อียู ปลุกชาติสมาชิก ลดใช้ก๊าซ 15% รับมือรัสเซียปิดท่อฤดูหนาว

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป , ฟรานซ์ ทิมเมอร์มานส์ รองประธานกรรมาธิการยุโรป และคาดรี ซิมสัน กรรมาธิการยุโรป แถลงข่าวในกรุงบรัสเซลส์ประเทศเบลเยียม 20 กรกฎาคม 2565 (ภาพจาก REUTERS / Yves Herman)

สหภาพยุโรปออกแผนรับมือวิกฤตพลังงาน เตรียมพร้อมหากรัสเซียตัดท่อส่งก๊าซ เร่งตุนพลังงานสำรองฤดูหนาว ชาติยุโรปเตรียมแผนเลิกพึ่งพารัสเซีย เยอรมนีตั้งเป้าเข้าสู่พลังงานทดเเทน

วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 สื่อตะวันตกรายงานสถานการณ์วิกฤตพลังงานในอียูหลังรัสเซียขู่จะตัดการส่งก๊าซในช่วงฤดูหนาว เพื่อตอบโต้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัสเซีย

บีบีซี เผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้กระตุ้นให้ประเทศในกลุ่มสมาชิกอียูเตรียมลดปริมาณการใช้ก๊าซกว่า 15% ตั้งเเต่ช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนมีนาคม ท่ามกลางความหวาดวิตกว่ารัสเซียจะหยุกชะงักการส่งพลังงาน

ทางการอียูยังระบุด้วยว่าเป้าหมายกว่า 15% นี้ขึ้นอยู่กับความสมัครใจของรัฐบาลแต่ละประเทศ แต่มันจะกลายเป็นข้อปฏิบัติทางกฎหมายหากรัสเซียปิดท่อส่งในเร็ววันนี้

หลังจาก 10 วันที่ผ่านมา (11-21 ก.ค.) ท่อส่งก๊าซหลัก นอร์ด สตรีม 1 จากรัสเซียที่ส่งก๊าซมายังเยอรมนีได้ถูกปิดลง เพื่อทำการซ่อมบำรุง และมีกำหนดการที่จะถูกเปิดใช้งานอีกในวันจันทร์นี้ (25 ก.ค.)

ทว่า มันกลับมีข้อกังวลว่าทางการรัสเซียจะไม่ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้

นอกเหนือจากความไม่เเน่นอนนี้ นายวลาดิมีร์ ปูติน ประธานาธิบดีรัสเซีย ยังได้กล่าวไว้เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (19 ก.ค.) ว่ายังไม่มีความชัดเจนว่าระบบใบพัดของท่อขนส่งก๊าซ (Gas Turbine) จะถูกนำกลับมาหลังจากการซ่อมบำรุงที่เเคนาดาด้วยเงื่อนไขใด หรือจะเป็นไปอย่างไร

ปูตินยังกล่าวด้วยว่ามันมีความเสี่ยงที่อุปกรณ์จะต้องถูกปิด ณ “เวลาใดเวลาหนึ่ง” และท่อส่งก๊าซนอร์ด สตรีม 1 จะต้องหยุดทำงาน

เมื่อปีที่เเล้ว รัสเซียได้มีการขนส่งก๊าซธรรมชาติให้แก่ยุโรปไปกว่า 40% โดยมีเยอรมนีเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ที่สุดในทวีปเมื่อปี 2563 ตามมาด้วยอิตาลี

นางเออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่า ณ ขณะนี้ การถูกตัดพลังงานเชื้อเพลิงในยุโรปเป็นวงกว้างนั้น “เป็นสถานการณ์ที่มีความเป็นไปได้สูง”

“รัสเซียกำลังขู่เเบล็คเมลพวกเราและรัสเซียกำลังใช้พลังงานเป็นเครื่องมือต่อสู้” เธอกล่าว

ด้วยเหตุนี้ ในทุก ๆ สถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดก๊าซจากรัสเซียเพียงบางส่วน หรือว่าการตัดก๊าซทั้งหมด ยุโรปนั้นจำเป็นต้องมีความพร้อม

