มองประวัติศาสตร์-อ่านอนาคต “เงินเฟ้อมะกัน” ลากยาวแค่ไหน

คอลัมน์ : ชีพจรเศรษฐกิจโลก
ผู้เขียน : นงนุช สิงหเดชะ

หลัง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.5% ไปเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2022 ที่ผ่านมา เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงรอบ 40 ปี และประธานเฟดยืนยันว่าในการประชุมครั้งต่อไปทางคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินยังไม่มีแผนจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเกิน 0.5% ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐในวันเดียวกันตอบสนองทางบวกอย่างคึกคัก

แต่หลังจากนั้นเพียงวันเดียว ความกังวลเรื่องเงินเฟ้อก็ทำให้ตลาดหุ้นกลับมาตกอยู่ในสภาพรถไฟเหาะตีลังกา ผันผวนรุนแรง ร่วงลงอย่างหนักต่อเนื่องหลายวันติดต่อกัน เพราะตลาดคาดการณ์ว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยถึง 0.75% ในครั้งต่อไปจนอาจทำให้เศรษฐกิจถดถอย

“เงินเฟ้อสหรัฐ” เร่งตัวขึ้นอย่างมากนับจากเดือนสิงหาคม 2021 สูงกว่าระดับปกติที่จะอยู่ในช่วง 2-4% และพอถึงเดือนมีนาคมปีนี้ทะยานขึ้นแตะ 8.5% สูงสุดนับจากเดือนธันวาคม 1981 ซึ่งมุมมองเรื่องเงินเฟ้อนั้นนักวิเคราะห์มีความเห็นต่างกัน บางคนเชื่อว่าเงินเฟ้อใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว และน่าจะค่อย ๆ ลดลง แต่บางคนเชื่อว่าจะยังทรงตัวในระดับสูง

ส่วนเฟดเองก็ไม่สามารถให้แนวทางชัดเจนว่าจะต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกนานแค่ไหนจึงจะดึงเงินเฟ้อให้ต่ำลงได้ตามเป้าหมาย เพราะเป็นอย่างที่ “เจอโรม พาวเวลล์” ประธานเฟดยอมรับว่ายากมากจริง ๆ ที่จะบอกแนวโน้มเงินเฟ้อล่วงหน้า 60 วัน หรือ 90 วัน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจทั่วโลกตลอดเวลา

บทวิเคราะห์ของซีเอ็นเอ็นชี้ว่า หากมองดูประวัติศาสตร์ก็อาจจะช่วยให้เห็นคำตอบบางอย่าง โดยหากดูข้อมูลของเฟดในอดีตจะพบว่าตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อมีความสำคัญในการทำนายว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลงเมื่อไหร่ ซึ่งจะเห็นว่าช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อันเป็นผลจากสงครามโดยตรงนั่นเอง กล่าวอีกนัยหนึ่งตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อก็คือ สงคราม แต่เมื่อโลกเข้าสู่ห้วงเวลาแห่งสันติเงินเฟ้อก็ลดลง

ช่วงทศวรรษ 1970 สหรัฐประสบปัญหาเงินเฟ้อสูงยาวนานที่สุด ตัวขับเคลื่อนเงินเฟ้อในครั้งนั้นก็คือ การที่อดีตประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน “ยกเลิกการผูกค่าเงินดอลลาร์ไว้กับทองคำ” รวมทั้งราคาน้ำมันที่สูงมาก 2 ครั้ง ทำให้เงินเฟ้อพุ่งแตะ 12.3% ในปี 1974 เฟดจึงต้องขึ้นดอกเบี้ยสูงถึง 16% จากนั้นก็ลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว นำไปสู่วัฏจักรที่เรียกว่า “ขึ้นดอกเบี้ยสูงไม่ยาวนานพอที่จะกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง หรือช่วยให้เศรษฐกิจเติบโต”

พอถึงปลายทศวรรษ 1970 “พอล โวลเกอร์” ประธานเฟดคนใหม่เข้ารับหน้าที่ ได้ยุตินโยบายเดิมลง เขาขึ้นดอกเบี้ยสูงไว้อย่างนั้น จนกระทั่งเงินเฟ้อลดลง แต่ก็ทำให้เศรษฐกิจถดถอย เป็นการถดถอยรอบที่สองในทศวรรษนั้น อย่างไรก็ตาม การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนั้นส่งผลดีตรงที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อต่ำลงอย่างถาวร และต่ำอยู่อย่างนั้นในอีก 40 ปีต่อมา

พาวเวลล์ประธานเฟดคนปัจจุบัน กล่าวชื่นชม พอล โวลเกอร์ เมื่อถูกนักข่าวถามถึงนโยบายของโวลเกอร์ โดยระบุว่าโวลเกอร์มีความกล้าหาญที่จะทำในสิ่งที่คิดว่าถูกต้อง

และเมื่อนักข่าวถามพาวเวลล์ว่า ในครั้งนี้จะต้องใช้เวลาเกือบ 20 ปี และเศรษฐกิจถดถอยถึง 2 ครั้งเหมือนในอดีตเพื่อดึงเงินเฟ้อให้ต่ำลงหรือไม่ พาวเวลล์บอกว่าไม่คิดว่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะขณะนี้เศรษฐกิจแข็งแกร่ง ส่วนอัตราการว่างงานก็ไม่เหมือนทศวรรษ 1970

นักวิเคราะห์หลายคนมักพูดถึงความกลัวว่าเงินเฟ้อสูงในปัจจุบันจะมีลักษณะคล้ายกับทศวรรษ 1970 อย่างไรก็ตาม ในรายงานเศรษฐกิจของที่ปรึกษาสภาเศรษฐกิจประจำทำเนียบขาวชี้ว่า เงินเฟ้อในปัจจุบันเกิดขึ้นจากวิกฤตระดับโลกหลายอย่างผสมกัน ทั้งปัญหาห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก ความต้องการของผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นหลังจากผ่านพ้นช่วงล็อกดาวน์ แต่หากจะเปรียบเทียบให้ใกล้เคียงห้วงเวลาของเงินเฟ้อสูงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 น่าจะใกล้เคียงกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันมากกว่าปลายทศวรรษ 1970 และเชื่อว่าเมื่อปัญหาห่วงโซ่อุปทานกลับมาเป็นปกติและความต้องการที่อั้นอยู่ของผู้บริโภคลดลง เงินเฟ้อจะปรับลงอย่างรวดเร็ว

ด้านทีมนักวิเคราะห์ของแบงก์ออฟอเมริกา เห็นว่าปีหน้าเงินเฟ้อน่าจะผ่อนคลายลงเพราะเริ่มมีสัญญาณบางอย่างให้เห็นว่าปัญหาห่วงโซ่อุปทานเริ่มดีขึ้น ดังนั้น ปัญหาเงินเฟ้อคงไม่ลากยาวเป็นสิบปี

สำหรับเงินเฟ้อเดือนเมษายน ซึ่งกลายเป็นศูนย์กลางการจับตามองของนักลงทุนนั้น ปรากฏว่ายังอยู่ในระดับสูงที่ 8.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะอยู่ที่ 8.1%