โรงเรียนโตเกียว200แห่ง เลิกแล้วกฎบังคับ ทรงผมนักเรียน ถูกมองล้าหลัง

ทรงผมนักเรียน
(Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP)

กฎเหล็กบังคับ ทรงผมนักเรียน – ชุดเครื่องแบบของเด็กญี่ปุ่น ที่เป็นประเด็นถกเถียงทางสังคม เริ่มยกเลิกแล้วที่โตเกียว ส่วนคดีพ่อเด็กที่คิวชูฟ้องโรงเรียนละเมิดสิทธิมนุษยชน รอลุ้นคำตัดสิน

วันที่ 21 มีนาคม 2565 ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า โรงเรียนในโตเกียวเริ่มผ่อนคลายกฎการไว้ทรงผม ไปจนถึงเสื้อผ้าชั้นใน ตั้งแต่วันเปิดภาคเรียนใหม่ 1 เมษายนเป็นต้นไป

หลังจากนักเรียนญี่ปุ่นในกรุงโตเกียวต้องแต่งตัวและไว้ทรงผมตามกฎข้อบังคับของโรงเรียนรัฐบาลมานานหลายสิบปีแล้ว รวมทั้ง ห้ามไว้ทรงผมแบบอื่น แม้แต่สีชุดชั้นในและกางเกงในก็ต้องเป็นสีถูกต้องตามระเบียบโรงเรียน

ทรงผมนักเรียน
(FILES) (Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP)

เจ้าหน้าที่รัฐกล่าวว่ากฎเหล็กเหล่านี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าล้าหลังและกำลังจะยกเลิกกฎระเบียบ 5 ข้อในโรงเรียนรัฐบาลเกือบ 200 แห่งทั่วกรุงโตเกียว รวมทั้ง กฎการไว้ทรงผมและกำหนดสีเสื้อผ้าชั้นใน และยกเลิกข้อห้ามตัดทรง “two block” ซึ่งได้รับความนิยมในหลายๆ ประเทศ

ส่วนกฎข้ออื่นๆ ที่จะยกเลิกด้วย ได้แก่ การลงโทษนักเรียนด้วยการกักตัวในบ้าน และการใช้ภาษากำกวมคลุมเครือในกฎระเบียบสำหรับนักเรียนม.ปลาย

นโยบายเปลี่ยนแปลงกฎเก่าจะเริ่มใช้วันที่ 1 เม.ย. ตรงกับวันเปิดเทอมของปีการศึกษาใหม่ ซึ่งเป็นผลจากการที่คณะกรรมการการศึกษากรุงโตเกียวสำรวจความเห็นของโรงเรียน นักเรียนและผู้ปกครองเมื่อปีที่แล้วเกี่ยวกับกฎระเบียบโรงเรียน

ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ข้อบังคับการแต่งกายที่เข้มงวดยังบังคับใช้ทั้งในกรุงโตเกียวและทั่วประเทศ โรงเรียนหลายแห่งออกกฎให้นักเรียนสวมรองเท้าและถุงเท้าที่โรงเรียนกำหนด

ทรงผมนักเรียน
credit : JNTO

อาซาฮี ชิมบุน รายงานว่าโรงเรียนหลายแห่งในจังหวัดฟุกุโอกะ เกาะคิวชู มีกฎบังคับให้นักเรียนไว้ทรงผมและสวมกางเกงในตามสีและแบบที่โรงเรียนกำหนดเท่านั้น

ทางการท้องถิ่นจังหวัดฟุกุโอกะสำรวจความเห็นเช่นเดียวกับในกรุงโตเกียวพบว่านักเรียนบ่นเรื่องข้อบังคับการแต่งกายที่ทำให้เกิดความเครียดและจำกัดการแสดงออก

บังคับ ทรงผมนักเรียน ทำลายชีวิตเด็ก

กรณีกฎระเบียบที่เข้มงวดเกินไปเป็นข่าวใหญ่ในปี 2560 เมื่อนักเรียนหญิงคนหนึ่งในจังหวัดโอซากะฟ้องร้องโรงเรียนที่บังคับให้ย้อมผมสีดำ ทั้งที่เธอมีผมสีน้ำตาลตามธรรมชาติและต้องย้อมโคนผมทุกครั้งที่ผมสีน้ำตาลเริ่มยาว จนถูกโรงเรียนลงโทษทางวิชาการเนื่องจากไม่ย้อมผมบ่อยครั้ง

