เว็บไซต์นี้ใช้คุ้กกี้เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีมีประสิทธิภาพยิ่งขี้น อ่านเพิ่มเติมคลิก (Privacy Policy) และ (Cookies Policy)
หน้าแรก ต่างประเทศ ศรีลังกา: ต้น...

ศรีลังกา: ต้นตอวิกฤตคืออะไร สถานการณ์รุนแรงแค่ไหน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

ศรีลังกา: ต้นตอวิกฤตคืออะไร สถานการณ์รุนแรงแค่ไหน จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป
REUTERS/Dinuka Liyanawatte

รวมเรื่องควรรู้เกี่ยวกับวิกฤตศรีลังกา หลังประธานาธิบดีหลบหนีออกนอกประเทศ ความวุ่นวายทางการเมืองยังไม่สิ้นสุด 

วันที่ 13 กรกฎาคม 2565 อัลจาซีราห์รายงานว่า วิกฤตเศรษฐกิจครั้งรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดูเหมือนจะโค่นล้ม “โกตาบายา ราชปักษา” ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้สำเร็จ ทำให้เขาต้องลี้ภัยไปยังมัลดีฟส์ในที่สุด

ต่อไปนี้คือสิ่งที่ควรรู้เกี่ยวกับความวุ่นวายทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่ในศรีลังกา

เกิดอะไรขึ้นกับศรีลังกา ?

ราชปักษาหนีไปยังมัลดีฟส์ในช่วงเช้าตรู่วันพุธ หลังจากความวุ่นวายที่ดำเนินมานานหลายเดือนสิ้นสุดลง เมื่อกลุ่มผู้ประท้วงบุกยึดทำเนียบและที่พักประธานาธิบดี

“รานิล วิกรมสิงเห” นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ประกาศภาวะฉุกเฉินและเคอร์ฟิว ส่งผลให้ประชาชนหลายพันคนออกมาเรียกร้องให้เขาลาออก พร้อมกับล้อมรอบทำเนียบของเขาในกรุงโคลัมโบ

ตำรวจยิงแก๊สน้ำตาหลายนัด และเฮลิคอปเตอร์ทหารขึ้นบินตรวจสอบสถานการณ์เพียงชั่วครู่ แต่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรขัดขวางผู้ประท้วงได้ เมื่อความรุนแรงและความวุ่นวายทางการเมืองเข้าครอบงำประเทศเกาะขนาดเล็กที่มีประชากร 22 ล้านคน

ประธานรัฐสภาเผยว่า ราชปักษาได้อนุมัติให้วิกรมสิงเหทำหน้าที่รักษาการประธานาธิบดี โดยอ้างมาตรหนึ่งของรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาที่ประธานาธิบดีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้

วิกฤตนี้จะรุนแรงแค่ไหน ?

ภาระหนี้ได้ทำให้เศรษฐกิจของศรีลังกา “พังทลาย” รัฐบาลไม่มีเงินจ่ายค่าอาหาร เชื้อเพลิง และยารักษาโรค

ศรีลังกาได้รับความช่วยเหลือจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ อินเดีย จีน และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ)

วิกรมสิงเห ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม ระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังมุ่งสู่จุดต่ำสุด

ชาวศรีลังกากำลังอดอาหาร พวกเขาต้องต่อคิวยาวเป็นเวลาหลายชั่วโมงเพื่อซื้อน้ำมันและก๊าซหุงต้มที่กำลังขาดแคลน

รัฐบาลศรีลังกาเป็นหนี้สูงถึง 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้

การท่องเที่ยว ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจ อยู่ภาวะซบเซา เนื่องจากโรคระบาด

ค่าเงินของศรีลังกาดิ่งลง 80% ทำให้การนำเข้ามีราคาแพงขึ้น และภาวะเงินเฟ้อกำลังเลวร้ายลง

กระทรวงการคลังระบุว่า ศรีลังกามีทุนสำรองต่างประเทศเพียง 25 ล้านดอลลาร์ และกำลังต้องการเงิน 6,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อให้คงอยู่ได้อีก 6 เดือน

ผลที่เกิดขึ้นคือประเทศที่กำลังจะล้มละลาย แทบไม่มีเงินนำเข้าเชื้อเพลิง นม ยารักษาโรค หรือแม้แต่กระดาษชำระ

ศรีลังกามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?

นักวิเคราะห์มองว่า การจัดการที่ผิดพลาดทางเศรษฐกิจ โดยหลายรัฐบาลที่ปกครองประเทศต่อเนื่องกัน ส่งผลให้การเงินสาธารณะของศรีลังกาอ่อนแอลง

สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายลงจากการปรับลดหย่อนภาษีของรัฐบาลราชปักษา ไม่นานหลังจากเขาเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562

หลายเดือนต่อมา การระบาดใหญ่ของโควิด-19 ยังทำลายฐานรายได้ของศรีลังกา ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการท่องเที่ยว

นอกจากนี้ การส่งเงินจากผู้ที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศก็ลดลง ทำให้รัฐบาลต้องดึงเงินสำรองเงินตราต่างประเทศมาใช้จ่าย

การขาดแคลนเชื้อเพลิงทำให้ประชาชนต้องต่อคิวยาวตามปั๊มน้ำมัน อีกทั้งยังเจอกับเหตุการณ์ไฟดับอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่โรงพยาบาลจำนวนมากขาดแคลนยา

ธนาคารกลางศรีลังกาเผยว่า อัตราเงินเฟ้อแตะ 64.6% เมื่อเดือนที่แล้ว และอาจเพิ่มขึ้นเป็น 70%

จะเกิดอะไรขึ้นต่อไป ?

ประธานาธิบดีที่กำลังดำรงตำแหน่งอยู่ถูกปลดออกโดยการประท้วงตามท้องถนน เป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์ หลังการประกาศอิสรภาพของศรีลังกา

นายกรัฐมนตรีวิกรมสิงเหเข้ารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดี ซึ่งเป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดการตั้งคำถามจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย

การเจรจาขอความช่วยเหลือจากไอเอ็มเอฟยังดำเนินต่อไป โดยวิกรมสิงเหกล่าวว่า เขาคาดว่าจะมีข้อตกลงเบื้องต้นภายในปลายเดือนกรกฎาคมนี้

“ศรีลังกาฝากความหวังสุดท้ายไว้ที่ไอเอ็มเอฟ” นี่เป็นพาดหัวข้อล่าสุดในหนังสือพิมพ์โคลัมโบไทม์ส


พรรคการเมืองเห็นพ้องกันว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติจะเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ในวันที่ 20 กรกฎาคมนี้ แต่จะต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อจัดตั้งรัฐบาลใหม่