“มาเลเซีย” ขึ้นค่าแรง 35% เสริมหรือถ่วงฟื้นเศรษฐกิจ ?

จากสถานการณ์โควิด-19 มาจนถึงการรุกรานยูเครนของรัสเซียได้ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ส่งผลหลายประเทศพิจารณาปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความกังวลให้กับภาคธุรกิจที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น และอาจกลายเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนี้

นิกเคอิ เอเชีย รายงานว่า “มาเลเซีย” เตรียมปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำเป็น 1,500 ริงกิต/เดือน ทั่วประเทศ ซึ่งเป็นการปรับขึ้นถึง 35% สำหรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำทั่วไป จากเดิม 1,100 
ริงกิต/เดือน และ 25% สำหรับอัตราค่าแรงขั้นต่ำในเมืองใหญ่ 57 เมือง จากเดิม 1,200 ริงกิต/เดือน โดยมีผลวันที่ 1 พ.ค. 2022 เป็นต้นไป

การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้จะมีผู้ได้รับประโยชน์ราว 1.2 ล้านคน ซึ่งเป็นไปตามแผนของรัฐบาลมาเลเซียในการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน โดยพิจารณาจากเส้นความยากจน การเพิ่มขึ้นของค่าครองชีพ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น

“สรวนันท์ มุรุกัน” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรมนุษย์ของมาเลเซีย ระบุว่า การปรับขึ้นอัตราค่าแรงขั้นต่ำมาอยู่ที่ 1,500 ริงกิต/เดือน มีความเหมาะสม และในความเป็นจริงภาคธุรกิจสามารถคาดการณ์รับมือได้
ล่วงหน้า เนื่องจากกฎหมายของมาเลเซียกำหนดให้มีการทบทวนค่าแรงขั้นต่ำอย่างน้อยทุก ๆ 2 ปี ซึ่งมาเลเซียมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งล่าสุดในปี 2019

อย่างไรก็ตาม “ไซอิด ฮุซเซน ไซอิด ฮัษมาน” ประธานสหพันธ์นายจ้างมาเลเซีย (MEF) ระบุว่า สมาคมมีความเห็นว่านโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำครั้งนี้สูงเกินไป และจะเพิ่มความท้าทายให้กับนายจ้าง ทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากนี้

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 แล้ว ผู้ประกอบการมาเลเซียบางส่วนยังเพิ่งฟื้นตัวจากผลกระทบอื่น ๆ เช่น ซูเปอร์ไต้ฝุ่นราอี (Rai) ที่พัดถล่มพื้นที่ 8 รัฐของมาเลเซีย ช่วงเดือน ธ.ค. 2021 ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับภาคธุรกิจไม่น้อย 
การเพิ่มต้นทุนค่าแรงครั้งนี้จึงอาจซ้ำเติมความยากลำบากของภาคธุรกิจ

“เย่ห์ คิม เล้ง” ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยซันเวย์ ในมาเลเซีย ระบุว่า ขณะนี้ยังไม่ใช่เวลาที่เหมาะสมในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างก้าวกระโดด เนื่องจากยังมีปัจจัยเสี่ยงภายนอกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบในยูเครนที่ยังไม่สิ้นสุด การแซงก์ชั่นรัสเซีย การล็อกดาวน์ในจีน รวมถึงสัญญาณการใช้มาตรการลดขนาดงบดุล (QT) ของสหรัฐอเมริกา

ขณะที่การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของมาเลเซียครั้งนี้ถูกมองว่ามีแรงจูงใจจากทางการเมือง เนื่องจากมีผลต่อคะแนนนิยมของรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีอิซมาอิล ซับรี ยักกบ ในการเลือกตั้งทั่วไปของมาเลเซีย ที่คาดว่าจะมีขึ้นก่อนกำหนดภายในสิ้นปีนี้

และนอกจากมาเลเซียแล้ว ยังมีอีกหลายประเทศในอาเซียนก็มีแผนขึ้นปรับค่าแรงขั้นต่ำเช่นกัน อย่าง “เวียดนาม” จะปรับขึ้นค่าแรงอีก 6% ในเดือน ก.ค.นี้ ขณะที่ “สิงคโปร์” เตรียมใช้กฎระเบียบใหม่ในเดือน ก.ย.นี้ กำหนดให้บริษัทที่จ้างแรงงานต่างชาติจะต้องจ่ายค่าแรงขั้นพื้นฐานให้พนักงานชาวสิงคโปร์ ไม่ต่ำกว่า 1,400 ดอลลาร์สิงคโปร์ รวมถึงการปรับค่าแรงพื้นฐานเฉพาะอาชีพอีกด้วย


อาเซียนถือเป็นภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจค่อนข้างรุนแรงจากสถานการณ์โลก จึงไม่เพียงแต่มาเลเซียเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับแรงกดดันระหว่างแรงงานที่ต้องการค่าแรงสูงขึ้น ขณะที่นายจ้างต้องการรักษาต้นทุนธุรกิจ ซึ่งเป็นปัญหาที่รัฐบาลทุกประเทศต้องเผชิญและเร่งหาทางออกที่เป็นที่พึงพอใจของทุกฝ่าย