ด้านทนายความโต้แย้งว่าการย้อมผมบ่อยทำให้ผมและหนังศีรษะเสียหาย ส่งผลต่อสภาพจิตใจทำให้ซึมเศร้า

จนกระทั่ง เมื่อปีที่แล้ว นักเรียนหญิงชนะคดีได้เงินชดเชย 330,000 เยน หรือประมาณ 92,000 บาท ซึ่งกรณีนี้เป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศและเกิดกระแสวิจารณ์ข้อบังคับการแต่งกายของนักเรียนอย่างหนัก

ซายากะ อากิโมโตะ อดีตสมาชิก AKB48 เป็นคนหนึ่งที่เผยว่าถูกบังคับแบบเดียวกับนักเรียนหญิงในโอซากะ / Kyodo

ขณะที่นักเรียนและครอบครัวอื่นๆ เริ่มพูดถึงปัญหาคล้ายๆ กัน ส่วนโรงเรียนหลายแห่งเริ่มเปลี่ยนกฎระเบียบกันแล้ว

อาซาฮี ชิมบุน รายงานว่าฤดูใบไม้ผลินี้ โรงเรียนแห่งหนึ่งในเมืองอูเบะ จังหวัดยามางูจิ จะเป็นโรงเรียนแห่งแรกที่นำร่องเปิดโอกาสให้นักเรียนแต่งชุดเครื่องแบบ “ไม่เลือกเพศ” นักเรียนทุกเพศเลือกได้ว่าจะสวมกางเกงขายาวหรือกระโปรงซึ่งเป็นการฉีกกฎเดิมๆ ที่แบ่งเพศตามชุดเครื่องแบบตามกฎระเบียบที่เคร่งครัดและยังแพร่หลายในญี่ปุ่นอยู่ในปัจจุบัน

ด้านสำนักข่าว เอเอฟพี รายงานวันที่ 18 มี.ค. ถึงคดีที่นายโทชิยูกิ คุสุโมโตะ พ่อลูกสองในจังหวัดโออิตะ เกาะคิวชู ฟ้องศาลเพื่อให้มีคำสั่งคุ้มครองลูกชาย 2 คนจากกฎระเบียบที่ “ไม่สมเหตุสมผล” รวมทั้ง กำหนดความยาวของผม ห้ามทำผมทรงต่างๆ รวมทั้ง รวบหางม้าและถักเปีย ห้ามสวมถุงเท้าพับแค่ข้อเท้า และต้องผูกเชือกรองเท้าสีขาว

ฟ้องกฎโรงเรียน
(FILES) In this file photo taken on November 17, 2021 pupils wait for the bus after school in Tokyo’s Ginza area. (Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP)

คุสุโมโตะ กล่าวกับเอเอฟพีว่ากฎระเบียบโรงเรียนแบบนี้ไม่เคารพเสรีภาพส่วนบุคคลและสิทธิมนุษยชนซึ่งมีกฎหมายรัฐธรรมนูญรองรับ

ปลายเดือนนี้ คดีจะเข้าสู่คณะอนุญาโตตุลาการเพื่อประนอมข้อพิพาทโดยมีโรงเรียนและเมืองร่วมพิจารณาด้วย ซึ่งหวังว่าเจ้าหน้าที่จะแก้ไขกฎต่างๆ ของโรงเรียน

คุสุโมโตะเรียกร้องให้โรงเรียนมีคล้ายๆ กัน หวังว่าการดำเนินการทางกฎหมายจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในวงกว้างเพื่อเด็กๆ ทั่วประเทศที่ทุกข์ใจเพราะกฎระเบียบไร้เหตุผล

(FILES) A young schoolboy crosses the road in Tokyo’s Toyosu neighbourhood.  (Photo by Charly TRIBALLEAU / AFP)

ด้านทาคาชิ โอสึ อาจารย์ด้านศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสตรีมูโกกาวะ กล่าวว่ากฎระเบียบโรงเรียนบังคับใช้กับเด็กมัธยมต้น อายุประมาณ 12 ปี มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970

