ในระดับสูง ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เรียกร้องให้จีนขยายสัดส่วนภาคบริการ ซึ่งมีสัดส่วนราว 50% ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศพัฒนาแล้ว ซึ่งมีสัดส่วนอยู่ที่ 75% ค่อนข้างมาก

ดังนั้น การที่รัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญกับภาคบริการน่าจะเป็นสัญญาณที่ดีที่ช่วยฝั่งรายได้ครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบก็เป็นอย่างที่ลินน์ ซ่ง จาก ING กล่าวว่า จะเป็นผลกระทบที่ไม่เกิดขึ้นในฉับพลันทันใด ต้องใช้เวลากว่าจะเห็นผล และยังไม่มีอะไรการันตีได้ว่าชาวจีนจะมีความมั่นใจในการใช้จ่าย เนื่องจากสินทรัพย์ของหลายครอบครัวตกต่ำลงไปตามราคาอสังหาริมทรัพย์ที่พวกเขาถือครอง

อ้างอิง :