นับตั้งเเต่รัสเซียได้รุกรานยูเครน พวกเขาได้ตัดพลังงานที่ถูกส่งเข้าไปในหลายประเทศ ทั้งโปแลนด์ บัลเเกเรีย เนเธอร์เเลนด์ เดนมาร์ก เเละฟินเเลนด์ เนื่องจากประเทศเหล่านี้ปฏิเสธความต้องการของรัสเซียที่จะรับชำระก๊าซในสกุลเงินรูเบิลรัสเซียเท่านั้น

นอกจากนี้รัสเซียยังถูกกล่าวหาว่าได้ลดปริมาณพลังงานเพื่อให้การสำรองพลังงานไว้ใช้ในช่วงฤดูหนาวของประเทศสมาชิกอียูนั้นยากยิ่งขึ้น

ทางสหราชอาณาจักรเองนั้นได้รับก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียเพียงไม่ถึง 5% เเต่ราคาก๊าซภายในประเทศก็ได้รับผลกระทบจากความผันผวนในตลาดโลก

Gazprom ก๊าซพรอม รัสเซีย โปแลนด์ รัสเซีย
สถานีส่งก๊าซของบริษัทร่วมทุน ก๊าซพรอม ในโปแลนด์ (ภาพจาก REUTERS/Kacper Pempel/File Photo)

พลังงาน คือ  ‘อาวุธ’

คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป กล่าวว่า การตัดก๊าซอย่างเต็มรูปแบบในช่วงฤดูหนาวอาจส่งผลกระทบครั้งใหญ่ต่อระบบเศรษฐกิจของอียู ซึ่งจะลดอัตราการเติบโตสูงถึง 1.5%

สัปดาห์ที่เเล้ว กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) เตือนว่า มันอาจฉุดประเทศต่าง ๆ เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงทวีความรุนเเรงของวิกฤตการณ์พลังงานที่ทำให้ค่าใช้จ่ายของผู้บริโภคสูงขึ้น

หลายชาติในยุโรปเองก็ได้พยายามกักตุนพลังงานก่อนเข้าสู่ช่วงฤดูหนาว เผื่อไว้ในกรณีที่ทางการรัสเซียสั่งหยุดการขนส่งพลังงานเพิ่มเติม

ข้อเสนอให้ลดการใช้พลังงานกว่า 15% ได้ถูกเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยของการบริโภคในช่วงเวลาเดียวกัน ตั้งเเต่ปี 2559-2564

ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เขียนข้อความไว้ในทวิตเตอร์ส่วนตัวระบุว่า ก๊าซที่ประหยัดได้นั้นจะได้รับการจัดเก็บเข้าสู่คลังสำรอง

เธอกล่าวด้วยว่า “นี่คือข้อเรียกร้องครั้งใหญ่สำหรับสมาชิกอียูทั้งหมด มันเป็นเรื่องจำเป็นที่จะปกป้องพวกเรา”

เธอยังกล่าวเสริมว่าประเทศสมาชิกบางเเห่งนั้นมีความเปราะบางต่อการขาดก๊าซธรรมชาติ “สูงกว่า” ประเทศสมาชิกอื่น ๆ และประเทศสมาชิกอียู “ล้วนต่างต้องมีความพร้อมที่จะเเบ่งปันก๊าซ”

แผนการนี้ได้ถูกต่อต้านจากโปแลนด์ ซึ่งได้เติมก๊าซสำรองของตนไปแล้วกว่า 98% และไม่ได้รู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องลดปริมาณการใช้ก๊าซ

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ นั้นมีการสำรองที่น้อยกว่า เช่น ฮังการี ซึ่งกำลังมีปริมาณการจัดเก็บอยู่ที่ 47%

ทั้งนี้ ทางคณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอมาตรการที่รัฐบาลสามารถใช้เพื่อลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ ประกอบไปด้วยการออกเงินชดเชยให้เเก่อุตสาหกรรมที่ใช้ก๊าซน้อย และจำกัดอุณหภูมิการปรับความร้อนและความเย็นในอาคารสาธารณะ