เมื่อประมาณ 50 ปีที่แล้ว ความรุนแรงต่อครูกลายเป็นปัญหาสังคม โรงเรียนจึงพยายามควบคุมสถานการณ์โดยใช้กฎเกณฑ์ กฎบางประเภทมีความจำเป็นสำหรับองค์กร รวมทั้ง โรงเรียน แต่การตัดสินใจออกกฎต่างๆ ควรทำอย่างโปรงใสและให้นักเรียนมีส่วนร่วมเพื่อให้เด็กเรียนรู้การตัดสินใจตามระบอบประชาธิปไตย

แม้ระเบียบข้อบังคับต่างๆ ทำให้เกิดความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความสามัคคีในห้องเรียน แต่ยังมีความท้าทายอื่นๆ

คดีนักเรียนหญิงที่โอซากะถูกบังคับให้ย้อมผมสีดำ กลายเป็นข่าวพาดหัวระดับประเทศและในที่สุด เมื่อปีที่แล้ว รัฐบาลจึงสั่งการให้คณะกรรมการการศึกษาตรวจสอบว่ากฎของโรงเรียนสะท้อนถึง “ความเป็นจริงของนักเรียน” หรือไม่

(FILES) Schoolgirls wearing protective masks travel on a train in Tokyo. (Photo by CHARLY TRIBALLEAU / AFP)

แต่เป็นเรื่องยากพอสมควรเพราะศาลแขวงและศาลอุทธรณ์โอซากะให้โรงเรียนใช้ดุลยพินิจเองว่าจะสั่งให้นักเรียนย้อมผมสีดำเพื่อจุดประสงค์ด้านการศึกษาหรือไม่

ด้านทนายความของเด็กสาวคนนี้กล่าวว่าลูกความถูกขู่เป็นประจำ แม้ย้อมผมเป็นสีดำตามที่โรงเรียนต้องการแล้วก็ตาม จึงถือได้ว่าเป็นการทำลายชีวิตนักเรียน

ปัจจุบัน นักเรียนคนนี้ อายุ 22 ปี และยังคงต่อสู้ต่อไปโดยจะยื่นฟ้องต่อศาลฎีกาในเดือน พ.ย. นี้

สูตรสำเร็จสำหรับนักเรียนที่ไม่ต้องคิด

การเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้เปลี่ยนแปลงกฎระเบียบโรงเรียนเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง สมาชิกกลุ่มสิทธิมนุษยชน Voice Up Japan ที่ส่งหนังสือถึงกระทรวงศึกษาธิการเมื่อเดือน ม.ค. เพื่อเรียกร้องให้กระทรวงเปิดไฟเขียวให้โรงเรียนร่วมกับนักเรียนหารือถึงการเปลี่ยนกฎโรงเรียน

Voice Up Japan เผยแพร่ภาพนักเรียนมัธยมปลาย แถลงส่งความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อกระทรวงศึกษาธิการ เกี่ยวกับกฎของโรงเรียน

ฮาสึเนะ ซาวาดะ สมาชิก Voice Up Japan ฝ่ายมัธยมกล่าวว่าเริ่มการรณรงค์เพราะสมาชิกหลายคนได้รับประสบการณ์ไม่ดีจากกฎข้อบังคับของโรงเรียน เช่น นักเรียนหญิงคนหนึ่งถูกครูดูถูกที่ไว้ผมหน้าม้ายาวปิดคิ้วซึ่งเป็นการละเมิดกฎโรงเรียน

ส่วนนักเรียนที่จังหวัดโออิตะ ต้องสวมเครื่องแบบตามเพศกำเนิด ผู้ชายใส่กางเกงขายาว ส่วนผู้หญิงสวมกระโปรงซึ่งคณะกรรมการการศึกษาท้องถิ่นกล่าวว่ากฎดังกล่าวไม่เพียงก่อให้เกิดความสามัคคีในหมู่เด็กๆ เท่านั้น แต่ยังช่วยแบ่งเบาภาระด้านการเงินของครอบครัวจากการซื้อเสื้อผ้าอีกด้วย

แต่คุสุโมโตะไม่เห็นด้วยเพราะเห็นว่าความสามัคคีไม่ใช่สิ่งที่กำหนดได้ แต่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ดังนั้น การวางกฎข้อบังคับประเภทนี้จึงเป็น “สูตรการผลิตเด็กที่ทำให้เด็กเลิกคิด”