รวมถึงคำแนะนำให้รัฐบาลต่าง ๆ เตรียมออกคำสั่งมาตรการบังคับปิดโรงงาน กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉินทางด้านต้นทุนพลังงาน

ในส่วนของภาคครัวเรือนจะถูกจัดไว้ในฐานะ ‘ผู้บริโภคที่ต้องได้รับคุ้มตรอง’ ภายใต้กฏของสหภาพยุโรป และจะถูกปกป้องจากมาตรการดังกล่าว

ประเทศสมาชิกของสหภาพยุโรปจะลงมติในแผนการแบ่งสันปันส่วนของสภาในการจัดประชุมระหว่างรัฐมนตรีพลังงานในวันที่ 26 กรกฎาคมนี้

ขณะเดียวกันเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา เยอรมนีได้มีการดำเนินการในเเผนจัดการก๊าซนี้ไปเเล้ว ผ่านการส่งสัญญาณเริ่มต้นการเข้าสู่ระดับอันตรายในแผนการจัดการการขาดพลังงานฉุกเฉิน

ฟาตีห์ บิรอล ผู้อำนวยการบริหารขององค์กรพลังงานระหว่างประเทศ หรือ ไออีเอ กล่าวว่า แม้จะมีความพยายามลดการพึ่งพาก๊าซนำเข้าจากรัสเซีย แต่มันก็ยังไม่เพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ยุโรป “ต้องตกอยู่ในสถานะที่เปราะบางอย่างยิ่งในปัจจุบัน” โดยอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านั้นจะเป็นช่วงเวลาที่วิกฤต

ทั้งนี้ อ้างอิงจากข้อมูลขององค์กรพลังงานฯ ประเทศที่รัสเซียมีการส่งออกก๊าซไปมากที่สุด 10 อันดับ ได้เเก่ เยอรมนี อิตาลี เบลารุส ตุรเคีย เนเธอร์เเลนด์ ฮังการี คาซัคสถาน โปแลนด์ จีน และ ญี่ปุ่น โดยมีประเทศในสหภาพยุโรปเป็น 3 อันดับเเรก และมีตัวเลขการส่งออกก๊าซให้กับเยอรมนีอยู่ที่ 42.6 พันล้านลูกบาศก์เมตร สูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง

ข้อมูลอ้างอิงจาก วอกซ์ ระบุว่า ท่อส่งก๊าซของรัสเซียสู่เยอรมนีนั้นมีที่มาจากข้อตกลงของ วิลลี่ บรันดท์ นายกรัฐมนตรีของเยอรมนีตะวันตกในช่วงสงครามเย็น ที่ได้มีการบรรลุข้อตกลงท่อส่งพลังงานเพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหภาพโซเวียต

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน
เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ ลาเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป (ภาพจาก REUTERS/Yves Herman)

เเล้วเยอรมนีเเละยุโรปจะทำอย่างไร

ดอยช์ เวเลย์ หรือ DW รายงานเพิ่มเติมว่า ถ้าหากรัสเซียตัดขาดการขนส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 1 สหภาพยุโรปจะนำข้อบังคับด้านความมั่นคงทางพลังงานของปี 2017 (SOS) มาบังคับใช้ในทันที

โดยภายใต้กฏนี้ ประเทศสมาชิกทุกเเห่งจะต้องมีแผนฉุกเฉินและระดับการเตือนภัย 3 ขั้นตอน แต่ยังไม่มีประเทศใดปฏิบัติตาม

อีกทั้ง ระหว่างสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศสมาชิกจะต้องรวมเป็นหนึ่งเดียวกันในการให้ความช่วยเหลือประเทศอื่น ซึ่งหมายรวมถึงการเเลกเปลี่ยนข้อมูลเเละการเเลกเปลี่ยนก๊าซ

นอกจากนี้ กลุ่มประเทศสมาชิกยังจำเป็นต้องกักเก็บก๊าซธรรมชาติไว้ในคลังเป็นอย่างน้อยกว่า 80% จนกว่าจะถึงฤดูใบไม้ร่วง หรือระหว่างเดือนกันยายน-ธันวาคม

รัสเซีย นอร์ด สตรีม
ท่อส่งก๊าซ นอร์ด สตรีม 1 ในเมืองลูบลิน เยอรมนี (ภาพจาก FILE PHOTO: Pipes at the landfall facilities of the ‘Nord Stream 1’ gas pipeline are pictured in Lubmin, Germany, March 8, 2022. REUTERS/Hannibal Hanschke/File Photo)

เยอรมนีรับมือวิกฤตพลังงาน

ขณะที่รายงานจาก เอเนอร์ยี่ อินเทลลิเจนซ์ ระบุว่า เยอรมนีกำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์พลังงานที่จะย่ำเเย่ลงอีกในช่วงฤดูหนาวนี้ จากสาเหตุการดำเนิน ‘ยุทธศาสตร์ทางนโยบายที่ผิดพลาด’ จากการที่เยอรมนีพึ่งพาพลังงานจากภายนอกถึง 70% และความสามารถทางเศรษฐกิจนั้นขึ้นอยู่กับการไหลเวียนอย่างต่อเนื่องของพลังงานเหล่านี้

หากเเต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เยอรมนีมีนโยบายด้านการเปลี่ยนเเปลงพลังงาน (Energiewende) และการขยายตัวต่อเนื่องของการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งเเม้จะส่งผลให้เยอรมนีเป็นผู้นำด้านพลังงานสีเขียว แต่ก็ได้มาด้วยการเเลกกับยุทธศาสตร์ทางพลังงานที่กระจายเเละครอบคลุม และถึงจะทำให้เกิดพลังงานหมุนเวียน เยอรมนีเองยังคงต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซีย

การพึ่งพานี้ยังทวีคูณในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมาหลังจากความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของรัฐบาลเยอรมนีที่จะเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นคำประกาศที่มีการวางแผนมาตั้งแต่หลังจากเหตุการณ์นิวเคลียร์ฟูกูชิมะ ที่ญี่ปุ่น ระเบิดเมื่อปี 2554

ความเร่งรีบในการเลิกใช้พลังงานนิวเคลียร์นี้เองเป็นต้นเหตุให้เกิดความเปราะบางในความมั่นคงด้านพลังงาน เนื่องจากเยอรมนีจำเป็นต้องพึ่งพาพลังงานก๊าซธรรมชาติอย่างหนัก เพื่อเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดเเทน เเละเเทนที่จะระมัดระวัง เยอรมนีกลับคำนวณผิดพลาดว่าข้อผูกพันทางการค้ากับรัสเซียนั้นจะเป็นผลดีต่อทั้งคู่เเละเลือกที่จะพึ่งพาพลังงานไฮโดรคาร์บอนจากรัสเซียต่อไป ซึ่งได้นำมาสู่การขาดเเคลนพลังงานเเละต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้น และตัวเลือกอื่น ๆ ทั้งเเก๊สแอลเอ็นจี ถ่านหิน พลังงานนิวเคลียร์และพลังงานหมุนเวียนต่างก็ไม่สามารถทดเเทนช่องว่างนี้ได้

สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของแนวร่วมรัฐบาลผสมใหม่ฝั่งซ้ายของเยอรมนีที่ประกอบไปด้วยพรรคสังคมนิยมประชาธิปไตย พรรคกรีน เเละพรรคเสรีนิยมประชาธิปไตย ที่จะต้องตัดสินใจนโยบายพลังงานให้เด็ดขาดเเละรวดเร็วยิ่งกว่าในยุดสมัยของรัฐบาลก่อน

โดยทางการเยอรมนีมีเเผนที่จะยกเลิกการพึ่งพาก๊าซของรัสเซียให้ได้กว่า 30% ภายในปลายปีนี้ และยกเลิกอย่างเต็มรูปแบบภายในปี 2570 เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายของสหภาพยุโรป รวมถึงปรับเเผนที่จะใช้พลังงานทดเเทน 100% ให้ได้ภายในปี 2578 เร็วกว่าเป้าหมายเดิมที่ปี 2583